- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะสินบนยาเสพติดส่อพิรุธ!ล่องหน 230 ล้าน
เจาะสินบนยาเสพติดส่อพิรุธ!ล่องหน 230 ล้าน
เจาะลึกการเบิกจ่ายสินบน-รางวัลนำจับคดียาเสพติด ป.ป.ส. ส่อพิรุธพบเอกสารยอดเบิกจ่ายไม่ตรงกัน เงินล่องหนไปกว่า 230 ล้าน ล่าสุดแก้กฎหมายเพิ่มเงินให้สายลับ เพิ่มแรงจูงใจคดีละ 2 ล้าน
การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาหลักที่บ่อนทำลายสังคมไทย เนื่องจากมีเด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่จำนวนมากตกเป็นเหยื่อ โดยรัฐบาลเอง ได้มอบหมายให้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา
5ปีสถิติจับกุมยาเสพติดพุ่งสูง
โดยแต่ละปีมีสถิติการจับกุมยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและยาไอซ์ที่มียอดสูงจนน่าตกใจ โดยตั้งแต่ปี 2551 – 2555 มีการจับกุมยาบ้าถึง 225.2 ล้านเม็ด และยาไอซ์ถึง 3,813 กิโลกรัม โดยพบว่าการจับกุมยาบ้าและยาไอซ์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยาไอซ์มีอัตราการจับกุมสูงจนน่าตกใจ ในปี 2555 สามารถจับกุมได้ถึง 1,598.3 กก. (ตาราง 1)
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2556 พบว่าจับกุมยาบ้าได้แล้ว 65,908,371 ล้านเม็ด และยาไอซ์ 1,135.73 กิโลกรัม โดยล่าสุด สามารถจับกุมได้ที่สวนจตุจักรและในเขตบึงกุ่ม มียอดจับกุมเพียง 2 คดีรวมเกือบ 6 ล้านเม็ด
ตาราง 1
สถิติจับกุม |
2551 |
2552 |
2553 |
2554 |
2555 |
รวม |
ยาบ้า(ล้านเม็ด) |
20 |
24.6 |
48.8 |
49.6 |
82.2 |
225.2 |
ยาไอซ์ (กก.) |
54.2 |
213.2 |
706.4 |
1241.4 |
1,598.3 |
3,813.3 |
อัดฉีด“สินบน-รางวัล”จับยา
อย่างไรก็ตาม งานปราบปรามยาเสพติด ถือเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายในการทำงาน เพราะขบวนการค้ายาเสพติดเองมีทั้งเงิน อิทธิพล และอาวุธ ดังนั้น ภาครัฐจึงได้จ่ายเงินตอบแทนกรณีจับกุมยาเสพติดให้กับเจ้าพนักงาน โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน และเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ.2537 เพื่อให้การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำนักนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและกระทรวงการคลัง จึงวางระเบียบไว้ โดยมีสาระและนิยามที่น่าสนใจ คือ
“เงินสินบน” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ
“เงินรางวัล” หมายถึงเงินที่จ่ายให้เจ้าพนักงานผู้สืบสวน จับกุมการกระทำความผิด หรือยึดยาเสพติดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การจับกุมหรือยึดยาเสพติด
“ผู้แจ้งความนำจับ” หมายความว่า ผู้แจ้งความว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งความตามระเบียบนี้
ให้ ป.ป.ส.ใช้งบประมาณแผ่นดิน
สำหรับการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามระเบียบนี้ ให้สำนักงาน ป.ป.ส. จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุน หรือเงินหมวดอื่นที่จ่ายในลักษณะเงินอุดหนุน โดยเจ้าพนักงานผู้ใดซึ่งมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินสินบนตามระเบียบนี้ และถ้าคดีใดมีผู้แจ้งความนำจับหลายคน ให้จ่ายเงินสินบนโดยแบ่งเท่าๆ กันทุก เว้นแต่จะมีหลักฐานตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินรางวัล เพิ่งมีการประกาศเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 123 ตอนพิเศษ 97 ง ลงวันที่ 18 ก.ย.2549
จับ9แสนคดีจ่ายแล้ว 344 ล้าน
จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ส. http://www.oncb.go.th/ พบสถิติจับกุม และการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2555 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือในช่วงปี 2551-2555 สามารถจับกุมได้รวม 976,803 คดี จ่ายสินบน/รางวัลนำจับทั้งสิ้น 344,509,318 บาท โดยปี 2554 มียอดจ่ายสินบน/รางวัลสูงสุด 108,638,990 บาท (ตาราง 2)
ตาราง 2
สถิติจับกุม |
2551 |
2552 |
2553 |
2554 |
2555 |
รวม |
จำนวนคดี |
140,657 |
177,106 |
185,553 |
232,619 |
240,958 |
976,803 |
สินบน/รางวัล |
49,816,048 |
59,321,695 |
52,082,296 |
108,638,990 |
74,650,289 |
344,509,318 |
จับยาไอซ์จ่าย กก.ละ 1 แสน
ทั้งนี้ ได้มีประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่องกำหนดอัตราจ่ายเงินสินบน เงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. 2549 โดยปรับปรุงการกำหนดอัตราการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลในคดียาเสพติดให้เหมาะสมดังนี้ (ตาราง 3)
ตาราง 3
ประเภทยาเสพติด |
อัตราจ่าย |
เฮโรอีน |
กรัมละ 20 บาท |
ฝิ่น หรือมอร์ฟีน |
กรัมละ 8 บาท |
กัญชา |
กรัมละ 0.1 บาท |
ยางกัญชา |
กรัมละ 20 บาท |
โคคาอีน |
กรัมละ 20 บาท |
คีตามีน อีเฟรดีน |
กรัมละ 10 บาท |
อะซิติคแอนไฮไดรด์/ อะซิติลคลอไรด์ |
กก.ละ 10 บาท |
อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม |
กิโลกรัมละ 3 บาท |
แอมเฟตามีนชนิดผง(สารบริสุทธิ์) |
กรัมละ 100 บาท |
แอมเฟตามีนชนิดเม็ด ไม่เกิน 10 เม็ด |
ไม่เกิน 200 บาท |
แอมเฟตามีนชนิดเม็ด 11-500 เม็ด |
ไม่เกิน 5,000 บาท |
แอมเฟตามีนส่วนที่เกิน 500 เม็ด |
ไม่เกิน 1 ล้านบาท |
**สำหรับยาบ้าที่มีปริมาณสารบริสุทธิ์น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จ่ายเม็ดละ 1 บาท, ตั้งแต่ 10 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เม็ดละ 2 บาท และปริมาณสารบริสุทธิ์เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ จ่ายเม็ดละ 3 บาท
สำหรับแอฟเฟตามีนชนิดผง ที่เป็นสารบริสุทธิ์นั้น คือ ยาไอซ์ ซึ่งมีเงินรางวัลในการจับกุม กรัมละ 100 บาท หรือกิโลกรัมละ 100,000 บาท ซึ่งขณะนี้ ทาง ป.ป.ส.กำลังเร่งแก้ระเบียบเบิกจ่ายเงินรางวัล เพราะยอดจับกุมยาเสพติดประเภทนี้ มีปริมาณสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปีงบประมาณ
สบช่อง“ทุจริตไม่ผิดกฎหมาย”
แหล่งข่าวชุดปราบปรามยาเสพติดสังกัดหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา พบว่าเจ้าหน้าที่บางนายจะใช้วิธีการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินรางวัลหรือสินบนนำจับ ซึ่งยากต่อการตรวจสอบ โดยก่อนหน้านี้ มีระเบียบกำหนดให้รางวัลสินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแสหรือสายลับ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเจ้าหน้าที่จะได้เงินรางวัล 35 เปอร์เซ็นต์จากเงินสินบน ดังนั้นจึงมีช่องว่างให้ชุดจับกุม อุปโลกน์สายลับขึ้นมาเพื่อหวังเงินสินบน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมามีการยกเลิกระเบียบดังกล่าว โดยเปลี่ยนระเบียบเป็นให้เงินรางวัลกับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมแทน
ลดของกลาง-ซอยคดีรับรางวัล
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการจับกุมยาบ้า ที่มีกำหนดจ่ายเงินรางวัลสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทในแต่ละคดี ก็มีช่องว่างในการทุจริตเช่นกัน เพราะหากยาบ้ามีสารบริสุทธิ์เข้าหลักเกณฑ์ได้เงินรางวัลเม็ดละ 3 บาท ชุดจับกุมอาจใช้การเจรจากับผู้ต้องหาในการลดของกลาง เพื่อรับเงินรางวัลให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างเช่นกรณีจับกุมยาบ้า 1 ล้านเม็ด หากคิดเงินสินบนออกมาตามหลักเกณฑ์ข้างต้น จะได้เงินรางวัล 3 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายเต็มที่ได้เพียง 1 ล้านบาท ดังนั้น ชุดจับกุมอาจเจรจากับผู้ต้องหาเพื่อลดของกลางลงเหลือ 5 แสนเม็ด จะได้เงินรางวัลจับกุม 1 ล้านบาท ส่วนยาบ้าอีก 5 แสนเม็ด อาจทำเป็นการขยายผลตรวจยึดโดยไม่มีผู้ต้องหา ก็จะได้เงินรางวัลนำจับเพิ่มเติมอีกครึ่งหนึ่ง (500,000 x 3 / 2 = 750,000)
“ผู้กองณัฏฐ์”เผยโลกมืดสีกากี
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เข้าสัมภาษณ์ ร.ต.อ.ณัฎร์ ชลนิธิวณิชย์ หรือผู้กองณัฏร์ อายุ 32 อดีตผบ.หมวด 426 กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 ( บก.ตชด.ที่ 42) จ.นครศรีธรรมราช ช่วยราชการ ตชด.41 จ.ชุมพร ที่เป็นข่าวคึกโครมเพราะตกเป็นผู้ต้องหาในคดียัดยาเสพติดหลายคดี โดยขณะนี้ถูกพิพากษาจำคุกอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง
ผู้กองณัฏร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เคยรับรู้ว่าตำรวจจะใช้วิธีลดของกลาง หรือซอยคดีเพื่อรับรางวัลสินบนนำจับ เนื่องจากการเบิกจ่ายสินบน/รางวัลแต่ละครั้งมีระยะเวลานาน จึงอาจไม่คุ้มค่าที่จะใช้วิธีการเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม จะมีกรณีที่ตำรวจกลายเป็น “ผู้คุ้มครอง” ให้กับผู้ค้ายาเสียเอง โดยจะรับเงินตอบแทนจากแก๊งยาที่ดูแลอยู่ แลกกับการไม่จับกุม หรือแจ้งข้อมูลข่าวสารบางอย่างให้ แต่เชื่อว่าตำรวจเหล่านี้มีส่วนน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ก็มีตำรวจสายสืบที่คอยหาข่าวยาเสพติด บางครั้งก็อาจเสพยากับขบวนการเพื่อความแนบเนียน จนบางครั้งสายสืบเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ติดยาเสียเอง
ตำรวจปัดทุจริตเบิกสินบน
ด้าน พ.ต.อ.สมศักดิ์ หน่องพงษ์ ผกก.ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอท.) ในฐานะชุดปราบปราบยาเสพติดของหน่วย ซึ่งมีประสบการณ์คร่ำหวอดจากการอยู่ในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมานานกว่า 10 ปี ระบุว่าในความเห็นส่วนตัว เชื่อว่าการทุจริตรับเงินค่าสินบน หรือรางวัลนำจับในคดียาเสพติดนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะต้องทำเอกสารชี้แจงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจับกุม การขยายผล ซึ่งมีความซับซ้อน ยากลำบากในการทำเอกสารให้น่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐ ไปรับสินบนจากขบวนการค้ายาเสพติด เพื่อให้ยอมปล่อยตัวหรืออำนวยความสะดวกในเรื่องบางอย่างมากกว่า
“ตำรวจที่คลุกคลีในการสืบสวนจับกุมยาเสพติดเข้านานๆ จะมีสายลับเป็นของตัวเอง บางครั้งก็ต้องปลอมตัวเข้าไปอยู่ในขบวนการยาเสพติด จนซึมซับวิธีการต่างๆ รวมถึงการหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองด้วยวิธีการที่ผิด หลายครั้งที่มีการจับกุมให้เห็นเป็นข่าว สิ่งเหล่านี้นับว่าน่ากลัวยิ่งกว่า” พ.ต.อ.สมศักดิ์ กล่าว
ชี้เงินรางวัลแรงจูงใจเจ้าหน้าที่
พ.ต.อ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ชุดทำงานยาเสพติดแต่ละคน ถือว่าต้องเสียสละ เพราะต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงในการทำงาน ขณะที่รายได้ ค่าตอบแทนและสวัสดิการมีน้อยมาก ดังนั้น เงินสินบนและรางวัลนำจับ จึงเป็นแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต รัฐบาลจะมีนโยบายยกเลิกเงินในส่วนนี้ไป เห็นว่าควรเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามยาเสพติดแทน แต่โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่างบประมาณส่วนนี้ยังจำเป็นต้องมีต่อไป
“สายลับ” รับเงินแค่หลักพัน
ขณะที่หญิงสาววัยรุ่นที่เป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยงานหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เปิดเผยว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว สายลับจะรับเงินการทำงานล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ครั้งละ 2-3 พันบาท แลกกับข้อมูลข่าวสาร ต่อมาหากมีการจับกุม อาจได้เงินอีกส่วนหนึ่ง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนยาเสพติด อย่างไรก็ตาม เงินสินบนนำจับนั้นจะไม่เคยได้รับหรือล่วงรู้ เพราะเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบ
ส่วนแหล่งข่าวจากกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ให้ข้อมูลว่า จะเป็นที่รู้กันระหว่างตำรวจกับสายลับ ว่าหากนำข้อมูลมาให้ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องนำไปสู่การจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ สายลับก็จะได้รับเงินค่าข่าวล่วงหน้าไปก่อน ซึ่งเป็นเงินกองกลางในแต่ละหน่วยที่เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน หากจับกุมสำเร็จก็จะใช้เงินอีกก้อนหนึ่งไป ส่วนการเบิกเงินสินบนนำจับที่ได้มานั้น เจ้าหน้าที่จะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาข่าวคดีต่อไป
ด้าน พ.ต.ท.พงศธร พงศ์รัชตนันทน์ สว.สส.สน.บางกอกใหญ่ กล่าวว่า การทำงานของชุดปราบปรามยาเสพติดในแต่ละท้องที่ ถือเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยง เป็นงานที่จำเป็นต้องใช้สายลับในการหาข่าวกลุ่มผู้ค้ายา เพื่อนำไปสู่การสืบสวนจับกุม ดังนั้น จึงต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับสายในการแจ้งข่าวสาร รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่านมลูก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเองก็ไม่เคยทำเรื่องเบิกเงินรางวัลนำจับหรือสินบน เพราะมีคดีในแต่ละวันเกิดขึ้นจำนวนมาก และเป็นคดีที่ยิบย่อยจนไม่มีเวลาไปทำเอกสารเบิกจ่ายเหล่านี้ จะแตกต่างจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดโดยตรง ที่ทำงานเป็นระบบและขั้นตอนมากกว่า
ป.ป.ส.ทุ่มงบปกป้องเยาวชน
ด้านนายณรงค์ รัตนานุกูล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวถึงยอดเงินสินบน-รางวัล ที่มียอดจ่ายกว่า 344 ล้านบาทในช่วง 5 ปีว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของยาเสพติดถือว่าสูงมาก ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการจับกุมยาบ้าถึง 47 ล้านเม็ด ยาไอซ์อีกกว่า 700 กิโลกรัม โดยเงินสินบนและรางวัลนำจับ ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะงานปราบปรามยาเสพติดเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่เงินค่าตอบแทนยังน้อยมาก
“ผมมองว่าเงินรางวัลที่ ป.ป.ส.จ่ายบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ในการทำงาน ถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับอนาคตของเด็กและเยาวชนของชาติที่ต้องเสียไปเพราะยาเสพติด ยาบ้า 1 เม็ด ยาไอซ์ 1 กรัมมันไม่ได้ทำลายเยาวชนแค่คนเดียว ดังนั้น ผมถือว่าเงินดังกล่าวคุ้มค่ากับการจ่ายออกไป เพื่อกระตุ้นการปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง”
