- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 9 ปี 2 รัฐประหาร เส้นทางต่อสู้ “เสื้อแดง” ใต้ปีก“ทักษิณ” ?
9 ปี 2 รัฐประหาร เส้นทางต่อสู้ “เสื้อแดง” ใต้ปีก“ทักษิณ” ?
“…แม้ว่าจะมีกระแสข่าวระบุว่า “จักรภพ เพ็ญแข” อดีตแกนนำ นปช. เตรียมตั้ง “องค์กรแดงพลัดถิ่น” เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสที่ว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ” เตรียมตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้มวลชน “เสื้อแดงปีกทักษิณ” เห็นเป็นรูปธรรม และพร้อมเข้าร่วมสู้ได้เลย…”
เกือบ 1 สัปดาห์แล้วที่บรรดาแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกปล่อยตัวจากการควบคุมตัวโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ว่ากันว่างานนี้มีการให้ "สัญญาใจ" กันไว้ว่า "แกนนำนปช." จะไม่เคลื่อนไหวมวลชน และอาจจะถึงขั้นเว้นวรรคการเมือง ทันที หากมีการร้องขอจาก "คสช."
และหากคิดคำนวณการต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง” ก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วเช่นกันที่ขบวนการมวลชนกลุ่มนี้ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านเผด็จการ – อำมาตย์ พร้อมกับเรียกร้องประชาธิปไตย
โดยเฉพาะ “แดงปีกทักษิณ” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, หัวหน้าพรรคไทยรักไทย) ที่ผนึกกำลังกันอย่างหนาแน่น และยังคงให้การสนับสนุน “พ.ต.ท.ทักษิณ” เรื่อยมา ภายหลังรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกรัฐประหารปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดหากเทียบกับ “แดงอิสระ” สายอื่น ๆ
จากต่อต้าน “รัฐประหาร ’49” จนมาถึงการต่อสู้ในปี 2551 – 2552 – 2553 โดยเฉพาะในปี ’53 ที่คนเสื้อแดงถูกล้อมปราบโดยทหาร หลังชุมนุมนานกว่า 2 เดือน มีคนตายเหยียบร้อยคน และบาดเจ็บหลายพันคน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งขบวนการคนเสื้อแดงขึ้นมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนเวลากลับไปดูต้นกำเนิดมวลชนเสื้อแดง โดยเฉพาะ “แดงปีกทักษิณ” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และอนาคตนับจากนี้จะเป็นอย่างไร
ปี 2547 – 2548 ท่ามกลางการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) รุ่นแรก นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อเครือASTVผู้จัดการ พร้อมด้วยเอ็นจีโอหลากหลายคน ตบเท้ากับออกมาต่อต้านรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ” นั้น เริ่มมีขบวนการต่อต้านการชุมนุมของ พธม. มาพักใหญ่แล้ว โดยอาศัยเว็บไซต์ต่าง ๆ ในการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านการชุมนุมดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่โตอะไรมากมาย และส่วนมากเป็นพวกปัญญาชนที่สนับสนุนรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ”
ต่อมา พลันที่ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จับปืนรัฐประหารปี 2549 กระแสการต่อต้านโหมกระพือไปทั่ว มีทั้งเอ็นจีโอ นักวิชาการ นิสิต/นักศึกษา และชาวบ้านหลายรายออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารดังกล่าว โดยบางคนก็ดีเฟนต์หลักการประชาธิปไตย คัดค้านการรัฐประหาร ขณะเดียวกันบางคนก็ยังรัก และสนับสนุน “พ.ต.ท.ทักษิณ” และเรียกร้องให้คืนความเป็นธรรมแก่ “พ.ต.ท.ทักษิณ”
ไม่นานนักในช่วงปลายปี 2549 – 2550 เมื่อคณะรัฐประหารตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยใช้เสื้อสีเหลือง เพื่อต่อต้าน “รัฐบาลขิงแก่” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นเสื้อสีแดงตามแนวคิด “แดงไม่รับ” ของ “บก.ลายจุด” นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำ นปก.รุ่น 2 (ตำแหน่งขณะนั้น) รวมพลังกัน “โหวตโน” ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ก็ไม่สำเร็จ แม้จะมีคะแนนโหวตกว่า 10 ล้านเสียงก็ตาม
