- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- เปิดสำนวนลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.'สอบเอกชนเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบังพันล.
เปิดสำนวนลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.'สอบเอกชนเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบังพันล.
เปิดสำนวนลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.' สอบ2 บิ๊กเอกชน หลบเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบังพันล้าน! เผยข้อกล่าวหา 'ถ่ายโอนรายได้' ชี้ ผู้บริหาร-ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ Ao โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด
ระบุเนื้อหาสำคัญว่า มีผู้กล่าวหาร้องเรียนว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ Ao โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ร่วมกันหลบเลี่ยงภาษีที่จะต้องจ่ายให้แก่รัฐ
โดยมีพฤติการณ์ในลักษณะถ่ายโอนรายได้จากการให้บริการกับบริษัทตัวแทนเรือที่นำเรือเข้าเทียบท่าเรือไปเป็นรายได้ของท่าเทียบเรือ Ao ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังทำให้รัฐต้องเสียหายจากการหลบเลี่ยงภาษี ตลอดจนสูญเสียรายได้อื่นๆ ที่รัฐพึ่งได้อีกด้วย
จากการตรวจสอบของป.ป.ช.พบข้อเท็จจรริงว่า ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ Ao และ B1 มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นชุดเดียวกัน ประกอบกับพื้นที่และลักษณะทางกายภาพของท่าเทียบเรือทั้งสองอยู่ติดต่อกัน แต่ผลประโยชน์ที่ให้กับรัฐแตกต่างกัน จึงเป็นช่องทางและสะดวกต่อการที่ผู้บริหารของท่าเทียบเรือ Ao และ B1 ซึ่งเป็นชุดเดียวกันนั้น ทำการฉ้อฉลและทุจริต หลีกเลียงจ่ายผลประโยชน์ให้แก่รัฐตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาสัมปทานและภาษีอากรที่พึงต้องจ่ายให้แก่รัฐ
แม้ว่าโดยข้อกฎหมายและตามข้อกำหนดในสัญญาสัปทาน การที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต่างนิติบุคคลกัน แต่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นชุดเดียวกัน จะไม่ส่งผลใดๆ ทางกฎหมายกับการดำเนินกิจการของท่าเทียบเรือ Ao และ B1 เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งสองบริหารงานต่างนิติบุคคลกันก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงปรากฎเป็นที่ยุติว่า ผู้ประกอบการของท่าเทียบเรือทั้งสองที่ต่างนิติบุคคลกันนั้น มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกันย่อมก่อให้เกิดผลประโยชย์ทับซ้อนและเป็นการเอาเปรียบรัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่ให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการ (ในฐานะฝ่ายปกครองที่มีอำนาจเหนือ) จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเคร่งครัดไม่ให้ปัญหาข้อกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว เป็นช่องทางหรือโอกาสให้ผู้ประกอบการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยจะต้องทำการยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบรัฐนั้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีท่าเทียบเรือที่มีลักษณะทางกายภาพและพื้นที่ติดต่อกันและบริหารงานโดยผู้ประกอบการต่างนิติบุคคล โดยไม่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกันหรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลยก็ตาม หน่วยงานของรัฐผู้ให้สัมปทานก็สมควรตรวจสอบด้วยว่า ท่าเทียบเรือลักษณะดังกล่าวเหล่านั้น มีพฤติการณ์ที่เอาเปรียบรัฐในทำนองเดียวกันกับกรณีที่เป็นปัญหา โดยการสมยอมกันของผู้บริหารกิจการของแต่ละท่าด้วยหรือไม่
เบื้องต้น ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2557 มีมติรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังกล่าว เพื่อป้องกันการทุจริตในเรื่องดังกล่าว ตามนัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ ดังนี้
1. ให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกันทำการตรวจสอบการให้สัมปทานประกอบกิจการท่าเรือที่อยู่ในการกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทั้งหมด ว่ามีพฤติการณ์ในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุจริตถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าผู้ประกอบการของแต่ละท่าที่มีพื้นที่และลักษณะทางกายภาพติดต่อกัน จะเป็นผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นชุดเดียวกันหรือไม่ แล้วให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินคดีเรียกค่าปรับ หรือค่าเสียหายอันเกิดจากการฉ้อฉลและทุจริตดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาเห็นว่าข้อกำหนดในสัญญาข้อใด เป็นผลทำให้รัฐเสียเปรียบและก่อให้เกิดความเสียหาย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขข้อสัญญานั้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ฺBOI) พิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างเหมาะสมที่จะยกเลิกเพิกถอนการให้สิทธิประโยชน์โครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเลที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุจริตถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้ง ให้มีการติดตาม ประเมินผล และวิเคราะห์เปรียบเทียบผลดี ผลเสีย ที่ภาครัฐจะได้รับการให้สิทธิประโยชน์โครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวด้วย
3. ให้กรมศุลกากร พิจารณาแก้ไข เพิ่มเติมเกณฑ์อัตราเปรียบเทียบปรับตามประมวลฯ 1 06 03 01 (22) ของระเบียบกรมศุลกากรที่ 18/2550 ซึ่งใช้ประกอบการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 38 โดยเพิ่มโทษปรับให้มีอัตราที่สูงขึ้นและเหมาะสมเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลัง (กรมศุลกากรและกรมสรรพากร) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการประกอบกิจการท่าเรือที่อยู่ในกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทั้งหมด ว่ามีการดำเนินการในลักษณะเอาเปรียบรัฐ ฉ้อฉลและทุจริตถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนจริงหรือไม่
โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญาอย่างเคร่งครัด และหากพิจารณาเห็นว่าข้อกำหนดในสัญญาข้อใดเป็นผลทำให้รัฐเสียเปรียบและก่อให้เกิดความเสียหาย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขข้อสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด จดทะเบียน 17 กันยายน 2547 ทุนปัจจุบัน 395,750,000 บาท ตั้งอยู่ที่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเอ0 ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์
ปรากฎชื่อ นายไพบูลย์ ควรทรงธรรม นางสาวกุสุมา โกสลาทิพย์ นายพอล โจนาธาน แกลลี่ นายเยน แดมการ์ด ซอเรนเซ่น นายชิเกกิ คิคุโนะ นายไมเคิล แอนโทนี่ ฟอร์โมโซ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 1 ก.ค.2558 บริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ถือหุ้นใหญ่
บริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด จดทะเบียน 18 กันยายน 2538 ทุนปัจจุบัน 300,000,000 บาท ตั้งอยู่ที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ที่ 1 ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์
ปรากฎชื่อ นายไพบูลย์ ควรทรงธรรม นางสาวกุสุมา โกสลาทิพย์ นายพอล โจนาธาน แกลลี่ นายเยน แดมการ์ด ซอเรนเซ่น นายชิเกกิ คิคุโนะ นายไมเคิล แอนโทนี่ ฟอร์โมโซ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2558 บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
ข้อมูลสอดคล้องกับที่ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนทั้งสองแห่ง เป็นนิติบุคคลกลุ่มเดียวกัน!