- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ศาสนา... สาเหตุความขัดแย้ง หรือเครื่องมือแก้ความรุนแรงชายแดนใต้ (มีคลิป)
ศาสนา... สาเหตุความขัดแย้ง หรือเครื่องมือแก้ความรุนแรงชายแดนใต้ (มีคลิป)
นับตั้งแต่เหตุการณ์คนร้ายปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและพื้นที่สงขลาบางส่วน จนถึงเวลานี้รวมแล้วมากกว่า 4,700 ราย
แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้ความสงบสุขกลับคืนมาสู่ดินแดนปลายด้ามขวาน แต่ความรุนแรง ความสูญเสีย ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หากดูสถิติการเกิดความรุนแรงในช่วงหลังๆ พบว่ามีการก่อเหตุรุนแรงลดลง แต่ทว่าความรุนแรงของเหตุการณ์กลับทำให้มีการสูญเสียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะความรุนแรงของเหตุการณ์เป็นการก่อเหตุขนาดใหญ่ ถึงขั้นการใช้ “คาร์บอมบ์”และ “มอเตอร์ไซค์บอมบ์”ในเขตเมือง อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยคนร้ายลอบวางระเบิด 3 จุด และเกิดเหตุระเบิดในเวลาไล่เลี่ยกัน
เหตุความรุนแรงครั้งนี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษในเรื่องของกลุ่มก่อการร้าย ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ให้ข่าวกับสื่อมวลชน ระบุว่ากลุ่มก่อการร้ายมีทั้งความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดน กับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย เช่นกลุ่มค้ายาเสพติด สินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อนในพื้นที่
ก่อนหน้านี้ เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรง ทางการมักให้น้ำหนักไปในเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดน สาเหตุโดยสรุปมาจากเรื่องของความแตกต่างกันโดยพื้นฐาน เช่นเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต เมื่อรวมกับปัจจัยอื่นที่สำคัญๆอย่างเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ การไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ปัญหาเยาวชนมีเวลาว่างมาก และพัวพันกับยาเสพติด ก็เลยกลายเป็นปัญหาใหญ่ยากจะแก้ไขได้ในเร็ววัน
ความแตกต่างทางศาสนาซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม กับชาวไทยพุทธซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ก็มีการกล่าวถึงว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในเหตุความรุนแรงอยู่ด้วย ประเด็นนี้น่าสนใจว่า “ความแตกต่างทางศาสนา” เป็นสาเหตุสำคัญของการก่อเหตุสร้างสถานการณ์รุนแรงหรือไม่ และหลักคำสอนในศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดที่ศาสนิกนับถือในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จะมีส่วนในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดได้หรือไม่ และจะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาได้อย่างไร
ความแตกต่างทางศาสนาคือต้นเหตุของความรุนแรงหรือไม่
การเสวนาเรื่อง “ศาสนา พลังแห่งสันติภาพกับความรุนแรงในชายแดนใต้” ซึ่งคณะกรรมการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจการศาสนา และศาสนิกสัมพันธ์ จัดขึ้นที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาสนิก เพื่อแสวงหาและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการส่งเสริมบทบาทศาสนาแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นว่า หากนำหลักคำสอนในศาสนามาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ความขัดแย้ง ความรุนแรงในชายแดนใต้ได้หรือไม่ และควรมีแนวทางอย่างไร
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า โดยสรุปในภาพรวม สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา จากข้อมูลของศูนย์ระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,800 คน บาดเจ็บประมาณ 7,000 คน ร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตเป็นประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลือร้อยละ 40 เป็นชาวพุทธ แต่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็นชาวมุสลิมร้อยละ 80 เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากกว่าชาวพุทธ และประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาไม่ใช่ประเด็นทั้งหมดของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
“มุมมองทางวิชาการ รากเหง้าของปัญหาประกอบด้วย ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือเรื่องของเศรษฐกิจ รายได้ อาชีพ ความยากจนและปัญหาสังคม อีกอย่างหนึ่งคือปัญหาเชิงอัตลักษณ์”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ให้รายละเอียดว่า องค์ประกอบดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหา มีการต่อต้านอำนาจรัฐ มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน ผลที่ตามมาก็คือความรุนแรงจากฝ่ายที่ถูกกดทับ ปัญหารองลงมือคือปัญหายาเสพติด การค้าของเถื่อน เป็นปัญหาแทรกซ้อนเข้ามา
“ เงื่อนไขทางศาสนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น การที่ศาสนาถูกนำไปใช้ในทางการเมือง ก็ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ อธิบาย
ในเอกสารประกอบการการเสวนา ของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ วิเคราะห์ปัญหาว่า
- ปัญหาใจกลางคือประเด็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ท้องถิ่นปัตตานี และศาสนาอิสลาม สามอย่างรวมกัน
- สภาพปัญหาก็คืออำนาจรัฐไทยกดทับ ปิดกั้นอัตลักษณ์ดังกล่าวด้วยกระบวนการทางการเมือง
- สิ่งที่ตามมาก็คือความเป็นชายขอบหรือ maginalization ของปัตตานี/คนมลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้
- ดังนั้น เงื่อนไขภายในที่สำคัญเกิดจากปัญหาอำนาจรัฐไทย ไม่ให้ความยุติธรรมแก่คนมลายูมุสลิมปัตตานี
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมของปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือพัฒนาการของความเป็นชายขอบของรัฐของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเป็น “พื้นที่ชายขอบ”ทำให้อำนาจรัฐอ่อน ไม่มีประสิทธิภาพและคอรัปชั่น ประกอบกับเงื่อนไขของสภาพเศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจชายแดน การเกิดความรุนแรงแบบอาชญากรรมที่มีการจัดตั้งรวมกลุ่ม อีกด้านหนึ่ง มีการขยายตัวของอุดมการณ์ใหม่แบบศาสนาอิสลาม อันเป็น “โลกาภิวัฒน์”จากเบื้องล่าง ( globalization from below) สวนทางกับโครงสร้างการพัฒนาแบบรัฐซึ่งเป็นโลกาภิวัฒน์จากข้างบน (globalization from above)
“ตั้งแต่ปี 2551 ในรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ความรุนแรงลดลงระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำให้หมดไปได้ เป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง เพราะปมปัญหาเป็นเรื่องการเมือง ปัญหาเชิงอัตลักษณ์ การใช้กำลังทางทหาร ทางกฎหมาย จึงไม่สามารถยุติปัญหาได้ ได้เพียงระงับความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ นักวิชาการอิสระ ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในทางเดียวกันว่า ปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นคือปัญหาเชิงอัตลักษณ์
“ คนในพื้นที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความเป็นอิสระ ในทางประชาธิปไตย จึงต้องให้คนที่มีความแตกต่างมีอิสระ สิ่งที่ต้องการคือการมีชีวิตตามความคิด ความเชื่อที่ตัวเองมีซึ่งก็คือวิถีชีวิต”
น.ส.นารี กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่พบอีกมุมหนึ่งก็คือ ประชาชนมีความระแวงกัน ไม่มีความเป็นมิตร ไม่อยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สถานการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ “แบ่งแยก”ผู้คนออกจากกัน แม้ว่าคำสอนในศาสนาทั้งอิสลามและพุทธ ก็มีวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง เช่นทางอิสลามก็มีวัฒนธรรมการขออภัย การให้อภัย ส่วนพุทธก็มีคำสอนให้ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
ผศ.สุนิตย์ แป้นนาบอน กรรมการบริหารพุทธสมาคมจังหวัดสงขลา กล่าวในประเด็น “ศาสนาเป็นสาเหตุของความรุนแรงหรือไม่” ว่า ศาสนาเองไม่ได้เป็นสาเหตุ เพราะศาสนาก็เปรียบเสมือนน้ำที่ต้องนำไปดับไฟ
“ แต่เหตุการณ์ในชายแดนภาคใต้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็ต้องไปดูข้อเท็จจริง เห็นว่าศาสนาได้ถูกนำไปใช้เพื่อความรุนแรง ศาสนาจึงควรมีบทบาทโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือ แต่ใช้เป็นกลไก เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรง โดยองค์กรทางศาสนาต้องมีความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้” ผศ. สุนิตย์ กล่าว
ขณะที่ นายอิบรอฮิม อาดำ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล กล่าวว่า ทุกคนยอมรับว่าศาสนาคือพลัง นำไปเป็นพลังแห่งสันติภาพ แก้ไขปัญหาความรุนแรงได้
“ปัญหาในสังคมคือ คนไม่ปฏิบัติทางศาสนาอย่างจริงจังเพราะสังคมอ่อนแอ ผู้คนในวงการศาสนาต้องหันมาพูดคุยกัน แต่ก็ยังขาดคนกลาง ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวบุคคลบ่อย ต้องนับ 1 กันใหม่ ไปไม่ถึง 10 ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ถ้าดึงพลังทางศาสนามาใช้อย่างจริงจังก็สามารถแก้ปัญหาได้”
“ถึงเวลาที่องค์กรศาสนา ผู้นำองค์กรศาสนาต้องกลับไปคิด ไม่ใช่คิดแค่ว่าทางอิสลามจะคุยกับใครไม่ได้ สื่อก็คิดว่าคนมุสลิมนิยมความรุนแรง ยกเว้นเรื่องพิธีกรรมแล้ว ก็คุยกันได้หมด”
ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือระหว่างองค์กรทางศาสนาจะเกิดพลัง ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามจะติดร่วมกัน คิดกันแล้วก็ไม่มีการนำไปปฏิบัติ เพราะขาดองค์กรที่บริสุทธิ์ใจมาดำเนินการ
แก้ปัญหาอย่างบูรณาการ
ในการเสวนา แม้จะมีความเห็นตรงกันว่า ความแตกต่างทางศาสนาไม่ใช่สาเหตุของสถานการณ์รุนแรงทั้งหมด และเห็นตรงกันว่าองค์กรศาสนาควรจะต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้น ให้มีความเข้มแข็งจนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา โดยผ่านการพูดคุย มองข้ามความแตกต่างทางศาสนา มองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมีจุดร่วมๆร่วมกันในการแก้ปัญหาความรุนแรง สร้างบรรยากาศสันติภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับด้วยว่า การใช้ศาสนาแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ แต่ทุกหน่วยงานของรัฐ เช่น สภาความมั่งตงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ก็ต้องแก้ปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการด้วย เพราะเกือบ 8 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหาร อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส การแก้ปัญหาทำได้แค่ระงับความรุนแรงได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาหมดไปได้
ชม Clip Vedio
{youtubejw}XmPyfDLJsWs{/youtubejw}