เจาะ รร."นครแพร่ทาวเวอร์" ไขปม "นายกเทศมนตรี" ลดภาษีเอื้อธุรกิจครอบครัว?
เปิดตัว รร. "นครแพร่ทาวเวอร์" ธุรกิจครอบครัว "โชคชัย พนมขวัญ" นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ย้อนข้อมูลรายได้ค่าเช่าห้องพัก 5 ปี ไขปมลดภาษีเอื้อธุรกิจครอบครัว ก่อนโดน ม.44 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการสอบสวนการใช้อำนาจลดการจัดเก็บภาษีโรงเรือนให้กับโรงแรมของคนในครอบครัว นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในขณะนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร
ภายหลังจากที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการสอบสวนไปแล้ว และพบว่าการดำเนินการของนายโชคชัย พนมขวัญ มีลักษณะส่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจคนในครอบครัวอันเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ชื่อของนายโชคชัย พนมขวัญ ปรากฎร่วมอยู่ในกลุ่มข้าราชการและนักการเมือง 71 ราย ที่ถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่ง ที่ 19 /2558 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : "โชคชัย พนมขวัญ"รับเป็นนายกเทศมนตรี "ช" ถูกสอบปมลดภาษีให้รร.ครอบครัว)
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎชัดเจนในขณะนี้ คือ บริษัท รัตนบรรจง จำกัด เจ้าของโรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์ ที่คนในครอบครัวนายโชคชัย พนมขวัญ ถือหุ้นอยู่ และถูก สตง.ตรวจสอบพบว่า ได้รับการลดการจัดเก็บภาษีโรงเรือนโดยไม่ถูกต้อง นั้น เพิ่งนำส่งงบการเงินแสดงรายได้จากการให้บริการห้องพักล่าสุด ปี 2557
โดยแจ้งตัวเลขอยู่ที่ตัวเลข 16 ล้านบาท ขณะที่รายได้ห้องพักในช่วงปี 2554 ที่นายโชคชัย ระบุว่า โรงแรมได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม มีรายได้อยู่ที่ตัวเลข 14 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้ในช่วงปี 2553 และ 2555
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท รัตนบรรจง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 ทุนจดทะเบียน 13 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถนนเหมืองหิต ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
แจ้งประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด
ปรากฎชื่อ นายสามชัย พนมขวัญ (พี่ชายนายโชคชัย) และนายสามขวัญ พนมขวัญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 มีจำนวน 6 ราย นายสามขวัญ พนมขวัญ ถือหุ้นใหญ่สุด 6,490 หุ้น มูลค่า 6,490,000 บาท , นายเนวิน พนมขวัญ และนายสามชาย พนมขวัญ ถืออยู่เท่ากัน 3,245 หุ้น มูลค่า 3,245,000 บาท , นางศศิพร พนมขวัญ ถืออยู่ 10 หุ้น มูลค่า 10,000 บาท ,นางสุญานี พนมขวัญและ นางสุรางค์ จีระศิริ ถืออยู่คนละ 5 หุ้น มูลค่ารวม 10,000 บาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 บริษัท รัตนบรรจงฯ ได้นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ระบุว่า มีรายได้ค่าเช่าห้องพัก 16,203,941.46 บาท มีต้นทุนบริการ 13,497,677.52 บาท ขาดทุนสุทธิ 824,150.38 บาท
มีภาษีเงินได้ค้างจ่าย 28,043.38 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลงบการเงินในช่วงปี 2554 ของ บริษัท รัตนบรรจงฯ ที่นายโชคชัย ระบุว่า โรงแรมได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมปี 2554
พบว่า มีการแจ้งรายได้ค่าเช่าห้องพักอยู่ที่ 14,713,412.97 บาท มีต้นทุนบริการ 12,144,782.34 บาท ขาดทุนสุทธิ 190,460.67 บาท
เมื่อนำมาเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงปี 2553 และ 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและหลัง ในปี 2554 พบข้อเท็จจริงดังนี้
ในช่วงปี 2553 บริษัทฯ แจ้งว่ามีรายได้ค่าเช่าห้องพัก 14,569,325.18 บาท มีรายจ่ายรวม 14,287,250.98 บาท กำไรสุทธิ 195,192.57 บาท
เปรียบเทียบเฉพาะรายได้ค่าเช่าห้องพัก ระหว่าง ปี 2553 และปี 2554 พบว่ารายได้ปี 2553 ต่ำกว่ารายได้ค่าเช่าห้องพักในปี 2554 ประมาณ 1.4 แสนบาท
ในช่วงปี 2555 แจ้งว่ามีรายได้ค่าเช่าห้องพัก 14,495,731.07 บาท มีต้นทุนบริการ 10,826,758.49 บาท กำไรสุทธิ 87,859.19 บาท
เปรียบเทียบเฉพาะรายได้ค่าเช่าห้องพัก ระหว่างปี 2555 และปี 2554 พบว่ารายได้ปี 2555 ต่ำกว่ารายได้ค่าเช่าห้องพักในปี 2554 ประมาณ 2.1 แสนบาท
ชี้ให้เห็นว่า รายได้ค่าเช่าห้องพักของโรงแรมฯ ในปี 2554 สูงกว่ารายได้ค่าเช่าห้องพักของโรงแรมฯ ในปี 2553 และ 2555 (ดูตารางท้ายข่าวประกอบ)
ขณะที่ปี 2554 นายโชคชัย ระบุว่า โรงแรมได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และได้รับลดหย่อนภาษีโรงเรือน?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกครั้ง
นายโชคชัย ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าไปดูรายละเอียดการแจ้งรายได้ของบริษัทฯ ลึกถึงขนาดว่าแต่ละปีมีรายได้เท่าไร เพราะหลังจากที่เข้ามาเล่นการเมืองในช่วงปี 2547 ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีกแล้ว ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท รัตนบรรจง จำกัด ในปัจจุบัน คือ พี่ชายของตนเอง
"ยืนยันว่าในช่วงปี 2554 โรงแรมของครอบครัว ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริง จำนวนห้องพักและรายได้ลดลง ซึ่งโรงแรมทุกแห่งก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด และที่สำคัญมีหลายโรงแรมที่ได้รับการลดหย่อนด้วยไม่ใช่โรงแรมในครอบครัวของผมเพียงแห่งเดียวเท่านั้น"
นายโชคชัย ยังชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับลดภาษีโรงเรือนให้กับโรงแรมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี 2554 โดยโรงแรมต่างๆ ได้ทำหนังสือขออุทธรณ์ลดหย่อนภาษีเข้ามาหลังจากประสบปัญหาทางธุรกิจ ตนในฐานะผู้บริหารของเทศบาลเมือง มีหน้าที่ต้องพิจารณาตัดสินใจหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจโรงแรมเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ จึงได้อนุมัติไป
"การตัดสินใจของผมในช่วงเวลานั้น ถือว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม มากกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมายไปบังคับให้เอกชนต้องเสียภาษี สุดท้ายเมื่อไม่ยอมจ่ายกันก็จะต้องมีปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายปี กว่าจะได้ข้อยุติ ขณะที่โรงแรมก็จะอยู่ไม่รอด เทศบาลก็จะขาดรายได้ ปัญหาที่ตามจะมีจำนวนมาก"
"แต่ สตง.ไม่ได้มองในจุดนี้ ไปมองว่า ผมเอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรมของครอบครัวซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้นเลย มันเป็นการช่วยเหลือธุรกิจในภาพรวมให้อยู่รอด ไม่ได้เจาะจงธุรกิจของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น"
เมื่อถามย้ำว่า แต่ตัวเลขรายได้ของโรงแรมนครแพร่ ทาวเวอร์ ในช่วงปี 2554 สูงกว่ารายได้ในช่วงปี 2553 และ 2555 นายโชคชัย ตอบว่า "ผมไม่ทราบเรื่องตัวเลขรายได้จริงๆ ทราบแค่ว่ารายได้ลดมาก เขาได้รับผลกระทบจริงๆ โรงแรมอื่นก็เป็นแบบนี้ ในภาพรวมทุกโรงแรมเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ถ้าผมไม่ตัดสินใจทำอะไร ถ้าโรงแรมเหล่านี้อยู่กันไม่ได้ ก็จะมีความเสียหายต่อภาพรวม ต่อเทศบาลเมืองแพร่ ซึ่งผมให้ความสำคัญกับจุดนี้มากกว่า ไม่ได้ดูว่าต้องเป็นโรงแรมของใครเท่านั้น"
ตารางแสดงรายได้ค่าเช่าห้องพักของ โรงแรมนครแพร่ ทาวเวอร์ ตั้งแต่ช่วงปี 2553-2557
ปี | รายได้ค่าเช่าห้องพัก |
2553 |
14,569,325.18 บาท |
2554 |
14,713,412.97 บาท |
2555 |
14,495,731.07 บาท |
2556 |
19,006,596.20 บาท |
2557 |
16,203,941.46 บาท |
ที่มาข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า , สำนักข่าวอิศรา รวบรวม
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก Google