- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ไส้ในบริษัทเก่าเลขาฯรมว.พาณิชย์ก่อนรับระบายข้าวถุงรัฐบาล“ยิ่งลักษณ์”
ไส้ในบริษัทเก่าเลขาฯรมว.พาณิชย์ก่อนรับระบายข้าวถุงรัฐบาล“ยิ่งลักษณ์”
เปิดไส้ในบริษัทเก่าเลขาฯ รมว.พาณิชย์ ก่อนโผล่รับระบายข้าวถุง รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” พบทำธุรกิจส่งออกเครื่องหอมขาดทุนหนัก น้ำท่วมปี 54 ทำที่ตั้ง-สาขา คลังสินค้าย่อยยับ 28 ล้าน -อนุกมธ.ฯ วุฒิสภา ชี้อาจมีสถานะแค่นอมินีรับงานตามคำสั่ง"ผู้บงการใหญ่”
ยังเป็นปริศนาที่ค้างคาใจของใครหลายคน
ว่าทำไมบริษัท สยามรักษ์ จำกัด (บริษัทเก่า ที่ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยปรากฏชื่อเป็นกรรมการ ก่อนจะเข้ามานั่งในตำแหน่งเลขาฯ รมว.พาณิชย์) ถึงถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชน 3 ราย ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เข้ามารับระบายข้าวถุงของรัฐบาล
ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว ธุรกิจหลักของ บริษัทฯ แห่งนี้ คือ ส่งออก ดอกไม้หอม อบแห้ง และเครื่องหอมต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวถุงแต่อย่างใด
แถมสถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของบริษัท สยามรักษ์ จำกัด มานำเสนอให้สาธารณชนได้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นดังนี้
จากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกิจของบริษัท สยามรักษ์ จำกัด ตามรายละเอียดในงบการเงินปี 2555 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
พบว่า ผู้สอบบัญชีได้ระบุในหมายเหตุงบการเงินว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทฯ มีตัวเลขขาดทุนสะสมเป็นจำนวน 57,53 ล้านบาท เป็นการขาดทุนสะสมเกินทุนเรือนหุ้น จำนวน 32.53 ล้านบาท (บริษัทฯ แจ้งทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทฯ
ผู้สอบบัญชียังระบุด้วยว่า ในปี 2554 (ปลายปี) ได้เกิดอุทกภัยอย่างร้ายแรงในประเทศไทย โดยน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่ตั้งของบริษัทฯ ทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาทำให้อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน และสินค้าคลังเกิดความเสียหายรวมจำนวนทั้งสิ้น 28.72 ล้านบาท บริษัทฯ ได้บันทึกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลขาดทุนจากเหตุการณ์อุทกภัยในงบกำไรสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554
โดยเบื้องต้น บริษัทฯ ได้มีการทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิดซึ่งครอบคลุมถึงทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งมีทุนประกันภัยวงเงิน 50 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในงบดุลบริษัทฯ ปี 2555 แจ้งว่า มีรายได้จากการขาย 67,502,678.38 บาท สูงกว่าปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ตัวเลข 64,305,217.29 บาท
แต่ปี 2555 มีรายได้จากการทำประกันภัยเข้ามา จำนวน 19,614,579.46 บาท ทำให้มีรายได้รวมเป็นจำนวน 87,117,257.84 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 75,117,124.13 บาท ทำให้มีกำไรสุทธิแค่ 7,014,284.09 บาท
ต่างจากปี 2554 ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ถึง 100 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากผลขาดทุนจากอุทกภัย จำนวน 28,716,771.03 บาท ทำให้ขาดทุนเป็นจำนวนสูงถึง 37,394,997.98 บาท
ข้อมูลในงบดุลของบริษัทฯ ยังระบุว่า บริษัทมีเงินลงทุนระยะยาวในบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัททวีทร จำกัด 2,970,000 บาท และบริษัทเกตเวย์มอเตอร์ส์จำกัด 1,470,000 บาท รวมวงเงิน 4,440,000 บาท
