- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.
เปิดรายงานลับ ‘ข้อสังเกต’ ธปท. กรณี NPL 359 ล. เอสเอ็มอีแบงก์-บ.รวมสินทรัพย์ไทย เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ ระบุชัดธนาคารฯมีปัญหาการวิเคราะห์ความสามารถชำระหนี้ นักธุรกิจ ลูกชาย อดีต รมต.ร่วมถือหุ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานก่อนหน้านี้ว่าลูกหนี้ NPL รายใหญ่ 20 อันดับแรก ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นลูกหนี้ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงปี 2552-2555 จำนวน 17 ราย เป็นการปล่อยสินเชื่อปี 2546 ปี 2548 และปี 2557 ปีละ 1 ราย
ในจำนวนนี้มีกรณี บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) และ หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ จ.ศรีสะเกษ รวมอยู่ด้วย
กรณีของ บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย จำกัด ยอดหนี้รวม 359 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลมาเสนอดังนี้
ธพว.อนุมัติสินเชื่อให้แก่ บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย จำกัด เมื่อ 16 ก.พ.55 เพื่อซื้อกิจการโรงเรียนนานาชาติจาก บริษัท อัครพงษ์ชัย เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล (NPL) ที่ธนาคารพาณิชย์อื่น สัญญาซื้อขายมูลค่า 600 ล้านบาท
เดิมเสนอวงเงินสินเชื่อ 400 ล้านบาท และให้ดำรงเงินฝากไว้สำรองจ่ายดอกเบี้ย 40 ล้านบาท แต่คณะกรรมการสินเชื่อระดับ 1ของธนาคารฯ มีความเห็นให้ปรับลดวงเงินเหลือ 360 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย MLR (ร้อยละ 7.25%)
อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดกรณี Worse Case พบว่าลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอชำระหนี้จนถึงสิ้นปีที่ 5 รวม 56.8 ล้านบาท ธนาคารได้กำหนดเงื่อนไขก่อนการเบิกเงินกู้ให้ลูกหนี้นำเงินมาฝากบัญชีออมทรัพย์ 60 ล้านบาท โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 เพื่อทยอยตัดชำระหนี้ดอกเบี้ยถึงกลางปี 2557 (ปลอดชำระหนี้เงินต้น 2 ปี) เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีจำนวนนักเรียนไม่เป็นไปตามประมาณการ นอกจากนี้กำหนดให้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกไม่น้อยกว่า 209 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 210 ล้านบาท ด้วยเงินสดหรือทรัพย์สินของกิจการ โดยกำหนดให้ชำระเต็มมูลค่าตามกฎหมาย
รายงานผลการติดต่อกับลูกค้าเมื่อวันที่ 15 ก.พ.56 สรุปว่าปีการศึกษา 2555 ลูกหนี้มีนักเรียนจำนวน 102 คน ต่ำกว่าประมาณการ 104 คน เนื่องจากยังไม่ได้เปิดรับนักเรียนระดับเนอสเซอรี่ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงห้องเรียน เมื่อปรับปรุงเสร็จจะสามารถรับนักเรียนเพิ่มประมาณ 90 คน ในปีการศึกษา 2556
ณ วันที่ 30 เม.ย.56 ลูกหนี้มีเงินฝากออมทรัพย์คงเหลือ 30.79 ล้านบาท สามารถรองรับการชำระดอกเบี้ยได้อีกประมาณ 14 เดือน
ความเห็นและข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย
การอนุมัติสินเชื่อโดยกำหนดเงื่อนไขลักษณะดังกล่าว พิจารณาเป็น 2 กรณี
1.การให้สินเชื่อที่มีเงินฝากค้ำประกัน กรณีธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะเรียกเก็บดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบวกร้อยละ 1-2 เท่านั้น แต่ในกรณีดังกล่าวธนาคารเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.25 ของยอดหนี้จำนวน 60 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 5.75% จึงอาจไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้
2.การให้ลูกหนี้นำเงินมาฝาก 60 ล้านบาท ก่อนเบิกเงินกู้ 1 วัน เพื่อทยอยตัดชำระดอกเบี้ย อาจเป็นการให้กู้ยืมเพื่อนำมาชำระหนี้และหลีกเลี่ยงการจัดชั้น NPL ในกรณีลูกหนี้ประสบปัญหาธุรกิจ แต่ยังมีเงินฝากคงเหลือรองรับการชำระหนี้ และทำให้การแก้ไขหนี้ล่าช้า
นอกจากนี้ ในการติดตามฐานะการดำเนินงานของลูกหนี้เมื่อพบว่ามีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ธนาคารไม่ได้วิเคราะห์ประมาณการกระแสเงินสดเพื่อทบทวนความสามารถในการชำระหนี้
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย จำกัด จดทะเบียนวันที่ 11 ส.ค.49 ทุนปัจจุบัน 210 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 55/5 หมู่ที่ 1 ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2558 นางหทัยรัตน์ หลิมศิวิไล 1,449,000 หุ้น (69%) นายธีร์ภัทร สูตะบุตร (ลูกชายอดีตรัฐมนตรี) 420,000 หุ้น (20%) นายธนเทพ วงษ์พิทักษ์โรจน์ 210,000 หุ้น ( 10%) นายพันเดช หลิมศิวิไล 21,000 หุ้น รวม 2,100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท นายพันเดช หลิมศิวิไล เป็นกรรมการ
แจ้งผลประกอบการปี 2557 รายได้ 25,043,399 บาท ขาดทุนสุทธิ 62,006,713 บาท สินทรัพย์ 527,373,411 บาท หนี้สิน 489,005,950 บาท ขาดทุนสะสม 171,632,538 บาท ปี 2556 ไม่พบว่าส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2555 แจ้งมีรายได้ 28,795,232 บาท ขาดทุนสุทธิ 50,640,564 บาท
น่าสังเกตว่า ปี 2555 ในช่วงได้รับสินเชื่อ บริษัทฯมีรายได้เพียง 28.7 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 50.6 ล้านบาท หลังจากนั้นเป็นเอ็นพีแอลในช่วง ก.ย.2557
โรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่าน จ.ปทุมธานี เคยมีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร
อ่านประกอบ:
เปิดชื่อ 20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน