- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- ผ่าความจริง!หลักสูตรที่ปรึกษา'วปธ.' จ่ายเงินเรียน1.5แสน-ไฉนไม่ได้วุฒิฯ ม.เกษตรฯ?
ผ่าความจริง!หลักสูตรที่ปรึกษา'วปธ.' จ่ายเงินเรียน1.5แสน-ไฉนไม่ได้วุฒิฯ ม.เกษตรฯ?
"...ขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัย ได้รับในส่วนของค่าอำนวยการในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งหมด ค่าเช่าสถานที่ และบริการอื่นๆ ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเท่านั้น การจัดเก็บค่าลงทะเบียนเป็นเรื่องของสมาคมฯ.."
"ตอนแรกที่ตัดสินใจเรียนหลักสูตรนี้ เพราะคิดว่าเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ได้รับคือ หลักสูตรนี้ เป็นของสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ จึงทำให้มีความกังวลว่า เมื่อเรียนจบไปแล้ว วุฒิและใบประกาศนียบัตรที่ได้รับมา จะได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจหรือไม่ คุ้มค่ากับที่มาเรียนหรือเปล่า"
คือ ประโยคยืนยันจากผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตร "วิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.)" รายหนึ่ง ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการเรียนหลักสูตรนี้ หลังจากที่เสียเงินค่าลงทะเบียนเรียนไปแล้วเป็นจำนวนสูงถึง 150,000 บาท ก่อนจะรู้ความจริงว่า หลักสูตรฯ นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลจากหนังสือร้องเรียน ของผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตร"วิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.)" รายนี้ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว
จะพบว่า จุดเริ่มต้นของปัญหานี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ ผู้เข้ารับการศึกษารายนี้ ได้เข้าศึกษาตามหลักสูตรฯ มาระยะหนึ่ง และกล่าวอ้างว่า ไม่ได้รับความรู้ตามวัตถุประสงค์ในหลักสูตรดังกล่าว จึงได้ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว
และได้รับการชี้แจงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นทางการ ว่า หลักสูตรฯ ดังกล่าวไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เป็นของสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและบริหารวิชาการเท่านั้น
(อ่านประกอบ : หวั่นจ่าย 1.5แสน เรียนที่ปรึกษา'วปธ.' ไม่คุ้ม-หลัง ม.เกษตรฯปัดเป็นเจ้าของหลักสูตร)
คำถามที่น่าสนใจตามมา คือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เข้ารับการศึกษารายนี้ เข้าใจและปักใจเชื่อ ก่อนสมัครและจ่ายเงินเรียนว่า หลักสูตรนี้เป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คำตอบที่พอจะเป็นไปได้ มี 2 ประการดังนี้
ประการที่ 1. ในเว็บไซต์ http://thaiconsult.org/course/ ที่แนะนำหลักสูตรฯ มีการระบุชื่อของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ร่วมจัดหลักสูตรฯ ไว้อย่างชัดเจน , ชื่อบัญชีที่เป็นช่องทางการชำระเงิน มีการระบุชื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมอยู่ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ประการที่ 2. ใบเสร็จการชำระเงินระบุชื่อศูนย์สานสัมพันธ์จับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัย และมีรายชื่อคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยทำงานอยู่ ขณะที่สถานที่จัดการเรียนก็อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ด้วย และมีการกล่าวอ้างว่า เมื่อเรียนจบจะได้วุฒิบัตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ดูเอกสารประกอบ)
http://thaiconsult.org/course/detail/
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการทำเรื่องให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) กลับได้รับคำชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ใช่เจ้าของหลักสูตรฯ
โดยมีรายละเอียดตามคำชี้แจงดังต่อไปนี้
ตามหนังสือที่อ้างถึง คณะนักศึกษาหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย(วปธ.) ความละเอียดทราบแล้วนั้น
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้ว และขอเรียนชี้แจงดังนี้
