- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- เอ็กซ์คลูซีฟ: เจาะข้อมูลครูใต้ ยกคำพูดนายทหาร หลักฐานมัดแทรกแซงชี้นำตรวจรับCCTVสพฐ.(2)
เอ็กซ์คลูซีฟ: เจาะข้อมูลครูใต้ ยกคำพูดนายทหาร หลักฐานมัดแทรกแซงชี้นำตรวจรับCCTVสพฐ.(2)
"...นายทหารรายนี้ ยังเคยแจ้งในที่ประชุมว่า ได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ช่วยมาดูแล โดยเจ้านายกำชับมาว่า "น้องไปช่วยดูแลเรื่องนี้ให้พี่หน่อย และยังพูดในทำนองว่าหากไม่ใช่บริษัทนี้เข้ามาทำงานในพื้นที่ผมไม่รับประกันความปลอดภัย เช่น เข้าไปทำงานในพื้นที่ 3 คน อาจจะกลับมาได้เพียงแค่ 2 คน ทำให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เกิดความเครียดและกดดันในการทำงานอย่างมาก..."
มีนายทหาร เข้าไปแทรกแทรง ข่มขู่ ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและกรรมการตรวจรับงานกล้อง CCTV โรงเรียนในโครงการ Safe Zone School งบประมาณ 577 ล้านบาท ของ 12 เขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้ตรวจรับงานที่ไม่ตรงตามทีโออาร์ จริงหรือ?
คือ ข้อกล่าวอ้างของ นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน ที่เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ภายหลังเข้ายื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบปัญหากรณีนายทหารนอกแถวเข้าแทรกแทรง ข่มขู่ ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและกรรมการตรวจรับงานกล้อง CCTV โรงเรียนในโครงการ Safe Zone School งบประมาณ 577 ล้านบาท ของ 12 เขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้ตรวจรับงานที่ไม่ตรงตามทีโออาร์ และปัจจุบันครูกลุ่มนี้กำลังจะถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานกระทำทุจริตในการจัดซื้อโครงการนี้ด้วย ภายหลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีการทุจริตเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมา
นายวิวัฒน์ ยังระบุด้วยว่า "เราได้รับแจ้งจากครูหลายคนว่า เบื้องหลังโครงการนี้ มีนายทหารนอกแถวกลุ่มหนึ่ง เข้ามา ข่มขู คุกคาม แทรกแซง ชี้นำให้ตรวจรับงานกล้อง CCTV ที่ไม่ตรงตามทีโออาร์ ทำให้พวกตนต้องตกเป็นเเพะรับผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงขอให้ผู้ว่าฯ สตง. ช่วยเข้ามาตรวจสอบปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับครูที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำทุจริตของคนบางกลุ่มด้วย" (อ่านประกอบ : 'ครูใต้' อ้างนายทหารนอกแถวชี้นำตรวจรับCCTV577ล.! กลุ่มธรรมาฯร้อง สตง. สอบคืนความเป็นธรรม, มีคนระดับรมต.รู้เห็น! แกะรอยหลักฐานครูใต้ อ้างตกเป็นแพะ ถูกทหารชี้นำตรวจรับCCTV 577ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากตัวแทนครูใต้รายหนึ่ง ที่ร่วมลงชื่อในหนังสือถึงผู้ว่าฯ สตง. เพื่อขอความเป็นธรรมจากปัญหาการตรวจรับงานโครงการจัดซื้อกล้อง CCTV โรงเรียนภาคใต้ ที่ไม่ตรงตามทีโออาร์ ดังกล่าว
ตัวแทนครูรายนี้ ยืนยันว่า ตนเองกำลังตกเป็นแพะรับบาปจากการดำเนินงานโครงการนี้ ที่มีลักษณะไม่โปร่งใสหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบันทราบมาว่า หน่วยงานตรวจสอบของรัฐแห่งหนึ่ง อยู่ระหว่างการสรุปผลการตรวจสอบโครงการนี้เป็นทางการ และมีระบุชื่อครูหลายคนที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับงาน จะต้องได้รับโทษทางคดีอาญาด้วย
ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกนายทหาร เข้าแทรกแทรง ข่มขู่ ให้ตรวจรับงานกล้อง CCTV นั้น ตัวแทนครูรายนี้ อ้างว่า ในการดำเนินงานโครงการนี้ ทางส่วนกลาง ได้มีบันทึกแต่งตั้งนายทหารกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดสเปคกล้องที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างด้วย และเข้ามาประชุมร่วมกับตัวครูหลายครั้ง ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้ง ก็จะมีการพูดจาโน้มน้าวให้กรรมการคนอื่น ทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการ เช่นการแจ้งต่อที่ประชุมว่า การกำหนดสเปคกล้องจะต้องมีโปรแกรมยี่ห้อหนึ่ง ถ้าไม่มีโปรแกรมนี้ จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการทำงานของทหารได้ แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ การระบุว่า ในขั้นตอนการจัดซื้อกล้อง หากไม่ใช่สินค้าของบริษัทเอกชนบางราย ไม่รับรองว่าการทำงานโครงการนี้จะแล้วเสร็จตามสัญญา
"นายทหารรายนี้ ยังเคยแจ้งในที่ประชุมว่า ได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ช่วยมาดูแล โดยเจ้านายกำชับมาว่า "น้องไปช่วยดูแลเรื่องนี้ให้พี่หน่อย และยังพูดในทำนองว่าหากไม่ใช่บริษัทนี้เข้ามาทำงานในพื้นที่ผมไม่รับประกันความปลอดภัย เช่น เข้าไปทำงานในพื้นที่ 3 คน อาจจะกลับมาได้เพียงแค่ 2 คน ทำให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เกิดความเครียดและกดดันในการทำงานอย่างมาก"
ตัวแทนครูรายนี้ ยังระบุว่า ล่าสุดทราบมาว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการโดยผลการสอบสวนพบว่า เอกชนที่เข้ามารับผิดชอบงาน ติดตั้งSOFTWARE ภายใต้เครื่องหมายที่มีลิขสิทธิ์ไม่ครบตาม TOR นอกจากนี้ การติดตั้งก็มีปัญหา ส่งผลทำให้กล้องมีประสิทธิภาพใช้งานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดซื้อตามทีโออาร์ด้วย
"เท่าที่ทราบกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการคำสั่งแจ้งสพฐ.ให้ยกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชนบางราย พร้อมแจ้งให้เรียกเงินชดเชยค่าเสียหาย แต่ สพฐ. ก็ทำอะไรบริษัทไม่ได้ เพราะถูกบริษัทแจ้งโนติส ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกลับ เพราะมั่นใจว่าการทำงานของบริษัท ไม่มีปัญหาอะไร จึงทำให้ต้องมีการหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการขออนุมัติงบประมาณจำนวน 14 ล้านบาท ไปซ่อมแซมกล้องที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดอย่างมาก" ตัวแทนครูรายนี้ระบุ
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อเท็จจริงในส่วนของตัวแทนครู ที่กล่าวอ้างว่า กำลังตกเป็นแพะรับบาป จากเรื่องนี้
ส่วนข้อเท็จจริง ในฝั่งของทหารที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดสเปคการจัดซื้อกล้อง CCTV และเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป
อย่างไรก็ดี ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และมีการส่งเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบไปแล้ว
ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร คงต้องรอฟังคำแถลงชี้แจงเป็นทางการอีกครั้ง