- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- เจาะงบดุล 'ดิอาจิโอ' ระบุชัดจ่ายค่าปรับกรมศุลฯแค่1.7 พันล. ไม่ถึง 3 พันล้าน
เจาะงบดุล 'ดิอาจิโอ' ระบุชัดจ่ายค่าปรับกรมศุลฯแค่1.7 พันล. ไม่ถึง 3 พันล้าน
เจาะงบดุล บ. ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ ฯ ไขปริศนาจ่ายค่าปรับกรมศุลกากร ระงับคดีเลี่ยงภาษีนำเข้าสุรา พบตัวเลขชัดจ่ายแค่ 1.7 พันล้าน ไม่ถึง 3 พันล้าน ระบุ "เป็นการชำระเต็มจำนวนและถือเป็นที่สุดในการทำข้อตกลงของการระงับข้อพิพาท"
สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า “ดิอาจิโอ พีแอลซี ” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ของบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) ตรวจสอบพบว่า “ดิอาจิโอ พีแอลซี ” จ่ายเงินประมาณ 600,000 ดอลลาร์ ( ประมาณ 18,000,000 บาท) ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยระดับสูงคนหนึ่ง ในช่วงปี 2547-2551 เพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นในการสู้คดีด้านภาษีและศุลกากรหลายคดี
ขณะที่ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เคยถูกสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า แจ้งข้อมูลในงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ช่วงปี 2553 ว่า มีค่าเผื่อหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น 1,756,047,408 บาท
ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศุลกากรในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2553 กรณีบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือชื่อเดิมว่า ริชมอนเด้ (บางกอก) บริษัทลูกของดิอาจิโอ พีแอลซี ในประเทศไทย ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 72/2550 ได้มีหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีเลี่ยงภาษี ในจำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท
หลังจากที่ในปี 2546 กองปราบปรามได้เข้าตรวจค้นและอายัดเหล้านอกยี่ห้อแบล็ค เลเบิล และเรด เลเบิล ขนาด 1ลิตรของบริษัทริชมอนเด้ ประมาณ 45,000 ลัง การสอบสวนขณะนั้นพบว่า อาจมีการทำความผิดในช่วงปี 2545-2548 และเดือนต.ค. 2550 คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จึงมีมติให้ดีเอสไอรับทำเป็นคดีพิเศษ และตั้งข้อกล่าวหาบริษัทริชมอนเด้หรือชื่อใหม่ว่า ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) แสดงรายการเท็จเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสุราจากต่างประเทศ.
ก่อนที่ในช่วงเดือนมิ.ย.2554 กรมศุลกากรมีหนังสือแจ้งกลับมาว่า คณะกรรมการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ กรมศุลกากร มีมติให้บริษัทดิอาจิโอฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร 2 เท่าของภาษีที่จ่ายไม่ครบ คาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษสูงสุด และขั้นตอนต่อไป ดีเอสไอต้องทำหนังสือไปแจ้งให้ดิอาจิโอฯ เข้ามาเสียค่าปรับ เพื่อขอระงับคดีถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย
(อ่านประกอบ : พลิกงบการเงิน'ดิอาจิโอ'พบตัวเลขปริศนา"ค่าเผื่อหนี้สิน"1,750ล.ช่วงดคีสินบนข้ามชาติ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ช่วงปี 2553 ของ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างละเอียด พบว่า มีการระบุถึงหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นและข้อพิพากษาทางกฤมาย ในส่วนของเงินจำนวน 1.7พันล้านบาท ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ว่า "บริษัทฯ อยู่ระหว่างการโต้แย้งกับกรมศุลกากร เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมสิทธิตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวที่ชำระเป็นรายปีให้กับเจ้าของตราสินค้าสำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2548 ว่า ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ต้องชำระอากรหรือไม่ ในเดือนมิถุนายน 2551 สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร กรมศุลกากร ได้มีหนังสือตอบข้อหารือที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท โดยขณะนี้ผลที่สุดของเรื่องดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมศุลกากร
อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารของกิจการเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในที่สุดของข้อพิพากษาดังกล่าวมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น บริษัท จึงได้บันทึกค่าใช้จ่ายไว้ในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 เป็นจำนวนเงิน 1.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการที่สุดที่สุดของฝ่ายบริหารเพื่อขอระงับคดีดังกล่าว" (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบยังพบข้อมูลว่า ในหมายเหตุประกอบงบการเงินปีต่อมา คือปี 2554 บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุถึงปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมสิทธิตัวแทนจำหน่าย ว่า "บริษัทอยู่ระหว่างการโต้แย้งกับกรมศุลกากรเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมสิทธิตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ที่ชำระเป็นรายปีให้กับเจ้าของตราสินค้าสำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี 2548 ว่า ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ ต้องชำระอากรหรือไม่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ประมาณการหนี้สินจำนวน 1.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการที่ดีที่สุดของฝ่ายบริหารเพื่อขอระงับคดีดังกล่าว ได้บันทึกไว้ในงบการเงินเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2554 บริษัทตกลงที่จะชำระเงินเพื่อระงับข้อพิพากกับกรมศุลกากรภายใต้เกณฑ์ในการทำข้อตกลงของกรมศุลกากร
ดังนั้น ประมาณการหนี้สิน ได้ถูกใช้ไปตามที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 14 โดยการชำระเงินดังกล่าวเป็นการชำระเต็มจำนวนและถือเป็นที่สุดในการทำข้อตกลงของการระงับข้อพิพาท" (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับประมาณการหนี้สินข้อพิพากทางภาษี ที่ระบุในงบการเงินอยู่ที่ 1,774,511,588 บาท ส่วนประมาณการหนี้สินใช้ไปอยู่ที่ 1,661,215,349 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบสามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า วงเงินที่ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายให้กับกรมศุลกากร เพื่อทำข้อตกลงการระงับข้อพิพาท อยู่ที่ตัวเลข 1,774,511,588 บาท
ส่วนปริศนาที่ว่าทำไมตัวเลขถึงลดลงเกือบครึ่ง จากตัวเลขเดิม 3,000 ล้านบาท ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้
คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป!
อ่านประกอบ :
ขมวดเงื่อนปม‘ครม.ทักษิณ’ปรับภาษีเหล้า เทียบ ก.ล.ต.สหรัฐฯคดีสินบนดิอาจิโอ
เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?
พลิกงบการเงิน'ดิอาจิโอ'พบตัวเลขปริศนา"ค่าเผื่อหนี้สิน"1,750ล.ช่วงดคีสินบนข้ามชาติ