- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- ก่อนกรมบัญชีกลางออกปฏิบัติ 'อุ้ม' ช่วยซื้อตั๋ว! 'ไทยสมายล์' ขาดทุน 577ล.
ก่อนกรมบัญชีกลางออกปฏิบัติ 'อุ้ม' ช่วยซื้อตั๋ว! 'ไทยสมายล์' ขาดทุน 577ล.
"...หากการทำธุรกิจของ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ประสบปัญหาขาดทุน ก็จะส่งผลกระทบไปถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามไปด้วย และหากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนมากเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบไปถึงสถานะทางการคลังของประเทศ เป็นลูกโซ่ตามไปด้วยเช่นกัน.."
ทำไม 'กรมบัญชีกลาง' ต้องแจ้งขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เลือกซื้อบัตรโดยสารจากสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ในการเดินทางไปราชการภายในประเทศ?
น่าจะเป็นคำถามที่ค้างคาใจของใครหลายคน หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด อยู่ระหว่างการแจ้งเวียนหนังสือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด พิจารณาเลือกซื้อบัตรโดยสารจากสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ในการเดินทางไปราชการในประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายหลังได้รับหนังสือแจ้งเวียนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตามที่กรมบัญชีกลาง แจ้งขอความร่วมมือเข้ามา ในช่วงต้นเดือนมี.ค.2559 ที่ผ่านมา
หรือ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ?
(อ่านประกอบ : ช่วยซื้อตั๋วไทยสมายล์!กรมบัญชีกลาง แจ้งราชการ-อปท.สนับสนุนสายการบินชาติ)
เพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ของ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
พบว่า มีการแจ้งรายได้จากการรับจ้างขนส่งผู้โดยสาร 3,039,826,295.42 บาท รายได้จากการขนส่งสินค้า 19,909,893.77 บาท ดอกเบี้ยรับ 8,086,362.73 บาท รายได้อื่น 781,145.65 บาท รวมรายได้อื่น 8,867,508.38 บาท รวมรายได้ 3,068,603,697.57 บาท
ส่วนรายจ่าย มีค่าเชื้อเพลิง 1,129,383,056.18 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบิน 915,988,958.32 บาท ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ 695,009,148.05 บาท ค่าใช้จ่ายในการซ่อม 393,085,094.19 บาท ผลประโยชน์พนักงาน 177,145,259.12 บาท สินค้าและพัสดุใช้ไป 87,787,125.29 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับนักบิน 67,884,444.83 บาท ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา 34,406,827.18 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 63,344,532.53 บาท ค่าที่ปรึกษาและบริการ 41,416,097.80 บาท ขาดทุน(กำไร)จากอัตราแลกเปลี่ยน 21,898,562.37 บาท ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย 14,784,979.53 บาท ต้นทุนทางการเงิน 3,567,204.24 บาท ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 372,186.84 บาท
รวมรายจ่าย 3,646,073,476.47 บาท
ขาดทุนสุทธิ 577,469,778.90 บาท
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด จดทะเบียน 17 ตุลาคม 2556 ทุนปัจจุบัน 1,800 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 89 อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ชั้น 17 ห้อง 1704,1705-1708A ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการขนส่งทางอากาศ
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 100%
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 189,133,149,260 บาท รวมรายจ่าย 201,371,434,338 บาท
ขาดทุนสุทธิ 11,163,049,422 บาท
ขณะที่กรมบัญชีกลาง ระบุว่า ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2556 เห็นชอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ โดยจัดตั้งบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยในเครือของบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งบริษัทการบินไทยฯ ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 100 โดยบริษัทการบินไทยฯ มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นหลักร้อยละ 51.03 ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อการบินไทยฯ ถือหุ้นร้อยละ 100 ในบริษัทไทยสมายล์ฯ จึงทำให้บริษัทไทยสมายล์ฯ มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น หากการทำธุรกิจของ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ประสบปัญหาขาดทุน ก็จะส่งผลกระทบไปถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามไปด้วย
และหากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนมากเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบไปถึงสถานะทางการคลังของประเทศ เป็นลูกโซ่ตามไปด้วยเช่นกัน
เมื่อผลประกอบการทางธุรกิจ ทั้งในส่วนของ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นของรัฐออกมาไม่สู้ดีนัก ท่ามกลางกระแสการแข่งขันธุรกิจสายการบินในประเทศ ที่ค่อนข้างจะรุนแรง แบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
(อ่านประกอบ : เจาะถุงเงิน 'บขส.'ก่อนย้าย'หมอชิต'-ลุยสู้ศึกชิงรายได้'นกแอร์-แอร์เอเชีย' หมื่นล.)
ปฏิบัติการ 'อุ้ม' ธุรกิจสายการบินในประเทศ ในลักษณะที่ให้กรมบัญชีกลาง แจ้งประสานขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลือกซื้อบัตรโดยสารจากสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ในการเดินทางไปราชการภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น
ส่วนท่าทีของผู้ประกอบการสายการบินเอกชนในประเทศ จะว่าอย่างไรกับกรณีนี้ คงต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด