- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- บรรทัดสุดท้าย!!คดีฉ้อโกงภาษี VAT รัฐสูญแน่ 4.3 พันล.
บรรทัดสุดท้าย!!คดีฉ้อโกงภาษี VAT รัฐสูญแน่ 4.3 พันล.
"..หากเปรียบเทียบวงเงินภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุไว้ที่ตัวเลขสูงถึง 4.3 พันล้านบาท จะพบว่าจำนวนทรัพย์สินที่ปปง.มีคำสั่งอายัดไว้ ค่อนข้างจะมีมูลค่าที่น้อยนิดมาก.."
นับจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครสามารถระบุได้ชัดเจนว่า ในท้ายที่สุดแล้ว "กรมสรรพากร" จะสามารถติดตามเงินภาษีที่จ่ายคืนไปให้กับกลุ่มบริษัท ของ "นายวีรยุทธ แซ่หลก และพวก" จำนวนหลายพันล้านบาท ในคดีฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งประวัติศาสตร์ กลับคืนมาได้เท่าไรกันแน่
และดูเหมือนว่ายิ่งนานวันเข้าความหวังในเรื่องนี้ ก็ยิ่งเลือนลางมากขึ้นไปทุกที
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลคำสั่งอายัดทรัพย์ นายวีรยุทธ และพวก ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ลงนามโดย พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา
พบว่า จำนวนทรัพย์สินที่ ปปง. มีคำสั่งอายัดไว้ทั้งหมดในขณะนี้มีจำนวน 117 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 131,773,846.32 บาท เท่านั้น
ขณะที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุยอดเงินภาษีที่ถูกฉ้อโกงไปครั้งล่าสุดอยู่ที่ตัวเลขสูงถึง 4,343,905,592.86 บาท
จากการตรวจสอบคำสั่งอายัดทรัพย์ดังกล่าว พบว่า ปปง. ได้ระบุเหตุผลที่นำมาใช้ประกอบในการออกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ของ นายวีรยุทธ และพวก ตามข้อเท็จจริงดังนี้
“ ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ดำเนินการสืบสวนกลุ่มบุคคลที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม และเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทโลหะ เนื่องจากสร้างมูลค่าความเสียหายแก่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 115/2556 โดยมีผู้ต้องหา 5 ราย ประกอบด้วย นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ ผู้ต้องหาที่ 1 น.ส.สายธาร แซ่หลก ผู้ต้องหาที่ 2 นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก ผู้ต้องหาที่ 3 นายประสิทธิ์ อัญญโชติ ผู้ต้องหาที่ 4 และนายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ ผู้ต้องหาที่ 5 โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ออกหมายจับบุคคลทั้ง 5 ดังกล่าวแล้ว
โดยนายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ กับพวก มีรายชื่อเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจในการบริหารกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ได้กระทำการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหลายแห่งเป็นสถานที่เดียวกัน ไม่มีการประกอบการจริง จดทะเบียนนิติบุคคล จดทะเบียนเลิกนิติบุคคล และยื่นขอคืนภาษีในเวลาไล่เลี่ยกัน
โดยมีผู้รับมอบอำนาจเป็นคนเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการที่ขอคืนภาษีเป็นรายใหม่ทั้งหมด มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเดือนแรก
และพบว่ามีการเร่งคืนเงินเร็วผิดปกติ ไม่มีการสอบยันผู้ขายสินค้า มีการแก้ไขระเบียบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เอื้อประโยชน์ต่อการคืนภาษีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และผู้ประกอบการกลุ่มที่ขอคืนไม่มีความน่าเชื่อถือตามเกณฑ์ที่จะพิจารณาคืนภาษี
นอกจากนี้ยังพบกลุ่มบริษัทผู้ขายสินค้ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ขอคืนภาษี น่าเชื่อว่ามีการออกใบกำกับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่า กลุ่มผู้ต้องหาที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทุจริตและมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารสิทธิ เข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) (14) (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ.2542)
นอกจากนี้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ขณะที่ ปปง. ตรวจสอบพบว่า นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ กับพวก เป็นผู้กระทำความผิดมีพฤติการณ์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ในรอบปี พ.ศ.2554 – 2556 โดยได้จัดตั้งนิติบุคคลขึ้นหลายบริษัท เชิดบุคคลอื่นเข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลอื่น มีการออกและใช้ใบกำกับภาษีซื้อโดยไม่มีการซื้อขายกันจริง และนำใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวนั้นมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการทำรายงานภาษีเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย ทั้งที่ไม่มีการประกอบกิจการจริง และมีการยักย้ายถ่ายเทเงินภาษีที่ขอคืนไปเข้าบัญชีอื่น ๆ อีกหลายทอดเพื่อปกปิดอำพราง
การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหายจากการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,343,905,592.86 บาท แบ่งเป็น
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (สีลม)
เช็คคืนเงินภาษีจำนวน 108 ฉบับ จากผู้ขอคืนภาษีทั้งหมด 25 ราย มูลค่ารวม 3,203,326,671.65 บาท
และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1
เช็คคืนเงินภาษีจำนวน 60 ฉบับ จากผู้ขอคืนภาษีทั้งหมด 7 ราย มูลค่ารวม 1,140,778,920.81 บาท
ทั้งนี้ นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือ นายธนยุทธ ดลธนโกเศศ และน.ส.สายธาร แซ่หลก ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท บี บี รีไซเคิล จำกัด, บริษัท บี บี กรุ๊ป วัน จำกัด และบริษัท บี บี บิ๊ก จำกัด โดยประกอบกิจการซื้อขายเศษโลหะและทำการส่งออกไปต่างประเทศ ต่อมาได้ไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร เพื่อให้ได้สิทธิในการขอคืนภาษี เนื่องจากกรณีการส่งออกสินค้าประเภทเศษโลหะจะมีอัตราภาษีเป็นศูนย์ ซึ่งผู้ส่งออกจะสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากราคาซื้อสินค้าจากกรมสรรพากร
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า ในปี 2554 ทั้ง 3 บริษัท ได้ส่งออกสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จ และนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร โดยนายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ เป็นผู้ติดต่อให้ทนายความรับรองลายมือชื่อกรรมการบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระแสการเงินที่ได้จากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วน น.ส.สายธาร แซ่หลก เป็นกรรมการผู้มีอำนาจอยู่ในบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในครั้งนี้จำนวนหลายบริษัท และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระแสการเงินที่ได้จากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก เป็นผู้รับมอบอำนาจในการไปติดต่อรับเช็คคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากสรรพกรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 และสมุทรปราการ 1 นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับมอบอำนาจไปชี้แจงเกี่ยวกับการประกอบกิจการต่าง ๆ ของบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการติดต่อขอเช่าสถานที่ตั้งสถานประกอบการจากผู้ให้เช่าอาคาร และสำนักงาน โดยที่ไม่มีการประกอบกิจการจริง
โดยกำหนดระยะเวลาการอายัดทรัพย์สินจำนวนรวม131,773,846.32 บาท ดังกล่าว ไว้ 90 วัน คือตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2556
อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว จะมีทรัพย์สินส่วนไหน ที่สามารถนำมาชดเชยวงเงินภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้บ้าง รวมเป็นวงเงินเท่าไร?
เพราะหากเปรียบเทียบวงเงินภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุไว้ที่ตัวเลขสูงถึง 4.3 พันล้านบาท จะพบว่าจำนวนทรัพย์สินที่ปปง.มีคำสั่งอายัดไว้ ค่อนข้างจะมีมูลค่าที่น้อยนิดมาก
และที่สำคัญการออกคำสั่งอายัดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการสอบสวนเป็นหลัก และยังเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้สิทธิเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งได้ ภายใน 30 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2556)
ขณะที่ในคำสั่งอายัดทรัพย์ของ ปปง. ฉบับนี้ ยังระบุชัดเจนว่า ผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ได้หลบหนีไปแล้ว
โดยในส่วนของ นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ น.ส.สายธาร แซ่หลก นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก ซึ่งอยู่ส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินโดยตรง มีรายงานข่าวว่าได้หลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่ก่อนที่จะถูกออกหมายจับ
ส่วนนายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ นายประสิทธิ์ อัญญโชติ สองพ่อลูก ซึ่งมีอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนา ลูกจ้างโรงงาน ซึ่งรับหน้าที่ในการติดต่อชาวบ้านมาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งถูกระบุว่ายังอยู่ในประเทศไทย ก็ยังไม่มีวี่แววว่า จะสามารถติดตามตัวกลับมาได้?
ทั้งที่ระยะเวลาผ่านมานานหลายเดือนแล้ว
ขณะที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่ปรากฏชื่อว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กับความผิดพลาดในขั้นตอนการคืนเงินภาษี ก็เป็นเพียงแค่ข้าราชการตัวเล็ก หากถูกคำสั่งให้ชดเชยคืนแทน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหาเงินมาคืนได้ครบทั้งจำนวน
และจนถึงเวลานี้ ทางกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นใครบ้าง
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็ยิ่งทำให้ใครหลายคนเชื่อมั่นว่า บรรทัดสุดท้ายของคดีฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งนี้
คงจะจบลงด้วยคำว่า "สูญเสีย" พร้อมกับตราบาป ที่จะติดตัวคน "กรมสรรพากร" ไปตลอดกาล
ในฐานะ "ตัวการ" สำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น
(ดูคำสั่งอายัดทรัพย์ ปปง. "วีรยุทธ-พวก และรายการทรัพย์สินทั้งหมด ที่นี่)