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทฯ มีเงินให้ยืมแก่กรรมการของบริษัทฯ จำนวน 7,295,609.92 บาท (ปี 2554 จำนวน 13,708,346.68 บาท (โดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย) และไม่ได้ระบุระยะเวลาจ่ายชำระคืน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังแจ้งว่ามีเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินสุทธิ ในปี 2555 เป็นจำนวนเงิน 58,042,095,85 บาท และมีเจ้าหน้าที่การค้า และเจ้าหนี้อื่น 14,891,569.81 บาท
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เกตเวย์ มอเตอร์ส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2544 ทุน1,500,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกดอกไม้หอมอบแห้งและเครื่องหอมต่างๆ ระบุที่ตั้ง 2/42 ซอยปลื้มมณี ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (ที่อยู่เดียวกับ บริษัท สยามรักษ์ และ บริษัท ทวีทร) ปรากฏชื่อ นาย นิวัติ มีกลิ่นหอม และนายทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มี 4 ราย บริษัท สยามรักษ์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด จำนวน 14,700 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 15,000 หุ้น ส่วนนาย ทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ นางสาว นฤมล หิรัญรักษ์ และนาย นิวัติ มีกลิ่นหอม ถืออยู่คนละ 100 หุ้น
ในปี 2554และ 2555 แจ้งว่าไม่มีรายได้ ขาดทุนรวมกัน 2 ปีเป็นจำนวนเงิน 4 แสนกว่าบาท
หากพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ จะพบว่า บริษัทฯ ไม่น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้ามารับงานระบายข้าวถุง ในสต็อกรัฐบาลได้
ขณะที่ในการเข้าชี้แจงข้อมูลกับ คณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล จากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ทางผู้บริหารบริษัท สยามรักษ์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทยอมรับว่าได้ขายสิทธิจัดจำหน่ายข้าวของตนคืนให้ 3 บริษัท (หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ บริษัทสิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัดและบริษัทเจียเม้ง จำกัด) เนื่องจากไม่มีเครือข่ายในตลาดข้าวถุงและได้ให้เอกสารสัญญาขายข้าวคืนให้กับโรงสีหลายแห่งไว้เป็นหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา เคยระบุว่า บริษัทผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงทั้ง 3 แห่ง (บริษัท สยามรักษ์ จำกัด ,บริษัทคอนไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท ร่มทอง จำกัด) อาจจะเป็นแค่นอมินีที่เข้ามารับดำเนินการแทนเท่านั้น เพราะไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจค้าขายข้าว เพราะจริงๆแล้วคาดว่าผู้บงการใหญ่และบริษัทที่ปรับปรุงคุณภาพข้าว ที่ร่วมมือกันดำเนินการอย่างแยบยล ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ตรวจสอบได้ยากมาก
แต่เท่าที่มีการรายงานข้อมูล พบว่าข้าวคุณภาพดีจะถูกบรรจุถุงในตราที่เป็นพรีเมียมของบริษัท และขายในราคาแพง ส่วนข้าวเกรดรองลงไปจึงจะมีการบรรจุถุงตรา อคส. และร้านถูกใจขายให้ประชาชน
ขณะที่ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า ได้มีการเชิญเจ้าของบริษัทผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงอคส.ทั้ง 3 แห่งมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยทางบริษัทสยามรักษ์ได้มีการทำสัญญาขายคืนข้าวสารให้กับบริษัทเจียเม้ง โรงสี และบริษัทผู้ปรับปรุงข้าวให้กับ อคส. รายอื่นๆ ด้วย
ส่วนอีก 2 บริษัท แจ้งว่าได้มีการขายคืนบ้างเป็นบางส่วนแต่ไม่ได้มีการทำสัญญา และข้าวอีกส่วนหนึ่งมีการจำหน่ายให้ในท้องตลาดตามปกติจริง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าสัญญาที่ อคส. ทำกับผู้จัดจำหน่ายทั้งหมดได้เปิดช่องเอาไว้ว่าบริษัทผู้จัดจำหน่ายจะนำไปขายใครก็ได้ ซึ่งการตีความตรงนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพิจารณา ภายหลังจากที่ทางกรรมาธิการฯ จะได้มีการรวบรวมหลักฐาน ฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกันต่อไป