- Home
- Isranews
- เกาะประเด็น
- 'สรรพากร' บุก “จันทร์ส่องหล้า” แจ้ง “ทักษิณ” จ่ายภาษีหุ้นชินฯ 17,629 ล้าน
'สรรพากร' บุก “จันทร์ส่องหล้า” แจ้ง “ทักษิณ” จ่ายภาษีหุ้นชินฯ 17,629 ล้าน
เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จ่ายภาษี 17,629.58 ล้านบาท หากชักดาบจ่อยึดทรัพย์จ่ายให้ครบแน่
สรรพากร บุก จันทร์ส่องหล้า ปิดประกาศเรียกเก็บภาษี นายทักษิณ ชินวัตร แล้ว 17,629 ล้านบาท pic.twitter.com/dTwoVREybg
— Dhiravath Suantan (@ARMdhiravath) 28 มีนาคม 2560
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 11.40 น. เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) ของสำนักงานตรวจสอบภาษีกลาง กรมสรรพากร ประเมินภาษีเงินได้ นายทักษิณ ชินวัตร ประจำปีภาษี 2549 ตามมาตรา 20, 22, 27 และ 61 แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 17,629,585,191.00 ไปติดที่หน้าบ้าน หลังจากเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) นายทักษิณ ที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ไม่ส่งตัวแทนมารับทราบการประเมินภาษี จากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 329.2 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 49 ให้กลุ่มเทมาเส็ก
ทั้งนี้ หาก นายทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของกรมสรรพากร สามารถทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานประเมิน นอกจากนี้ หากไม่พอใจผลประเมิน ยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ นอกจากนี้ หากนายทักษิณ ไม่ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด กรมสรรพากรจะดำเนินการเก็บภาษีทันที และหากผู้เสียภาษีไม่มาชำระ กรมจะใช้อำนาจยึดทรัพย์ เช่น เงินฝาก และ อสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำมาชำระค่าภาษีให้ครบต่อไป
สำหรับรายละเอียดการคำนวณภาษี นายทักษิณ ปีภาษี 2549 ประกอบด้วย เงินได้พึงประเมิน รวมทั้งสิ้น 15,899,272,594.53 บาท หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึง 46 และค่าลดหย่อนเงินปันผลฯ ตามมาตรา 47 (1) (จ) แล้ว เหลือ 15,898,893,715.42 บาท หักเงินค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) 128,712.00 บาท หักค่าลดหย่อนเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) 1,486,500.34 จึงทำให้เงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษี 15,897,278,503.08 บาท
เมื่อเงินได้สุทธินำไปคำนวณ ร้อยละ 0.5 จากเงินได้พึงประเมิน (ไม่รวมถึงเงินได้ตามมาตรา 40 (1)) คิดเป็น 5,881,553,046.14 บาท หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เครดิตภาษีและภาษีที่ได้ชำระไว้แล้ว 5,024,649.04 บาท ภาษีที่ต้องชำระยังขาดไป 5,876,528,397.10 บาท บวก เบี้ยปรับ ตามมาตรา 22 5,876,528,397.10 บาท บวก เงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 คำนวณถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 รวม 120 เดือน จำนวน 5,876,528,397.10 บาท รวมภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 17,629,585,191.30 บาท