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ในหลายๆ ด้านในการพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อพัฒนาวิสาหกิจไทย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการเงิน) คณะบริหารธุรกิจ และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ เป็นต้น และมีรายวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์ ทฤษฎีองค์การและพฤติกรรม การจัดการเชิงกลยุทธ์ จริยศาสตร์ทางธุรกิจ กลยุทธ์ธุรกิจระดับโลก หลักและนโยบายการลงทุน การวางแผนและการควบคุมทางการเงิน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ การวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการทางธุรกิจ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจข้ามวัฒนธรรม การประเมินโครงการธุรกิจ และการพยากรณ์ธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้จากองค์ความรู้ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทางด้านวิชาการ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยร่วมกับสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) จัดเปิดหลักสูตร “วิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (Professional Business Consulting For Enterprise Development Thailand (PBC.)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจให้มีความพร้อมที่จะให้บริการคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีความเข้มแข็ง และเกิดการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างที่ปรึกษาด้วยกัน และระหว่างที่ปรึกษากับผู้ประกอบการ SMEs พัฒนาที่ปรึกษาให้มีมาตรฐานผ่านการพัฒนาความรู้ การฝึกอบรม พัฒนาเพิ่มพูนศักยภาพต่างๆ ของที่ปรึกษาเครือข่าย และสร้างมาตรฐานที่ปรึกษาธุรกิจในการบริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนภายใต้จริยธรรม จรรยาบรรณของวิชาชีพที่ปรึกษา ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรมีคุณสมบัติในการเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง
2. หลักสูตรฯ ดังกล่าวเป็นหลักสูตรของสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) ซึ่งเป็นหลักสูตรฯ ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ ทางหลักสูตรฯ ได้ตกลงว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา จึงได้ดำเนินการขออนุมัติดำเนินโครงการ โดย ดร.กฤษณะ บุหลัน อุปนายกสมาคม ผ่านหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณบดีคณะสังคมศาสตร์นำเสนอต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วตกลงรับเป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว และให้รองศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ รัฐฉัตรานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์สังกัดภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ เป็นผู้มีอำนาจยื่นข้อเสนอ ลงนามสัญญา เป็นที่ปรึกษาหลักสูตร ตลอดจนกระทำการใดๆ กับสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) ในนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนเสร็จสิ้นโครงการ
ในการดำเนินโครงการ รองศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ รัฐฉัตรานนท์ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ เช่น ติดต่อประสานงาน เชิญวิทยากร บรรยาย นำศึกษาดูงาน และภารกิจอื่นๆ ตามที่ทางหลักสูตรร้องขอ
3. กระบวนการในการเปิดโครงการได้จัดทำตามขั้นตอนตามระเบียบว่าด้วยการพัฒนาวิชาการ พ.ศ. 2551 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่การที่หลักสูตรฯ ติดต่อขออนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาวิชาการตามแบบ มก.พว.01 และได้ดำเนินการขออนุมัติโครงการและการมอบอำนาจอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของมหาวิทยาลัยทุกประการ
4. การดำเนินโครงการของหลักสูตรฯ ได้กำหนดการเรียนการสอนเป็น 4 รุ่น โดยอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีศึกษาในชั้นเรียนกับวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ตรงที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การเงินการคลัง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 20 ครั้ง โดยใช้สถานที่ศึกษาคือสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนภาคปฏิบัติได้ให้นักศึกษาปฏิบัติงานจริง โดยระบบการจำลองการให้คำปรึกษา และระบบการเก็บชั่วโมงให้คำปรึกษา ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลาดำเนินโครงการอยู่ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2559
5. ทางหลักสูตรฯ ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่มหาวิทยาลัยในฐานะที่ปรึกษา ตามระเบียบและขั้นตอนของมหาวิทยาลัย ในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งหมด
6. ตามประเด็นคำถามในหนังสือที่อ้างถึง ขอชี้แจงดังนี้
(1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรฯ นี้หรือไม่
ขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้จัดทำหลักสูตรฯ เพราะเป็นหลักสูตรของสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.)
(2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการรับรองหลักสูตรฯ นี้หรือไม่ฯ
ขอชี้แจงว่า เนื่องจากหลักสูตรฯ เป็นของสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.) ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ที่ปรึกษาและบริการวิชาการ และเห็นว่าหลักสูตรเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ
(3) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการตรวจสอบหลักสูตรฯ นี้ ว่ามีการเรียนการสอนเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
ขอชี้แจงว่า เนื่องจากทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหรือกรอบมาตรฐานอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการของสมาคมฯ ในการจัดการเรียนการสอน
(4) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับเงินค่าลงทะเบียนเรียนจากนักศึกษาหลักสูตรนี้หรือไม่
ขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้รับค่าลงทะเบียนแต่ได้รับการจัดสรรเป็นค่าอำนวยการตามที่ชี้แจงไว้ในข้อ 5
(5) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับนักศึกษาเองหรือไม่
ขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินเอง
(6) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับรองคุณวุฒิ ผู้อำนวยการหลักสูตร และคณะกรรมการบริหารหลักสูตรหรือไม่
ขอชี้แจงว่า การรับรองคุณวุฒิเป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานของสมาคมฯ
(7) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับรองคุณวุฒิ และออกใบประกาศนียบัตรให้กับนักศึกษาที่จบหลักสูตรด้วยตนเองหรือไม่
ขอชี้แจงว่า การรับรองคุณวุฒิและประกาศนียบัตรเป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานของสมาคมฯ
(8) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตรวจสอบการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊คและสื่ออื่นๆ ของหลักสูตรนี้โดยมีเนื้อหาในการชักชวนเพื่อให้หลงเชื่อว่าหลักสูตรนี้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือไม่
ขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยเป็นผู้อนุมัติการเปิดโครงการพัฒนาวิชาการตามแบบ มก.พว.01 ตามระเบียบว่าด้วยการพัฒนาวิชาการ พ.ศ.2551 ในส่วนของการประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องของสมาคมฯ
(9) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับผลประโยชน์จากค่าลงทะเบียนเต็มที่หรือไม่
ขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยได้รับในส่วนของค่าอำนวยการในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งหมด ค่าเช่าสถานที่ และบริการอื่นๆ ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเท่านั้น การจัดเก็บค่าลงทะเบียนเป็นเรื่องของสมาคมฯ
(10) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะได้รับชื่อเสียงจากการจัดหลักสูตรนี้โดยตรงหรือไม่ หรือเกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยตรงหรือไม่
ขอชี้แจงว่า เนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนาวิชาการ “วิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (วปธ.)” เป็นภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาในการให้บริการพัฒนาวิชาการแก่สังคมและชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการพัฒนาวิชาการตามระเบียบว่าด้วยการพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุผลและคำชี้แจงเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เข้ารับการอบรม จะเกิดความไม่มั่นใจว่า การเรียนหลักสูตรนี้ จะคุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะความยอมรับในหลักสูตรของหน่วยงานห้างร้านต่างๆ ที่จะมีการว่าจ้างผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ เข้าไปทำงานให้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องใบเสร็จชำระเงิน ที่ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ โดยตรง ทำให้ผู้เรียนในส่วนที่มาจากหน่วยงานรัฐไม่สามารถเอาไปเบิกเงินกับหน่วยงานต้นสังกัดได้
และที่สำคัญที่สุด ผู้เรียนมีความรู้สึกว่า เหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ จ่ายเงินสูงถึง 1.5 แสนบาท เพื่อสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ และเมื่อเกิดปัญหามหาวิทยาลัยควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ ไม่ใช่ชี้แจงทำนองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากนัก สนใจแต่เรื่องการให้เช่าตึกเป็นสถานที่จัดฝึกอบรม เพื่อหาเงินเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 10 ม.ค.2559 ได้ติดต่อไปยัง ดร.กฤษณะ บุหลัน ที่ปรึกษาหลักสูตรฯ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงหลักสูตรฯ นี้อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
เบื้องต้นมีผู้หญิงรายหนึ่งรับสาย พร้อมระบุว่า จะรับเรื่องไปแจ้งให้ ดร.กฤษณะ รับทราบก่อน ว่าจะให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับสื่อหรือไม่
ล่าสุดกรณีนี้มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปถึง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วย
ส่วนผลการตรวจสอบจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป