- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- "ดีเอสไอ"รูดม่านคดีคืนภาษี 4 พันล.สั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 ราย- ฟัน 19 เจ้าหน้าที่รัฐ
"ดีเอสไอ"รูดม่านคดีคืนภาษี 4 พันล.สั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 ราย- ฟัน 19 เจ้าหน้าที่รัฐ
หมายเหตุ : เป็นรายละเอียดในเอกสารประกอบการแถลงข่าวผลการสอบสวนคดีกรมสรรพากร คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) วงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติรับคดีพิเศษที่ ๑๑๕/๒๕๕๖ โดยเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง ได้ร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีพฤติการณ์ ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ในรอบปีภาษี พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นลักษณะการทำลายระบบภาษีอากรของประเทศ
โดยมีมูลค่าความเสียหายที่ขอคืนภาษีกว่า ๔ พันล้านบาท
อันเป็นความผิดฐานร่วมกันออกและ ใช้ใบกำกับภาษีโดยเจตนานำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี และร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา
ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสอบสวน และมีการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มบุคคลและนิติบุคคลที่กระทำการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จดังกล่าวมีรูปแบบกระทำความผิดเป็นขบวนการ มีการวางแผน
แบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นขั้นตอนอย่างซับซ้อนและแยบยล
โดยกลุ่มบุคคลผู้กระทำผิด ได้จัดตั้งนิติบุคคลขึ้นหลายบริษัท มีการใช้บุคคลอื่นเข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยมีพฤติการณ์รวบรวมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่มีภูมิลำเนา อยู่ต่างจังหวัดซึ่งมีฐานะยากจน และมีรายได้น้อย ในพื้นที่หลายจังหวัด หลอกลวงว่าจะนำไปติดต่อเกี่ยวกับ สิทธิประโยชน์ทางการเกษตร
โดยให้ค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็จะนำเอกสารหลักฐานไปจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลจำนวนมาก โดยมีทั้งกลุ่มนิติบุคคลที่กระทำการเป็นผู้ขายสินค้าแต่ไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง และเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่ดำเนินการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผลตรวจสอบข้อมูลพบว่า นิติบุคคลส่วนใหญ่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ผู้มีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลซ้ำๆ กัน หรือเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน มีที่ตั้งสถานประกอบการเดียวกัน มีการติดต่อเช่าสถานที่เป็นอาคารสำนักงาน หรือห้องพักอาศัย โดยไม่มีการประกอบการใดๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่อ้างอิงในการสร้างหลักฐานการซื้อขายสินค้าอันเป็นเท็จมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มนิติบุคคลที่เป็นผู้ขายสินค้า มาทำหน้าที่ในการออกหลักฐานการขายสินค้า โดยการออกใบกำกับภาษีขายให้กับกลุ่มนิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อสินค้า ผู้ส่งออกและผู้ขอคืนภาษี เพื่อนำใบกำกับภาษีขายดังกล่าวมาเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการอำพรางการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ให้เชื่อว่าเป็น นิติบุคคลดังกล่าวมีการดำเนินธุรกิจอยู่จริง
ทั้งนี้ กลุ่มผู้กระทำความผิดจะเปิดดำเนินกิจการประมาณ ๖–๘ เดือน จากนั้นก็ได้ปิดกิจการ โดยจดทะเบียนเลิกบริษัท
สำหรับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดที่ได้ทำการจดทะเบียนจัดตั้ง นิติบุคคลดังกล่าว มีการจัดตั้งนิติบุคคลเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนิติบุคคลที่มีกิจการรับซื้อขายเศษโลหะภายในประเทศ และกลุ่มนิติบุคคลที่ส่งออกสินค้าประเภทเศษโลหะไปยังต่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์เพื่อใช้อ้างและจัดทำเอกสาร แสดงให้ว่ามีการซื้อขายสินค้าประเภทเศษโลหะระหว่างนิติบุคคลทั้ง ๒ กลุ่ม
โดย นิติบุคคลที่ส่งออกสินค้าประเภทเศษโลหะ และเป็นผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะแสดงต้นทุนเศษโลหะที่รับซื้อสูงกว่าราคาตลาดกว่า ๖๐ เท่า อันเป็นการอำพรางว่าได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามราคาที่รับซื้อแล้วจึงขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังจากที่ส่งออกสินค้า
สำหรับประเด็นการพิสูจน์การส่งออกของกรมศุลกากร พบว่ามีการสำแดงการส่งออกสินค้าประเภทเศษโลหะอัดก้อนพิเศษในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ – มีนาคม ๒๕๕๖ เป็นจำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ตัน มูลค่ากว่า ๖๐,๐๐๐ ล้านบาทนั้น จากการสอบสวนพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีการส่งสินค้าดังกล่าวออกไปต่างประเทศจริง และสำหรับส่วนที่มีการส่งออกจริงก็พบว่าเป็นการส่งออกเศษเหล็กธรรมดาอัดก้อนมีสนิม มิใช่เป็นการส่งออกเศษโลหะพิเศษอัดก้อนแต่อย่างใด ซึ่งตรงกับข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้า กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ยืนยันว่าสินค้าประเภทเศษโลหะอัดก้อนพิเศษ ประเทศไทยมีกำลังการผลิตจำนวนน้อย และจากสถิติการส่งออกนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ รวม ๕ ปี มีส่งออกเพียง ๑,๕๐๐ ตันเท่านั้น
ข้อมูลดังกล่าวจึงยืนยันได้ว่าในประเทศไทยไม่มีเศษโลหะอัดก้อนพิเศษที่จะสามารถส่งออกในปีเดียวถึงกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ตามที่ได้มีการสำแดงในการส่งออก
หลังจากกลุ่มผู้กระทำผิดได้รับเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดจะดำเนินการนำเช็คเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าบัญชีบริษัทฯ ที่มีการเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคาร และสาขาเดียวกันทั้งหมด เมื่อได้รับเงินคืนภาษีแล้วก็จะทำการโอนเงินสลับไป-มา ระหว่างกลุ่มนิติบุคคลที่เป็นผู้ขายสินค้าและกลุ่มนิติบุคคลผู้ขอคืนภาษีหลายครั้ง รวมถึงมีการเบิกถอนเงินสดวันละหลายๆ ครั้ง เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบและติดตามเส้นทางทางการเงินและพิสูจน์ทราบว่าสุดท้ายเงินคืนภาษีอากรจะตกแก่ผู้ใด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ดำเนินการตรวจสอบบุคคลอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว
สำหรับผลการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดี กับผู้ต้องหาจำนวน ๕ ราย ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดไม่มาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ขออนุมัติ ต่อศาลอาญาออกหมายจับ ซึ่งศาลอาญาได้อนุมัติให้ออกหมายจับตามหมายจับที่ ๑๓๒๕-๑๓๒๙/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ จะหมดอายุความในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ปัจจุบันผู้ต้องหาทั้งหมดหลบหนี บัดนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สรุปสำนวนการสอบสวน สั่งฟ้องผู้ต้องหา ๕ ราย ไปยังพนักงานอัยการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แก่
๑. นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือธนยุทธ ดลธนโกเศศ ผู้ต้องหาที่ ๑
๒. นางสาวสายธาร แซ่หลก ผู้ต้องหาที่ ๒
๓. นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก ผู้ต้องหาที่ ๓
๔. นายประสิทธิ์ อัญญโชติ ผู้ต้องหาที่ ๔
๕. นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ ผู้ต้องหาที่ ๕
ทั้งนี้การส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการ ได้ขอให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเพื่อเรียกเงินคืนด้วย
ในส่วนของข้าราชการที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้ส่งรายชื่อมาให้รวม ๑๙ คน (เสียชีวิต ๑ คน) นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แยกส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นอีกส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งหากการสืบสวนสอบสวน ในภายหน้าปรากฏมีเจ้าหน้าที่รัฐของกรมสรรพากร และ/หรือกรมศุลกากร กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิด ก็จะได้ดำเนินการส่งเรื่องเพิ่มเติมให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการ (หากมี) ในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ยังได้ส่งผลการสอบสวนไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการดำเนินการ ทางการบริหารและวินัยกับข้าราชการของกระทรวงการคลังดัวย
---------------
อ่านประกอบ: