- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- อสังหาฯบูมที่ชายแดนใต้ (2) "ปัตตานี จายา" วิถีชีวิต ศาสนา และอภิมหาโปรเจค
อสังหาฯบูมที่ชายแดนใต้ (2) "ปัตตานี จายา" วิถีชีวิต ศาสนา และอภิมหาโปรเจค
"ปัตตานี จายา เมืองแห่งสันติ เพื่อชีวิตที่ดี" เป็นข้อความประชาสัมพันธ์บนภาพถ่ายแบบบ้านจัดสรรอันสวยงาม มองเผินๆ เหมือนบ้านที่ปลูกขายกันตามชานกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา แต่ป้ายประชาสัมพันธ์ที่ว่านี้กลับติดตั้งเรียงรายริมถนนสายนราธิวาส-ปัตตานี...ใครจะคิดว่าโครงการแบบนี้จะผุดขึ้นที่ชายแดนใต้
โครงการ "ปัตตานี จายา" ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ ขยับจากตัวเมืองปัตตานีมาไม่ไกลในย่านที่เรียกว่า "บานา" สิ่งปลูกสร้างในโครงการประกอบด้วย โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้า และโซนที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คือบ้านจัดสรร
ความยิ่งใหญ่อลังการของโครงการดึงความสนใจของผู้ที่สัญจรผ่านไปมามิใช่น้อย เพราะ "ปัตตานี จายา" ประกาศตัวว่าจะเป็น "เมืองใหม่ปัตตานี" ทว่าท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบดังที่เห็นและเป็นอยู่ ย่อมทำให้หลายคนคิดว่า "ปัตตานี จายา" จะกลายเป็นเมืองต้นแบบที่นำพาสันติสุขให้กับคนพื้นที่ได้จริงดังคำโฆษณาหรือ?
ปี 2552 กลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งได้เปิดตัวโครงการ "ปัตตานีเพลส" ด้วยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาทจนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว แต่มาวันนี้เสียงฮือฮาดังยิ่งกว่าเมื่อ "ปัตตานี จายา" เปิดตัวด้วยเม็ดเงินลงทุนระดับพันล้าน แม้รูปแบบโครงการจะแตกต่างจาก "ปัตตานีเพลส" แต่เป้าหมายหลักก็ยังเหมือนกัน นั่นคือจับประเด็นเรื่อง "การศึกษา" เพราะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษายัง "ไปต่อได้" ไม่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร และการศึกษานี้เองที่จะเป็นตัวชี้ขาดความสงบสุข
ที่สำคัญ...ปรากฏการณ์ "ปัตตานี จายา" มาจากการรุกคืบของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่มี ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เป็นอธิการ
ทำไมต้องปัตตานี
ซาฟีอี บารู ประธานบริษัทปัตตานีจายา โฮลดิ้ง จำกัด เล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาคิดจะตอบแทนสังคมให้มากขึ้น หลังจากเปิดการเรียนการสอน 4 คณะมาตลอด 14 ปี และมีกระแสการตอบรับจากสังคมค่อนข้างดี แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ใน ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้อีกแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ใหม่
"ในหมู่ผู้บริหารเห็นว่าควรจะขยายมหาวิทยาลัยใหม่ และเปิดสอนสาขาวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องสถานที่ก็มาลงตัวที่หมู่ 4 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ไม่ไกลจากตัวเมืองปัตตานีมากนัก"
ซาฟีอี บอกว่า มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีแนวคิดอุดมการณ์สันติ จึงคิดต่อว่าน่าจะมีชุมชนหรือสังคมที่เป็นตัวอย่างด้วย ว่าชุมชนหรือสังคมที่อยู่กันอย่างสันตินั้นเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นสื่อที่สามารถจับต้องได้บ้าง ก็เลยมาลงตัวที่โครงการปัตตานี จายา
"ที่เลือกปัตตานี เพราะมองว่าเป็นพื้นที่ที่คุณสมบัติพิเศษและมีศักยภาพในด้านต่างๆ สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของจังหวัด มีความเหมาะสมและความพร้อมในการที่จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของภูมิภาค เช่น ศูนย์กลางพาณิชย์นาวี อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ศูนย์กลางด้านศาสนาและการศึกษาอิสลาม"
แหล่งทุนจากที่ไหน
ปัตตานี จายา (Pattani Jaya) เป็นภาษามลายู แปลเป็นไทยว่า "ความสำเร็จ " ถือเป็นชื่อที่คนในพื้นที่ฟังแล้ว "เก็ต" แต่ความหมายของโครงการยังมีมิติที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น
ซาฟีอี เล่าว่า ความใส่ใจของโครงการเริ่มตั้งแต่ปรัชญาการออกแบบอาคาร
"เราได้รับอิทธิพลและแนวคิดจากมัสยิดนะบะวีย์ที่นครอัลมาดีนะฮ์ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเอกของโลกที่บันดาลสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติ ด้วยสภาพปัญหาที่กำลังรุมเร้าสังคมบ้านเราอยู่ในปัจจุบัน จึงนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งหากเราสามารถแปลงวิกฤตินี้ให้กลายเป็นโอกาสในการจรรโลงสังคมสันติภาพที่ถอดแบบจากนครมาดีนะฮ์ตุสสลามมาใช้ในพื้นที่สามจังหวัด"
ซาฟีอี บอกว่า โครงการปัตตานี จายา ใช้พื้นที่ทั้งหมด 1,300 ไร่ แบ่งเป็นหมู่บ้านจัดสรร 500 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้เป็นการสร้างเพื่อขายและนำกำไรส่วนหนึ่งคืนกลับธนาคาร พื้นที่อีก 800 ไร่เป็นสาธารณสมบัติวอกัฟ ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นโรงพยาบาล ศูนย์อิสลาม มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นก็จะมีศูนย์การค้าประเภทชอปปิ้งมอลล์และอาคารพาณิชย์ต่างๆ
"สำหรับที่ดิน ปัจจุบันเราซื้อมาแล้ว 1,100 กว่าไร่ เหลืออีกเกือบๆ 200 ไร่ที่ต้องซื้อเพิ่ม คิดว่าสุดท้ายน่าจะถึงเป้า โครงการทั้งหมดเราคาดว่าอย่างเร็วที่สุด 10-15 ปีจะแล้วเสร็จ อย่างน้อยจะต้องเกิน 70% ของโครงการ"
"ส่วนเรื่องแหล่งทุน 50 ล้านบาทแรกเพื่อซื้อที่ดินได้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามด้วยธนาคารอิสลามที่อนุมัติวงเงินอีก 600 ล้านบาท หลังจากซื้อที่ดินมาแล้วจึงเริ่มก่อสร้างโครงการโรงพยาบาลเป็นโครงการแรก ซึ่งต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 430 ล้านบาท เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มี 5 ชั้น 116 เตียง ตั้งเป้าเอาไว้ 2 ปีเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้"
ทั้งนี้ โรงพยาบาลในโครงการปัตตานี จายา ใช้ชื่อ ชีคกอซิม บินมูหัมมัด อาลษานีย์ เนื่องจากกระทรวงศาสนาสมบัติและสาธารณสุข ประเทศกาตาร์ บริจาคเงินสำหรับก่อสร้างจำนวน 215 ล้านบาท และเมื่อกลางปี 2555 ในพิธีวางศิลาฤกษ์ ก็มีผู้แทนกษัตริย์กาตาร์มาร่วมพิธีด้วย ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้วราว 30%
"งบประมาณรวมที่ต้องใช้จริงอยู่ที่ 400 กว่าล้านบาท ทราบมาว่าทางกระทรวงศาสนาสมบัติและสาธารณสุขของกาตาร์พร้อมจะช่วยโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลให้แล้วเสร็จ" ซาฟีอี กล่าว และว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ให้บริการตามระบบสากล แต่ที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากโรงพยาบาลทั่วไปคือ การดูแลคนไข้ตามหลักอิสลาม ฉะนั้นจึงสามารถรองรับลูกค้ามุสลิมในห้วงของการเปิดประชุมอาเซียนได้อย่างสบาย
ฮาลาลซิตี้
โครงการ "ปัตตานี จายา" มีแนวคิดหลักๆ อยู่ 2 ประการ คือ 1.นำเสนอชุมชนสันติที่สามารถสัมผัสได้ และ 2.สร้างชุมชนฮาลาล หรือ "ฮาลาลซิตี้"
"เราต้องการสร้างสังคมแบบอย่างท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอบายมุข ปราศจากสิ่งเสื่อมเสียทางสังคม เป็นการออกแบบสังคมให้มีเฉพาะสิ่งดีๆ ที่สามารถสัมผัสได้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนหมดชั่วอายุคน รวมทั้งเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมที่ต้องการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาวิถีชีวิตผู้คน ทำให้ช่วยลดปัญหาด้านอาชญากรรม ปัญหาความมั่นคง และก่อให้เกิดสันติภาพได้อย่างยั่งยืน" ซาฟีอี อธิบาย
บ้านจัดสรรในโครงการจะมีถึง 7 หมู่บ้าน รวมประมาณ 2,000 ยูนิต และน่าจะมีคนอยู่อาศัยมากถึง 10,000 คน
ซาฟีอี เล่าว่า พื้นที่ส่วนกลางของโครงการจะมีมัสยิดกลางที่จุคนละหมาดได้ 8,000 คน ออกแบบเหมือนมัสยิดนะบะวีย์ที่เมืองมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และทั้ง 7 หมู่บ้านจะมีมัสยิดประจำหมู่บ้านอีก 7 แห่ง ในส่วนของมัสยิดมีผู้บริจาคทั้งหมดแล้ว เป็นชาวอาหรับ 4 หลัง จากคนปัตตานี 3 หลัง ครอบครัวหนึ่งบริจาค 2 หลัง อีกครอบครัวหนึ่งบริจาค 1 หลัง
"ทุนสำหรับใช้ก่อสร้างบ้านจัดสรร ก็ใช้การบริหารจัดการเหมือนโครงการหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป คือเมื่อสร้างเสร็จ ผู้ซื้อก็ไปทำการกู้เงินจากธนาคาร เราก็จะได้เงินมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่เงินก้อนโตมากมาย ประมาณ 100 ล้านบาท คิดว่าน่าจะได้จากธนาคารอิสลามเป็นหลัก และกองทุนอิสลาม ตลอดจนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หลักๆ คือจะหาสถาบันการเงินที่ปราศจากดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องกับหลักอิสลาม"
หมู่บ้านแรกที่กำลังเริ่มก่อสร้างมีทั้งสิ้น 110 ยูนิต มีคนจองแล้ว 70 กว่ายูนิต ทำสัญญาไปแล้วจำนวนหนึ่ง ราคาบ้านยูนิตเล็กที่สุดเริ่มที่ 1.8 ล้านบาท ลักษณะบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวหรือบ้านแฝด ส่วนแบบทาวน์เฮาส์ และในโครงการจะมีโรงเรียนระดับอนุบาลซึ่งจะขยายไปสู่โรงเรียนนานาชาติด้วย
"เราเชื่อว่าเมื่อโครงการนี้เสร็จ ความคิดของคนในพื้นที่สามจังหวัดจะเปลี่ยนไป คนจะพร้อมมาอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลจากอบายมุขทั้งปวง รวมทั้งโซนพาณิชย์ก็จะอยู่ในคอนเซปต์ฮาลาลซิตี้ จะไม่มีของมึนเมา ยาเสพติด ซึ่งเราได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการแล้ว"
เป้าหมายที่ไม่ใช่กำไร
หากมอง "ปัตตานี จายา" ในแง่ของ "อภิมหาโปรเจค" ก็จะมีคำถามถึงโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งไม่ใช่แค่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนในประเทศที่ใช้เศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีและแสวงหากำไรเต็มรูปแบบอย่างประเทศไทยด้วย
ซาฟีอี ให้ทัศนะว่า การลงทุนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมาไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคม เรามีประชากรที่เป็นมุสลิมถึงกว่า 80% แต่คนที่ทำธุรกิจจริงๆ กลับไม่ใช่คนมุสลิม ถ้าเป็นธุรกิจของคนมุสลิมก็เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
"วันนี้ทรัพยากรบุคคลที่เป็นมุสลิมมีความรู้มากมาย จบต่างประเทศก็เยอะ มีไอเดียดีๆ เกี่ยวกับธุรกิจการค้า แต่เมื่อคิดจะประกอบธุรกิจจริงๆ ก็ติดปัญหาที่สถาบันการเงินไม่เปิดช่องให้ โดยเฉพาะกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ แถมยังปิดเป็นความลับ ด้วยเหตุนี้ทำให้ธุรกิจของคนมุสลิมจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มหนึ่ง"
“สำหรับโครงการปัตตานี จายา สาเหตุที่เรามั่นใจเพราะของเราเป็นเรื่องการศึกษานำ มุ่งประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้เน้นแข่งขันเชิงธุรกิจ เราจึงมั่นใจที่จะลงทุนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้ลงทุนเพื่อแสวงหากำไร อย่าลืมว่าพื้นที่ 800 ไร่เป็นของกลาง เป็นสาธารณสมบัติ มีเพียง 500 ไร่เท่านั้นที่จะขาย หากหวังผลถึงกำไรถามว่าจะคุ้มหรือ"
"เมื่อหาเงินซื้อที่ดินและคืนให้กับธนาคารหมด ก็ถือว่าเสร็จสิ้น ส่วนการก่อสร้างต่างๆ จะเป็นในรูปของการลงทุนให้เขาเช่าแล้วเรียกทุนคืน โครงการนี้ไม่ได้หากำไร เพราะฉะนั้นสังคมข้างนอกถามว่ามีความมั่นใจแค่ไหนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ บอกได้เลยว่าโครงการนี้ไม่ใช่ธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ เราลงทุนไม่ได้หากำไร แต่เน้นเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาสังคม เราเริ่มจากสร้างโรงพยาบาล สร้างมัสยิด สร้างบ้าน และตามต่อด้วยเปิดโซนธุรกิจ เพราะจะเป็นการสร้างมูลค่าเพื่อดึงดูดคนมาซื้อบ้าน แล้วก็สร้างสังคมใหม่ให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง"
และนี่คือฝันใหญ่ๆ ของ "ปัตตานี จายา" อภิมหาโปรเจคชายแดนใต้!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 6 โครงการ "ปัตตานี จายา" ที่กำลังก่อสร้างอย่างขะมักเขม้น
2 ซาฟีอี บารู
3 โมเดลโรงพยาบาล สิ่งปลูกสร้างแรกที่จะแล้วเสร็จก่อนส่วนอื่นๆ
4 ที่ตั้งโครงการ
5 และ 7 ตัวอย่างบ้านจัดสรร (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)
อ่านประกอบ : อสังหาฯบูมที่ชายแดนใต้ (1) "ปัตตานีเพลส" กับแลนด์มาร์คใหม่ "วาว บูลัน มอลล์"
หมายเหตุ : สกู๊ปชุด "อสังหาฯบูมที่ชายแดนใต้" ตอนที่ 2 นี้ นำเสนอห่างจากตอนที่ 1 ค่อนข้างนาน เพราะศูนย์่ข่าวอิศราต้องเกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้ช่วงปลายปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงหลายเหตุการณ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะการลอบสังหารครูอย่างต่อเนื่อง จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่รอติดตามมา ณ ที่นี่ด้วย