- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ข้อต่อสู้ คดีแจ้งบัญชีเท็จ พล.อ.เสถียร ยก "ปัญหาครอบครัว-มหาอุทกภัย" ?
ข้อต่อสู้ คดีแจ้งบัญชีเท็จ พล.อ.เสถียร ยก "ปัญหาครอบครัว-มหาอุทกภัย" ?
แม้บรรทัดสุดท้าย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาลงโทษ “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์” อดีตกระทรวงกลาโหม ในคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้าไปดำรงตำแหน่ง “กรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.)” ระหว่างปี 2550-2551 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
(พล.อ.เสถียร และนางณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ ภาพจากเว็บไซต์ www.sathian-p.com)
ห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 14 ก.พ.2551 (วันที่พ้นจากการเป็นกรรมการ อคส.)
และให้จำคุกเป็นเวลา 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจาก พล.อ.เสถียร ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีแทน
แต่สิ่งที่น่าสนใจ และปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดีดังกล่าว จำนวน 37 หน้า ก็คือการยกข้อต่อสู้ระหว่าง ป.ป.ช.กับ พล.อ.เสถียร ที่มีทั้ง “ข้อกฎหมาย” และ “ข้อเท็จจริง”
เริ่มจากปมทางกฎหมายที่ พล.อ.เสถียร ต่อสู้ว่า คดีนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ความผิดฐาน “แจ้งบัญชีเท็จ” มีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่กระทำผิดนั้น
กรณีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง พล.อ.เสถียรใน 2 กรณี คือแจ้งบัญชีเท็จ ครั้งพ้นจากตำแหน่งกรรมการ อคส. คือวันที่ 15 ก.พ.2551 และ ครั้งพ้นจากตำแหน่งกรรมการ อคส.ครบหนึ่งปี คือวันที่ 16 มี.ค.2552 (ซึ่งตามกฎหมาย จะต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช.ภายใน 30 วันนับจากวันดังกล่าว ทำให้อายุความเริ่มนับจากวันที่ 14 มี.ค.2551 และ 15 เม.ย.2552 ตามลำดับ)
และแม้ ป.ป.ช.จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 ม.ค.2556 แต่ พล.อ.เสถียรมาศาลและยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว วันที่ 9 พ.ค.2556 จึงถือว่าอยู่ในอำนาจศาลเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2556
ศาลฎีกาฯ จึงวินิจฉัยว่า ทำให้กรณีแจ้งบัญชีเท็จ ครั้งพ้นจากตำแหน่งกรรมการ อคส.ขาดอายุความไปแล้ว
คงเหลือแต่กรณีแจ้งบัญชีเท็จ ครั้งพ้นจากตำแหน่งกรรมการ อคส.ครบหนึ่งปีเท่านั้น
สำหรับปมด้านข้อเท็จจริง พล.อ.เสถียร ได้ยกข้อต่อสู้ อาทิ ไม่เข้าใจขั้นตอนการแจ้งบัญชีต่อ ป.ป.ช.ดีพอทำให้มีการตกหล่น ไม่ทราบว่า “นางณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์” ภรรยาเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใดบ้างทำให้ไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.
ไปจนกระทั่งมีการอ้างเหตุมหาอุทกภัย เมื่อปี 2554 หรืออาศัยอยู่คนละบ้านกับภรรยา เพราะมีปัญหาครอบครัว !
น่าสนใจว่าศาลจะรับฟังหรือไม่ ?
- ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8772 ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชานี จ.อุบลราชานี ของผู้คัดค้าน ในกรณีพ้นจากตำแนห่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี
“ผู้คัดค้าน (พล.อ.เสถียร) ต่อสู้ในขั้นไต่สวนทำนองเดียวกับที่เคยชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และชี้แจงเพิ่มเติมว่าเมื่อผู้คัดค้านต้องขนย้ายทรัพย์สินเพื่อป้องกันอุทกภัยแล้ว กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติเป็นเวลาหลายเดือน ผู้คัดค้านมีเวลาตรวจสอบเพื่อเก็บรวบรวมบรรดาทรัพย์สินที่ขนย้ายก็ล่วงเลยมาจนถึงต้นปี 2555 สาเหตุที่ผู้คัดค้านไม่ได้นำรายการโฉนดที่ดินเลขที่ 8772 แสดงใบรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2554 นั้น เนื่องจากผู้คัดค้านจำไม่ได้ว่ามีรายการโฉนดที่ดินดังกล่าวอยู่”
“(ศาล) เห็นว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายการที่ดินดังกล่าวเนื่องจากผู้คัดค้านมีหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ กห.0200.1/46 ลงวันที่ 19 มี.ค.2555 เอกสารหมาย ร.59 ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าเพิ่งพบโฉนดที่ดิน และผู้คัดค้านเพิกความยืนยันในชั้นไต่สวนว่า พบโฉนดที่ดินดังกล่าวเมื่อตรวจสอบทรัพย์สินภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มิใช่ช่วงที่ขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านพักราชการ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ในช่วงขนย้ายทรัพย์สินเพื่ออพยพหนีอุทกภัยโดยเร่งด่วนนั้น บุคคลผู้ประสบเหตุมักไม่มีเวลาสำรวจทรัพย์สินโดยละเอียด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว จึงน่าเชื่อว่าผู้คัดค้านเพิ่งพบโฉนดที่ดินดังกล่าวหลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้งขนย้ายทรัพย์สินกลับเข้าบ้านพัก สอดคล้องกับกรณีที่ผู้คัดค้านแจ้งรายการที่ดินดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่งเติม กรณีเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมด้วย ซึ่งหากผู้คัดค้านจงใจปกปิดรายการที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ร้อง (ป.ป.ช.) ทราบในทั้งสองกรณีที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติม
“องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านในกรณีนี้รับฟังได้”
(จากคำพิพากษาคดีดังกล่าว หน้า 22)
- ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1461 และเลขที่ 1526 ต.แสนสุข (ธาตุ) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีของคู่สมรส ในกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี
“ผู้คัดค้าน (พล.อ.เสถียร) ต่อสู้ในชั้นไต่สวนทำนองเดียวกับที่เคยชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และชี้แจงเพิ่มเติมว่าภาระหน้าที่การเงินของผู้คัดค้านและคู่สมรสต่างกัน ทั้งอาศัยคนละพื้นที่ และมีปัญหาคอรบครัวระหว่างผู้คัดค้านกับคู่สมรส ทำให้ผู้คัดค้านไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส
“(ศาล) เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านอ้างว่าต้นฉบับ น.ส. 3 ก. เลขที่ 1561 และเลขาที่ 1526 เก็บรักษาอยู่ที่ธนาคารทหารไทย กำจัด (มหาชน) ผู้รับจำนอง ทำให้ผู้คัดค้านและนางณัฐณิชาช์ หลงลืมนั้น เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2426 ต.สว่าง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เอกสารหมาย ร.26 หน้าที่ 325 และหน้าที่ 326 นางณัฐณิชาช์ได้นำที่ดินอปลงดังกล่าวไปจำนองกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2541 ตามหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกัน เอกสารหมาย ร.29 หน้าที่ 319 และหน้าที่ 320 ก่อนที่มีการจำนองที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1461 และเลขที่ 1526 เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2542 จึงไม่น่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านและนางณัฐณิชาช์หลงลืมที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1461 และเลขที่ 1526 ที่
“ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างภาระหน้าที่การเงิน การอาศัยอยู่คนละแห่งกับนางณัฐณิชาช์ หรือปัญหาครอบครัวนั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุผลที่สมควรอันจะรับฟังเป็นข้อแก้ตัวได้ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านในกรณีนี้รับฟังไม่ได้”
(จากคำพิพากษาคดีดังกล่าว หน้า 24)
- ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1457 ต.แสนสุข (ธาตุ) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีของคู่สมรส ในกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี
“ผู้คัดค้านต่อสู้ในชั้นไต่สวนทำนองเดียวกับที่เคยชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และชี้แจงเพิ่มเติมว่าภาระหน้าที่การเงินของผู้คัดค้านและคู่สมรสต่างกัน ทั้งอาศัยคนละพื้นที่ และมีปัญหาคอรบครัวระหว่างผู้คัดค้านกับคู่สมรส ทำให้ผู้คัดค้านไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส
“เห็นว่า นางณัฐณิชาช์ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน น.ส. 3 ก. .เลขที่ 1457 ต.แสนสุข (ธาตุ) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี แต่เพียงผุ้เดียว แต่เป็นเจ้าของร่วมกับนางศรีมุกดา กาญจนีย์และทั้งสองได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองกับนางนงลักษณ์ ธนะแพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.2540 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ร.46 การที่นางณัฐณิชาช์ปล่อยให้ที่ดินติดภาระจำนองยาวนานถึง 15 ปี น่าเชื่อว่าเอกสารสิทธิไม่ได้อยู่ที่นางณัฐณิชาช์ทำให้หลงลืมจริง และถือว่ามีเหตุสมควรที่ผู้คัดค้านมิได้แสดงรายการที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1475 ต.แสนสุข (ธาตุ) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านในกรณีนี้รับฟังได้”
(จากคำพิพากษาคดีดังกล่าว หน้า 26)
ทั้งนี้ ศาลได้สรุปว่า พล.อ.เสถียรได้แจ้งบัญชีเท็จหรือปกปิดต่อ ป.ป.ช. 5 รายการ ประกอบด้วย (1) บัญชีเงินฝากประจำธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี เลขที่บัญชี 305-3-32657 6/11 ของผู้คัดค้าน (2) รายการเงินลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยบัญชีทหารพัฒนา จำกัด ของผู้คัดค้าน (3) รายการเงินลงทุนใน หจก.กรุณาภรณ์ สหกิจ 1997 ของคู่สมรส จำนวน 1,500,000 บาท (4) ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1461 และเลขที่ 1526 ต.แสนสุข (ธาตุ) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ของคู่สมรส และ (5) รายการหนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือกับ หจก.กรุณาภรณ์ สหกิจ 1997 ของคู่สมรส มูลค่า 1,500,000 บาท
จึงพิพากษาว่า พล.อ.เสถียรจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ด้วยความข้ออันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 263 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 41
“ห้าม พล.อ.เสถียรดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 14 ก.พ.2551 และมีโทษทางอาญา จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจาก พล.อ.เสถียร ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี”