- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- "วีรพัฒน์" ยันเป็นนักกม.อิสระเต็มตัว ไม่เคยทำงานให้บ.ตระกูลชินวัตร
"วีรพัฒน์" ยันเป็นนักกม.อิสระเต็มตัว ไม่เคยทำงานให้บ.ตระกูลชินวัตร
"วีรพัฒน์" ยันเป็น นักกม.อิสระ เต็มตัว ไม่เคยทำงานให้เอไอเอส บริษัทในเครือตระกูลชินวัตร แต่ยอมรับเป็นที่ปรึกษา "พงศ์เทพ-เจริญ จรรย์โกมล" จริง แค่ช่วยงาน ไม่มีเงินเดือนตอบแทน ย้ำเป็นคนแรกที่กล้าพูดต่อหน้า "ยิ่งลักษณ์" ไม่สามารถออกกฎหมายนิรโทษ "ทักษิณ" ได้
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ส่วนตัว ของ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ พบว่ามีการระบุตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นเจ้าของธุรกิจบริษัทให้คำปรึกษากฎหมายบริษัทมือถือค่ายใหญ่แห่งหนึ่ง ขณะที่ ตนเองดำรงตำแหน่งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่รวมทั้งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบ การอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน และการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ระบบเดิม
อ่านประกอบใน : ค้นปูมหลัง “วีรพัฒน์” นักกม.อิสระ เจ้าของธุรกิจ-ที่ปรึกษาบิ๊กเพื่อไทย?
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ได้ตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในทุกประเด็น
โดยนายวีรพัฒน์ กล่าวชี้แจงว่า ประการแรกคำว่านักกฎหมายอิสระหมายความว่าประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยที่ไม่เป็นลูกจ้างประจำของใคร ฉะนั้นคำว่านักกฎหมายอิสระ หมายความว่าจะไปรับงานไปมีลูกค้าบริษัทห้างร้านหรือให้คำปรึกษาใครตนเป็นคนเลือกเองซึ่งการไปเข้าใจว่านักกฎหมายอิสระต้องไม่ทำงานให้ใครเลยเป็นการตีความที่จนปัญญามาก ตนจะทำงานให้ใครก็เป็นสิทธิ์ของตน เหมือนวิชาชีพแพทย์อิสระ เขาจะไปทำคลีนิครักษาใครก็เรื่องของเขา
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า เว็บไซต์ของตนเปิดเผยเอกสารนี้ชัดเจนแต่แรก เพื่อทำให้สังคมตรวจสอบได้ว่ามีที่มาอย่างไร มีประวัติอะไรบ้าง และตั้งใจเขียนให้ชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้สังคมทราบดีว่าทำงานอะไรบ้าง จึงไม่มีอะไรต้องปิดบัง
เมื่อถามว่าเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายเจริญ (จรรย์โกมล) ได้อย่างไร นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า อย่างแรกที่ปรึกษาคุณเจริญ เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน ไม่มีผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นเพราะว่าคุณเจริญ ต้องการหาวิธีการเรียกผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมมาคุยกัน ซึ่งถ้าย้อนดูข่าวจะเห็นว่า ตอนนั้นคุณเจริญ พยายามเชิญ เสื้อแดง นปช. เสื้อเหลือง เชิญผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหาย หาทางออกพูดคุยว่าจะแก้กฎหมายอย่างไร
“ในฐานะที่ผมติดตามกฎหมายนิรโทษกรรมมานานแล้ว และผมก็เห็นว่ามันเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม ผมเลยตอบรับคำขอร้องให้เข้าไปช่วย ฉะนั้นการเข้าไปช่วยเป็การเสียสละเข้าไปช่วย เพราะไม่มีเงินเดือนใด ๆ ทั้งสิ้น” นายวีรพัฒน์ กล่าว
นายวีรพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนั้นตอนตนไปช่วย คนที่โจมตีต่อว่าตนคือคนเสื้อแดง หาว่าจิตใจอำมหิต เพราะตนไปเสนอว่าการนิรโทษกรรมควรจัดกลุ่มให้ชัดเจน ไม่ควรนิรโทษพร้อมกันทั้งหมด แต่ควรมีการแยกแยะว่า ใครควรนิรโทษกรรมทันที ใครควรตั้งคณะกรรมการมาพิจารณากันก่อน
“ดังนั้นจึงเป็นตัวพิสูจน์ว่าผมเข้าไปทำงานโดยไม่มีเงินเดือน และแถมยังโดนคนเสื้อแดงด่าอีก ดังนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับการไปช่วยพรรคเพื่อไทย (พท.) เลย และที่หาว่าผมไม่อิสระ ก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้อยู่ข้างเสื้อแดง ก็ต้องบอกอย่างนั้น” นายวีรพัฒน์ กล่าว
นายวีรพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า วันที่ พท. ไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ตนคือคนแรกที่ออกมาวิจารณ์ รับประกันเลย เพราะทันทีที่คุณประยุทธ์ (ศิริพาณิชย์) เสนอร่างแก้ไขในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ทวิตเตอร์ออกเลยที่สำนักข่าวเนชั่น ว่าเป็นคนแรกที่โต้แย้งในเฟซบุ๊ค ไปท้าเลย และตนยังเขียนบทความโต้แย้ง พท. ว่ากฎหมายนั้นทำไม่ได้ลงหนังสือพิมพ์มติชนเต็มหน้า นอกจากนี้ยังเขียนบทความโต้แย้งเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) เป็นนายกฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ลงไว้ชัดเจน
“ถามว่าผมเข้าไปช่วยเพื่อไทยหรือไม่ ไม่เลยครับ ผมเข้าไปโต้แย้งเขา อันนี้เอาให้ชัด” นายวีรพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าเข้าไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายพงศ์เทพ (เทพกาญจนา) ได้อย่างไร นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นตำแหน่งที่เขาเรียกว่าพนักงานราชการ หมายความว่าเข้าไปช่วยงานในสังกัดสำนักนายกฯ เข้าไปช่วยงานในด้านกฎหมายที่ต้องการความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เช่น การปราบปรามการค้ามนุษย์
“ถามว่าผมไปช่วยทำไม เพราะผมเรียนกฎหมายที่สหรัฐอเมริกามา และสหรัฐฯ เขาอ้างข้อกฎหมายสหรัฐฯ ให้ประเทศไทยปราบปรามการค้ามนุษย์ คุณพงษ์เทพรู้ว่าผมเรียนกฎหมายที่สหรัฐฯ ก็เลยให้ไปช่วย ผมเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชน ก็เข้าไปช่วย และการปราบปรามการค้ามนุษย์ มันไม่เกี่ยวกับการเมือง” นายวีรพัฒน์ กล่าว
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช,) ส่งความเห็นมายังรัฐบาล บอกให้ดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยราคากลาง คุณพงษ์เทพก็ให้ช่วยดูว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตาม ป.ป.ช มากน้อยแค่ไหน ตนก็เสนอไปว่า คำแนะนำของ ป.ป.ช มันไม่ผูกมัด รบ ตามกฎหมาย แต่สิ่งใดที่รัฐบาลทำได้ก็ควรจะทำ และความเห็นนี้ตนพูดในสื่อมาตั้งหลายครั้งไม่มีใครสนใจ
“เวลาผมเสียสละเวลาส่วนตัวไปช่วยงานที่ไม่มีเงินเดือน หรือไปช่วยงานส่วนรวม เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ บอกไปเลยว่า ค่าตัวผม เวลาผมไปทำงานส่วนตัว รายได้ผมเป็นหมื่นบาทต่อวัน ถ้าผมทำงานเต็มเวลา ฉะนั้นผมเอาเวลาไปทำงานให้ส่วนรวมคือผมขาดทุน นอกจากนี้ผมยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา แต่เวลาผมวิจารณ์สื่อไม่สนใจ สื่อสนใจเฉพาะผมไปวิจารณ์ศาล พรรคฝ่ายค้าน คุณสุเทพ” นายวีรพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าที่รับเป็นที่ปรึกษาของบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง เปิดเผยได้หรือไม่ว่าคือบริษัทอะไร นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ อันนี้เป็นความลับลูกความ แต่ตอบได้ว่าไม่ใช่ เอไอเอส เป็นลูกความส่วนตัวไม่เกี่ยวกับเอไอเอส ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวกับเอไอเอส หรือเครือใด ๆ ของตระกูลชินวัตรเลย ไม่มีแม้แต่อย่างเดียว
“และถ้าผมไม่เกี่ยวกับเอไอเอส แสดงว่าผมกำลังทำงานให้กับคู่แข่งของเอไอเอส ฉะนั้นก็ยิ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยรัฐบาลได้อย่างชัดเจน” นายวีรพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าเมื่อเป็นคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้วไปรับที่ปรึกษาบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง มีคนมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า การเข้าไปตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ตนเข้าไปในฐานะคนให้ความเห็นของคนที่มีประสบการณ์ภาคเอกชน ฉะนั้นถามว่าคนที่อยู่ในคณะอนุกรรมาธิการฯ มีใครบ้าง ก็มีอัยการฝ่ายรัฐ ถามว่าอัยการฝ่ายรัฐ เคยให้คำปรึกษาแก่ใคร ก็ให้คำปรึกษาแก่รัฐวิสาหกิจผู้ให้สัมปทาน
“ถ้าเกิดบอกว่าอัยการเป็นคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ ซึ่งเต็มไปหมด ก็แสดงว่าขัดกับผลประโยชน์ เพราะอัยการนั้นเคยทำงานให้กับรัฐวิสาหกิจ ทำไมผมซึ่งเคยทำงานให้กับบริษัทเอกชนจึงให้ความเห็นไม่ได้ หลักการของอนุกรรมาธิการฯ เป็นหลักการว่า ต้องมีความเห็นหลากหลาย ไม่ใช่คนใดคนเดียวกุมเสียง” นายวีรพัฒน์ กล่าว
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญวันแรกที่คณะอนุกรรมาธิการฯ เรียกประชุม ตนได้แจ้งในที่ประชุมแล้วว่าทำงานภาคเอกชน เคยเข้าไปให้คำปรึกษาแก่บริษัทเอกชน ในที่นั้นก็มีคณะอนุกรรมการฯ บางท่านก็เคยเป็นผู้บริหารในกลุ่มสื่อบริษัทสื่อสารมวลชน มีอัยการที่เคยให้คำแนะนำกับรัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม
นายวีรพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ คือความจนปัญญาที่จะมาดิสเครดิต เพราะเขาเห็นว่าเหตุผลที่ตนแสดงออกมาช่วงหลังมันหนักแน่นและโต้แย้งในเหตุผลไม่ได้ เขาไม่สามารถโต้แย้งหลักกฎหมายได้ แต่เขาก็เลยต้องไปขุดคุ้ยหาวิธีการมาลดความน่าเชื่อถือ และก็จะถูกฟ้องด้วยการที่ไปขุดคุ้ยข้อมูลเหล่านี้มา และถ้าบอกว่าตนไม่อิสระ แล้วทำไมวันนี้ถึงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในอีกหลาย ๆ เรื่อง แต่คุณไม่ฟัง
“ถามว่าผมเลือกข้างไหม ผมไม่เลือกข้าง แต่ถ้าถามว่าผมถูกเลือกข้างให้หรือไม่ ผมถูกสื่อเลือกข้างให้ ผมถูกประชาชนไปหาว่าผมเข้าข้างโน้น เข้าข้างนี้” นายวีรพัฒน์ กล่าว
นายวีรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนกรณีไปออกรายการแล้วบอกว่าเป็นนักกฎหมายอิสระนั้น ตนถือว่าไปแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัว ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะที่ปรึกษาของใคร หรือพรรคการเมืองไหน หรือว่าเป็นทนายความให้ใคร และยืนยันว่าไม่มีอำนาจพูดแทนรัฐบาล
“ผมเคยถูกเชิญไปบรรยายที่การประชุม พท. เมื่อมกราคม 2556 บรรยายต่อหน้าสมาชิก พท. และคุณยิ่งลักษณ์ ผมเป็นคนแรกและเชื่อว่าเป็นคนเดียวเท่านั้นที่กล้าพูดในที่ประชุมพรรค ว่าไม่สามารถนิรโทษคุณทักษิณได้ ถามว่ามีใครในโลกนี้ที่กล้าไปพูดแบบนี้ในที่ประชุมพรรค และพูดต่อหน้าน้องสาวของทักษิณ ถามว่าเรื่องแบบนี้สื่อมวลชนสนใจหรือไม่ มีคนพูดหรือไม่ว่าวีรพัฒน์ไม่เอานิรโทษทักษิณ ดังนั้นเรื่องนี้ผมขอความเป็นธรรม” นายวีรพัฒน์ กล่าว