ยันมาตรการป้องกันทุจริตรัดกุม
นายณรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ส.เอง มีระเบียบการเบิกจ่ายเงินสินบน เงินรางวัลที่รัดกุมเพื่อป้องกันทุจริต อาทิ การส่งเงินผ่านบัญชี โดยไม่ให้เบิกเงินแทนกัน หรือสายลับแต่ละคน ต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชาในแต่ละหน่วยงาน โดยที่ผ่านมา ไม่เคยตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายสินบนหรือเงินรางวัลแต่อย่างใด
นายณรงค์ ยังให้ความเห็นกรณีหากในอนาคต รัฐบาลอาจพิจารณาปรับลดหรือยกเลิกเงินสินบน-รางวัล เหมือนกรณีของกรมศุลกากร เพื่อป้องกันปัญหาทุจริต คอรัปชั่น โดยระบุว่า กรณีนี้ก็คงต้องยกข้อดีข้อเสียมาพิจารณากันให้ชัดเจน โดยดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นสำคัญ “หากมีการยกเลิกเงินสินบน รางวัลนำจับยาเสพติด ผมอยากขอให้เพิ่มเงินเดือนผู้ปฏิบัติงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ค่าตอบแทนของชุดปราบปรามยาเสพติดทุกวันนี้มันน้อยมาก ขณะที่ความเสี่ยงในการทำงานมีสูง ข้าราชการจะเอาแรงจูงใจจากไหนมาทำงาน ดังนั้น ขอให้พิจารณาถึงเหตุผลและความเป็นจริงอย่างรอบด้าน”
ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากรให้ ครม.รับทราบ โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีระบบการให้เงินสินบนและเงินรางวัลจากส่วนแบ่งค่าปรับในอัตราที่สูงมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบน และยังก่อให้เกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำตามหน้าที่ ป.ป.ช.จึงเสนอมาตรการแก้ไข โดยมาตรการระยะยาว ให้แก้กฎหมายปรับลดเงินสินบนและรางวัลนำจับลงให้เหมาะสม โดยกำหนดเพดานสูงสุดของเงินสินบนและรางวัล เป็นต้น ขณะที่มาตรการระยะสั้น เสนอให้กรมศุลกากรกำหนดหลักเกณฑ์ลักษณะความผิดให้ชัดเจน ป้องกันปัญหาการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายหาประโยชน์ รวมทั้งสร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลพิกัดอัตราภาษีให้มาอยู่ในจุดเดียวกัน เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
เผยงบ ป.ป.ส.5ปีรับ9.8พันล้าน
สำนักข่าวอิศรา ได้ร้องขอข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พบว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรของ ป.ป.ส.ในปี 2551-2555 มีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ ในช่วง 5 ปี พบว่า ป.ป.ส.ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น เป็นเงิน 9,822,774,800 บาท โดยปี 2555 ถือว่าได้รับงบประมาณมากที่สุด 2,252,828,200 บาท (ตาราง 4)
ตาราง 4
สำนักงาน ป.ป.ส. |
2551 |
2552 |
2553 |
2554 |
2555 |
1,920,354,600 |
1,982,907,900 |
1,789,457,500 |
1,877,226,600 |
2,252,828,200 |
เปรียบเทียบงบยุค ปชป.-พท.
เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2553 ที่ ป.ป.ส.ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุดนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ที่บริหารประเทศในขณะนั้น ได้ระบุรายละเอียดไว้ในผลงาน 2 ปีของรัฐบาลว่าการปราบปรามยาเสพติดได้ผลเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2554 – 2555 ช่วงเวลาที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศ งบประมาณของ ป.ป.ส.ก็ได้รับสูงขึ้นตามมา โดยปี 2555 ได้รับจัดสรรงบกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์
พบบัญชีจ่ายสินบนล่องหน230ล.
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้ขอตรวจสอบสถิติการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลคดียาเสพติด จำแนกตามปีงบประมาณ ตั้งแต่ 2551-2555 พบว่าหน่วยงานที่จ่ายเงินสินบนหรือรางวัลนำจับสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ ป.ป.ส.กรุงเทพฯ มียอดรวมจ่ายเงินสินบนในช่วง 5 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 301,497,029 บาท ลำดับสองคือ ป.ป.ส.ภาค 5 (รับผิดชอบภาคเหนือตอนบน) มียอดเงิน 150,662,790 บาท และลำดับ 3 คือ ป.ป.ส.ภาค 6 (รับผิดชอบภาคเหนือตอนล่าง) ยอดเงิน 32,325,729 บาท(ตาราง 5)
ตาราง 5
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดการเบิกจ่ายเงินจาก ตารางที่ 2 และตารางที่ 5 ซึ่งจำแนกการจ่ายเงินลงลึกในแต่ละหน่วยงานของ ป.ป.ส.กลับไม่ตรงกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีความคลาดเคลื่อนในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อลองคำนวณยอดส่วนต่างการเบิกจ่ายที่หายไปนั้น (ตาราง 5 – ตาราง 2 หรือ 576,307,471 - 344,509,318) จะพบว่ามียอดคำนวณที่หายไปคือ 231,798,153 บาท
แก้กม.เพิ่มสินบนสายลับ2ล้าน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้ลงนามในประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดอัตราการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ.2556 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสินบนคดียาเสพติด โดยคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ในยาเสพติดชนิดต่าง ๆ
ที่น่าสนใจ คืออัตราการจ่ายเงินสินบนตามปริมาณสารบริสุทธิ์ หรือจำนวนยาเสพติดทุกชนิด เมื่อพิจารณารวมกันแล้ว ให้จ่ายคดีละไม่เกิน 2,000,000 บาท
ด้านนายณรงค์ ที่ปรึกษา ป.ป.ส. ให้ความเห็นว่าสำหรับการปรับปรุงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลคดียาเสพติดดังกล่าว เป็นการปรับปรุงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับสายลับ เนื่องจากที่ผ่านมาเกณฑ์อัตราสินบนยาเสพติดแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน เช่น ยาบ้าจะมีอัตราสินบนสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคดี ขณะที่ยาไอซ์มีอัตราสินบนสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้มีเกณฑ์มาตรฐานการจ่ายเงินที่ชัดเจนมากขึ้นจึงได้กำหนดอัตราการจ่ายสินบนใหม่ให้เท่าเทียมกันคือจ่ายอัตราสูงสุดคดีละไม่เกิน 2 ล้านบาท และอยู่ภายใต้กรอบของวงเงินงบประมาณที่พิจารณาแล้วว่าต้องเพียงพอต่อการใช้จ่าย ไม่ได้มากเกินไป
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่างบประมาณที่จัดสรร เพื่อใช้ปราบปรามยาเสพติดในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกัน กระบวนการบริหารงบประมาณของ ป.ป.ส. กลับมีช่องว่างที่เอื้อให้เกิดการทุจริตได้ อย่างเช่นกรณีการเบิกจ่ายสินบนให้กับสายลับ โดยล่าสุด เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มเงินสินบนเป็น 2 ล้านบาทต่อคดี
แม้จะรู้กันดีว่า ป.ป.ส. จำเป็นต้องปกปิดข้อมูลของสายลับ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัย แต่ก็ไม่มีใครออกมายืนยันถึงความโปร่งใสในการเบิกจ่าย
ดังนั้น ภาครัฐที่กำกับดูแลหน่วยงาน ป.ป.ส. จึงจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันการทุจริต ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ขณะที่ ป.ป.ส.เอง ก็ต้องพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อความโปร่งใสเช่นเดียวกัน.