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย “เนวิน ชิดชอบ” คนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจจาก “พ.ต.ท.ทักษิณ” มากที่สุดคนหนึ่งขณะนั้น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังริเริ่มก่อตั้งงานมวลชน โดยเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเครือข่าย “คนรักอุดร” และสร้างความสั่นสะเทือนให้กับการโหวตโนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ไม่น้อย ผ่านแกนนำอย่าง “ขวัญชัย ไพรพนา – ธีระชัย แสนแก้ว – อุทัย แสนแก้ว – นิสิต สินธุไพร” ที่ร่วมวางยุทธศาสตร์ด้วยกันแทบทุกครั้ง จนถือกำเนิดเป็น “นปก.” โดยมี “เนวิน” รับหน้าเสื่อจัดการม็อบทั้งหมด
ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” ขึ้นในช่วงสิงหาคมปี 2550 และเลิกการเคลื่อนไหวชั่วคราวเมื่อ “เนวิน” หนึ่งใน “แก๊งออฟโฟร์” ดัน “สมัคร สุนทรเวช” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี “นอมินี” จากรัฐบาลพรรคพลังประชาชน
หลังจากนั้นไม่นาน พธม. ก็รวมตัวกันใหม่อีกครั้งเพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายสมัคร ต่อมานายสมัครถูกถอดถอนออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลได้แต่งตั้ง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขย “พ.ต.ท.ทักษิณ” ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยในครั้งนั้น นปช. กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และเกิดเหตุปะทะกับ พธม. จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
จนกระทั่งในปี 2552 เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ผบ.ทบ.ขณะนั้น โดยสื่อต่างเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” และการช่วยเหลือของ “เนวิน” ที่ประกาศตัดขาดความสัมพันธ์ “นายใหญ่ดูไบ” ภายหลัง “สมชาย” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี
ต่อมาในต้นเดือนมีนาคม 2552 “พ.ต.ท.ทักษิณ” เผยแพร่ภาพวีดีโออ้างว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่เบื้องหลังเหตุรัฐประหาร 2549 และนอกจาก “ป๋าเปรม” แล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ กับนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ 2 องคมนตรี ก็เป็นคนสมคบกับกองทัพเพื่อให้ “อภิสิทธิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ โดย “พ.ต.ท.ทักษิณ” เรียกร้อง “การปฏิวัติของประชาชน” เพื่อเอาชนะอิทธิพลอำมาตยาธิปไตยให้ได้
หลังจากนั้นต้นเดือนเมษายน 2552 นปช. เป็นผู้นำการประท้วง โดยนำขบวนไปพัทยาหวังล้มการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 4 โดยเกิดเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่าง นปช. ที่นำโดย “กี้ร์” อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. กับกลุ่มผู้สนับสนุน “เนวิน” ส่งผลให้ “อภิสิทธิ์” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
โดยในวันที่ 13 เมษายน 2552 หรือที่เรียกว่า “สงกรานต์เลือด” มีกำลังทหารและตำรวจเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง มีผู้บาดเจ็บกว่า 70 ราย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2552 แกนนำ นปช. ประกาศเลิกการชุมนุม และรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ออกหมายจับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” รวมไปถึงแกนนำอื่น ๆ เช่น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ – จตุพร พรหมพันธุ์” รวมหลาย 10 คน หลังจากนั้นในปีเดียวกัน นปช. ตัดขาดความสัมพันธ์กับ “เครือข่ายพลังประชาธิปไตยแดงสยาม” ที่นำโดย “จักรภพ เพ็ญแข” อีกด้วย
ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2553 นปช. กลับเข้ากรุงเทพมหานครอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีรัฐบาล “อภิสิทธิ์” กลับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งปราบคนเสื้อแดง โดยคราวนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และได้รับบาดเจ็บนับร้อยคน จากทั้งฝั่ง นปช. และทหาร โดยสื่อต่างขนานเหตุการณ์นั้นว่า “เมษาโหด”
หลังจากนั้นต้นเดือนพฤษภาคม 2553 “อภิสิทธิ์” เสนอให้จัดการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกยกเลิกไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่แกนนำ นปช. เรียกร้องให้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งขณะนั้น) เข้ามอบตัวกับตำรวจ
หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 14 – 18 พฤษภาคม 2553 รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ ประกาศเขตกระสุนจริง มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรัฐบาล “อภิสิทธิ์” อ้างว่ามีกลุ่ม “ชายชุดดำ” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและเป็นผู้ใช้ความรุนแรง
ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม และเข้ามอบตัวกับตำรวจ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจต่อบรรดาเสื้อแดงต่างจังหวัดเป็นอย่างมาก โดยเกิดการจราจลและวางเพลิงสถานที่หลายแห่งทั่วประเทศ โดยจากการชุมนุมดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเหยียบร้อยคน และได้รับบาดเจ็บนับพันคน
โดยภายหลังเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” บรรดาแกนนำ นปช. หลายคนต่างถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำ โดย นปช. ได้ตั้ง “ธิดา ถาวรเศรษฐ” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานชั่วคราว หลังจากนั้นปี 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้ง รวบรวมเสียงข้างมากตั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว “พ.ต.ท.ทักษิณ” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ก่อนที่แกนนำ นปช. จะกลับมาชุมนุมอีกคำรบ พร้อมตั้ง “จตุพร” นั่งแท่นประธาน นปช. ในปี 2557 ภายหลังคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และบรรดา ส.ส.ประชาธิปัตย์ ออกมาชุมนุมประท้วงต้านรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ที่เตรียมคลอดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบเหมาเข่ง ซึ่งรวมไปถึง “พ.ต.ท.ทักษิณ” อยู่ด้วย
จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างการประชุม 7 ฝ่ายหาทางออกให้ประเทศ โดยมีแกนนำ นปช. และแกนนำ กปปส. เข้าร่วมวงด้วย ซึ่งนำไปสู่การควบคุมตัวแกนนำทั้ง 2 ฝ่ายไว้เป็นเวลานานราว 7 วันก่อนจะปล่อยตัวออกมา พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ถึงคราวที่ นปช. ล่มสลายแล้ว เห็นได้จาก แกนนำ นปช. คนสำคัญอย่าง “จตุพร พรหมพันธุ์ – ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ – วีระกานต์ มุสิพงศ์ – ธิดา ถาวรเศรษฐ” ต่างก็ปิดปากเงียบ งดให้สัมภาษณ์สื่อแขนงใดเกี่ยวกับแนวทางต่อไปทั้งสิ้น
รวมไปถึงแกนนำแดงรายอื่น ๆ เช่น “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” หรือ “แรมโบ้อีสาน” ก็ร่ำไห้หลังถูกปล่อยตัวพร้อมประกาศว่า เลิกเล่นการเมืองอย่างถาวร ขณะที่ “ขวัญชัย ไพรพนา” แกนนำ นปช.อีสาน ก็ไม่ปริปากพูดถึงการชุมนุมต่อแต่อย่างใด
แม้ว่าจะมีกระแสข่าวระบุว่า “จักรภพ เพ็ญแข” อดีตแกนนำ นปช. เตรียมตั้ง “องค์กรแดงพลัดถิ่น” เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสที่ว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ” เตรียมตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้มวลชน “เสื้อแดงปีกทักษิณ” เห็นเป็นรูปธรรม และพร้อมเข้าร่วมสู้ได้เลย
แต่ถ้าเห็นจากการเรียกรายงานตัวของ คสช. เกือบทั้งหมดเป็นบุคคลที่สนิทชิดเชื้อกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” และเป็น “แดงปีกทักษิณ” แทบทั้งสิ้น
ดังนั้นต้องยอมรับว่า นปช. และ “แดงปีกทักษิณ” แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระดมมวลชนเข้าต่อสู้กับฝ่ายที่ตัวเองเรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย”
แม้ “นิสิต สินธุไพร” แกนนำ นปช. จะยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ยังไม่มีแกนนำคนไหนพูดว่า นปช. พ่ายแพ้ก็ตาม และอาจจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งก็ตาม
(อ่านประกอบ : ลึกสุดใจ!“นิสิต สินธุไพร” ในวันที่(เขาว่า)นปช.พ่ายแพ้ ?)
แต่ก็คงจะเป็นเรื่องยาก ในเมื่ออำนาจยังอยู่ในมือ คสช. ที่จะเรียกใครก็ได้ที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงมารายงานตัว
ดังนั้นต้องจับตาดูต่อไปว่า หลังผ่านยุค คสช. เมื่อมี “รัฐบาลแต่งตั้ง” เสร็จสิ้นแล้ว นปช. จะดำเนินการอย่างไร
จะกลับมา“สู้” อีกครั้งเหมือนกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา หรือจะ “เลิก”กลับบ้านไปอยู่ตามมีตามเกิดเหมือนเดิม !