- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- เจาะ 5 โครงการกองทุนสตรีฯ สตง.พบสมาชิกเอาไป‘แบ่งเงิน-ปล่อยกู้ต่อ’
เจาะ 5 โครงการกองทุนสตรีฯ สตง.พบสมาชิกเอาไป‘แบ่งเงิน-ปล่อยกู้ต่อ’
เจาะ 5 โครงการตัวอย่าง สตง. พบใช้ผิดวัตถุประสงค์ ‘โครงการขูดมะพร้าว-ภูเก็ต’ หน.กลุ่มเอาเงินไปปรับปรุงร้านของชำหน้าบ้าน-แบ่งสมาชิกใช้จ่ายในครัวเรือน ‘โครงการทำไม้กวาด-มหาสารคาม’ ตกลงแบ่งเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวแต่แรก ‘โครงการหมวกตอก-น่าน’ นำเงินที่ได้ปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6
นอกเหนือจาก 2-3 โครงการตัวอย่างที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการใช้เงินจากการกู้ยืมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยผิดวัตถุประสงค์ เช่น โครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโซ้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ที่หัวหน้ากลุ่มสตรีคือ “มารดา” ของประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.คันโซ้ง และสมาชิกที่เหลือเป็นเพียงลูกจ้างในร้านมินิมาร์ทปั๊มน้ำมัน ไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ จากโครงการนี้
หรือแม้แต่โครงการบ้านพักริมน้ำ ม.9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี พบว่า ประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ต.นายูง แนะนำให้เครือญาติรวมตัวกัน 5 คน เป็นผู้เสนอโครงการ และล่าสุด โครงการกลุ่มทำน้ำพริกบ้านหนองประดู่ ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ที่พบว่า “น้องสะใภ้” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หนองประดู่ ทำเรื่องของบกองทุนสตรี แต่นำเงินไปแบ่งให้สมาชิกกู้ยืมแทนนั้น
(อ่านประกอบ : 'น้องสะใภ้'อดีตนายกฯอบต.ของบกองทุนฯสตรีทำน้ำพริก ดอดปล่อยกู้ต่อร้อยละ5, ใช้ชื่อลูกจ้างมินิมาร์ทช่วยของบ!เบื้องหลังร้านกาแฟ 'แม่'ปธ.กองทุนฯสตรีคันโช้ง, ชัดกว่าร้านกาแฟ! ปธ.กองทุนสตรีนายูง จ.อุดรฯ ดัน'เครือญาติ'ของบปลูกรีสอร์ท)
ยังมีโครงการไหนอีกบ้าง ที่เข้าข่าย มีปัญหาในการใช้เงิน เช่น ได้รับเงินไปแล้ว “แบ่งเงิน” ให้สมาชิกนำไปใช้จ่ายภายในครัวเรือน โดยไม่ประกอบกิจการหรือนำไป “ปล่อยกู้” สมาชิกคนอื่นต่อ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมตัวอย่าง 5 โครงการดังกล่าว ที่ สตง. ตรวจสอบพบมาเสนอ ดังนี้
1.โครงการมะพร้าวขูดกะทิสด ม.1 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้สตรีมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่างพื้นที่ และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้สตรีเกิดความรัก และหวงแหนแผ่นดินเกิด ทั้งนี้ โครงการนี้เคยดำเนินการมาก่อนแล้ว โดยใช้ทุนส่วนตัว ต่อมา จึงขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสตรีฯ ประเภทเงินทุนหมุนเวียน ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2 แสนบาท โดยคาดว่า มีสมาชิกที่จะได้รับประโยชน์ 5 คน
มีรายการใช้จ่ายเงิน ประกอบด้วย เครื่องคั้นกะทิ 1 เครื่อง 115,000 บาท เครื่องปอกมะพร้าว 1 เครื่อง 18,000 บาท เครื่องขูดมะพร้าว 2 เครื่อง 26,000 บาท อุปกรณ์รองน้ำกะทิ 4,000 บาท ถุงใส่น้ำกะทิ 1,000 บาท และมะพร้าว 3,000 ลูก 3,600 บาท
สตง. พบว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว กลุ่มสมาชิกไม่ได้ใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามรายการตามแบบเสนอโครงการที่ได้รับการอนุมัติ แต่นำเงินไปแบ่งกันใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะจากการสัมภาษณ์หัวหน้ากลุ่ม และสมาชิกผู้ร่วมเสนอโครงการ ให้ข้อมูลว่า เมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้ตกลงแบ่งเงินให้แต่ละคนไปใช้จ่าย โดยหัวหน้ากลุ่มฯ ได้รับเงิน 80,000 บาท ได้นำไปซื้อเครื่องขูดมะพร้าว 13,000 บาท ส่วนที่เหลือ 67,000 บาท นำไปลงทุนปรับปรุงร้านขายของชำหน้าบ้าน ส่วนเงินทุนที่เหลือแบ่งให้สมาชิก 3 คน คนละ 40,000 บาท โดยนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน และประกอบอาชีพส่วนตัว ส่วนสมาชิกที่เหลือ 1 คน ไม่ได้รับเงิน เพียงแค่มารวมกลุ่มให้ครบ 5 คน เพื่อครบตามหลักเกณฑ์ของการขอรับเงินสนับสนุน โดยวันที่สังเกตการณ์ครบกำหนดชำระเงินคืนนั้น จะต้องส่งเงินคืนกองทุนทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท แต่กลุ่มสมาชิกยังมีการค้างชำระเงินคืนกองทุนฯ ในงวดเดือน พ.ค. 2557 นอกจากนี้ ยังไม่มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกด้วย
2.โครงการทำไม้กวาด บ้านหนองกุงเต่า ม.22 ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้สมาชิกได้มีอาชีพเสริม มีรายได้ในครอบครัวเพิ่มขึ้น เกิดความสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เป็นโครงการที่เคยดำเนินการมาก่อนแล้ว แต่แยกกันดำเนินการ โดยใช้เงินทุนส่วนตัว ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ประเภทเงินทุนหมุนเวียน ในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 40,000 บาท เสนอขอและดำเนินโครงการ โดยกลุ่มสตรีบ้านหนองกุงเต่า มีสมาชิกคาดว่า จะได้รับประโยชน์จำนวน 5 คน
รายการใช้จ่ายเงิน ประกอบด้วย จัดซื้อวัตถุดิบสำหรับทำไม้กวาด 10,000 บาท ปลอกยาง 5,000 บาท ด้ามไม้กวาด 5,000 บาท และจักรเย็บผ้า 20,000 บาท ส่วนเหตุผลในการเสนอโครงการนั้น เนื่องจาก เดิมแต่ละคนรับจ้างทำไม้กวาด จึงต้องการมีกิจการทำไม้กวาดเป็นของตนเอง
สตง. พบว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ยังดำเนินกิจกรรมกันอยู่ แต่กลุ่มสมาชิกใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนที่กู้ยืมมาหมดแล้ว โดย ไม่มีการจัดทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่าย และผลผลิตของโครงการยังไม่ได้นำไปจำหน่ายที่ใด และไม่พบว่า มีตลาดรองรับหรือมีช่องทางการขายแตกต่างไปจากเดิม กลุ่มสมาชิกจึงยังไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำเนินโครงการนี้ จากการสัมภาษณ์หัวหน้ากลุ่มและสมาชิกผู้ร่วมเสนอโครงการอีก 2 คน ให้ข้อมูลว่า เมื่อได้รับเงินจากกองทุน สมาชิกต้องการให้แบ่งเงินกัน โดยหัวหน้ากลุ่มได้รับเงินจำนวน 24,000 บาท ส่วนสมาชิกที่เหลืออีก 4 คน ได้รับเงินคนละ 4,000 บาท นำไปใช้จ่ายในครัวเรือน
3.โครงการหมวกตอกมีค่าพัฒนาสตรี ต.เจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน
ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดกลุ่มจักสานบ้านวังม่วง ต้องการให้กลุ่มสตรีใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยให้กลุ่มสตรีมีรายได้เสริมจากอาชีพเกษตรกร เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยพัฒนาศักยภาพบทบาทสตรี เป็นโครงการที่เคยดำเนินการมาก่อนแล้ว และได้ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ประเภทเงินทุนหมุนเวียน ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2 แสนบาท เสนอขอและดำเนินโครงการ โดย กลุ่มสมาชิกสตรีบ้านวังม่วง มีสมาชิกที่คาดว่า จะได้รับประโยชน์จำนวน 8 คน
กิจกรรมหรือรายการใช้จ่ายเงิน ประกอบด้วย ซื้อตอกถักเส้น 1 แสนบาท ซื้ออุปกรณ์ในการตัดเย็บ 80,000 บาท ค่าซ่อมแซมบำรุงจักร 15,000 บาท และค่าน้ำค่าไฟ 5,000 บาท
สตง. พบว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ แต่ผลผลิตของโครงการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ปริมาณการผลิตไม่แตกต่างจากเดิม มีการจัดทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่าย ปัจจุบันใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนหมดแล้ว จากการสัมภาษณ์สมาชิกผู้ร่วมเสนอโครงการ 3 คน ได้รับข้อมูลว่า เมื่อได้รับเงินมา ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1 แสนบาท นำไปลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำหมวกตอก ส่วนที่เหลืออีก 1 แสนบาท นำไปปล่อยกู้ให้สมาชิกกลุ่มกู้ยืมไปใช้ในครัวเรือนหรือประกอบอาชีพส่วนตัว โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี อย่างไรก็ดี กลุ่มสมาชิกสตรีบ้านวังม่วง มีการรวมกันผลิตหมวกตอกมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว และเคยได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เจดีย์ชัย 20,000 บาท มาก่อนหน้านี้
4.โครงการรับซื้อลูกขนุน-แกะเนื้อขนุนส่งโรงงานในฤดูกาลและนอกฤดูกาล ม.12 ต.หนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มสตรีปรับวิธีการแก้เนื้อขนุนแช่แข็งส่งโรงงานให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค กลุ่มสตรีมีความรู้การตลาดการส่งออกสู่ผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มผลผลิตให้มากกว่าเดิม และหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง เป็นโครงการที่เคยดำเนินการมาก่อน และขอรับเงินสนับสนุนประเภทหมุนเวียน ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 1.5 แสนบาท เสนอขอและดำเนินโครงการ โดย กลุ่มสมาชิกสตรี มีสมาชิกที่คาดว่า จะได้รับประโยชน์จำนวน 5 คน
กิจกรรมหรือรายการใช้จ่ายเงินที่ระบุไว้ในแบบเสนอโครงการ คือ ซื้อลูกขนุน 5 ตัน 50,000 บาท ถังแช่ขนุน 20 ใบ 80,000 บาท ตะกร้าใส่เนื้อขนุน 50 ใบ 2,950 บาท เข่งใส่เปลือกขนุน 102 ใบ 15,300 บาท เหล็กรองแกะขนุน 50 อัน 25,000 บาท กระป๋องล้างมือ 50 ใบ 1,000 บาท เก้าอี้นั่ง 50 ตัว 6,000 บาท น้ำแข็ง 4,000 บาท แคลเซียมแช่ขนุน 6,250 บาท ทำอ่างล้าง 3,500 บาท เงินทุนหมุนเวียน 6,000 บาท
สตง. พบว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว กิจกรรมรับซื้อลูกขนุนและแกะเนื้อขนุนส่งโรงงาน เป็นกิจกรรมที่ผู้เสนอโครงการทำอยู่ก่อนแล้ว เป็นกิจการของครอบครัวหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งทำมานานกว่า 10 ปี ในวันที่สังเกตการณ์ยังคงดำเนินกิจกรรมเช่นเดิม เดิมใช้เงินทุนส่วนตัว แต่ได้รับการแนะนำจากประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสตรี ต.หนองเหียง จึงเสนอขอโครงการนี้ สำหรับผลประกอบการจำหน่ายผลผลิตได้เท่าเดิม มีการจดบันทึกการใช้จ่ายเงินไว้ แต่ไม่สามารถลงทุนต่อ รวมถึงใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนหมดแล้ว
จากการสัมภาษณ์หัวหน้ากลุ่มและสมาชิกผู้มีชื่อร่วมเสนอโครงการ ได้ข้อมูลว่า เมื่อได้รับเงินสนับสนุนมีการนำเงินไปซื้อวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น แต่มีการปรับลดการจัดซื้อบางรายการ ได้แก่ ถังแช่ขนุน 20 ใบ 80,000 บาท เข่งพลาสติกเสนอขอซื้อ 102 ใบ แต่ซื้อจริง 50 ใบ 7,500 บาท เหล็กแกะขนุน 20 อัน 6,000 บาท ตะกร้าใส่เนื้อขนุน 50 ใบ 2,950 บาท และใช้เป็นทุนหมุนเวียน สำหรับซื้อลูกขนุนครั้งละประมาณ 60,000 บาท
นอกจากนี้ ในการดำเนินโครงการหัวหน้ากลุ่มยังทำคนเดียว ส่วนผู้ร่วมเสนอโครงการอีก 4 คน ไม่มีส่วนร่วม สำหรับการชำระเงินคืนนั้น มีการชำระคืนแล้ว 6 งวด ค้างชำระอีก 6 งวด เนื่องจาก หัวหน้ากลุ่มเก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่ง สตง. เห็นว่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เนื่องจาก กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวหัวหน้ากลุ่ม สมาชิกสตรีที่ร่วมเสนอโครงการมิได้มีส่วนร่วมใด ๆ จึงไม่ได้รับประโยชน์หรือเกิดการพัฒนาศักยภาพบทบาทของสตรี แต่อย่างใด
5.โครงการทำกะทิสด ม.2 ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้สตรีสมาชิกในกลุ่มได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดการรวมกลุ่ม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ และเพื่อให้สมาชิกกลุ่มเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตนเอง โดยเป็นโครงการที่เคยดำเนินการมาก่อนแล้ว ซึ่งเดิมใช้เงินทุนจากการกู้ยืมนอกระบบ ก่อนจะขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ประเภทเงินทุนหมุนเวียน ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2 แสนบาท เสนอขอและดำเนินโครงการ โดย สมาชิกกลุ่มสตรีทำกะทิสด สมาชิกที่คาดว่า จะได้รับประโยชน์จำนวน 5 คน
กิจกรรมหรือรายการใช้จ่ายเงิน ประกอบด้วย ซื้อลูกมะพร้าว 39,000 บาท เครื่องขูดมะพร้าว 2 ตัว 30,000 บาท เครื่องคั้นน้ำกะทิสด 95,000 บาท ภาชนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ 6,000 บาท และเครื่องกะเทาะกะลามะพร้าว 2 เครื่อง 30,000 บาท
สตง. พบว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว มีการจัดซื้อเครื่องคั้นกะทิสด 1 เครื่อง 90,000 บาท เครื่องกะเทาะกะลามะพร้าว 1 เครื่อง 15,000 บาท เครื่องขูดมะพร้าวไฟฟ้า 1 เครื่อง 15,000 บาท และซื้อเครื่องคั้นกะทิเครื่องเล็ก เพิ่มอีก 1 เครื่อง 55,000 บาท รวมเป็นเงิน 175,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 25,000 บาท ใช้เป็นทุนหมุนเวียน สำหรับซื้อลูกมะพร้าว
ในช่วงที่สังเกตการณ์ ยังทำกะทิสดอยู่ แต่ผลผลิตของโครงการมีจำหน่ายเฉพาะที่บ้านของหัวหน้ากลุ่ม
จากการสัมภาษณ์หัวหน้ากลุ่มและสมาชิกในกลุ่ม ได้ข้อมูลว่า กลุ่มมีแผนที่จะเช่าแผงขายกะทิสดที่ตลาด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ สมาชิกกลุ่มไม่มีการบันทึกรายรับรายจ่าย และไม่มีการแบ่งกำไรไว้ลงทุนต่อ รายได้ทั้งหมดของกลุ่มจะนำมาหักทุนสำหรับส่งชำระคืนกองทุนฯ เดือนละ 14,285 บาท ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งสมาชิกทุกคนเท่า ๆ กัน เพื่อนำไปใช้จ่ายในครัวเรือนโดยไมมีการสำรองเงินรายได้ไว้สำหรับดำเนินการในครั้งต่อไป ซึ่งรายได้หลักของกลุ่มจะมาจากการขายส่งมะพร้าว ไม่ใช่จากการขายกะทิสด ซึ่ง สตง. เห็นว่า โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพียงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ของสตรี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้ไม่ต้องกู้นอกระบบ แต่ไม่ได้ช่วยพัฒนาอาชีพสตรีให้ดีกว่าเดิม
นี่เป็นเพียงตัวอย่าง 5 โครงการที่ สตง. พบว่า มีการใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ และไม่ได้เป็นการพัฒนาบทบาทสตรีจริง
นับเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ สตง. พบว่า มีปัญหาในการใช้จ่ายเงิน พร้อมกับประสานไปยังกรมพัฒนาชุมชน (หน่วยงานต้นสังกัดสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ) ให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน
พร้อมกับมีความเห็นว่า “ควรยุบ” กองทุนดังกล่าวเสีย และเรียกเก็บเงินสมาชิกที่ค้างชำระคืนมาโดยเร็ว !
อ่านประกอบ :
ชัดกว่าร้านกาแฟ! ปธ.กองทุนสตรีนายูง จ.อุดรฯ ดัน'เครือญาติ'ของบปลูกรีสอร์ท
ใช้ชื่อลูกจ้างมินิมาร์ทช่วยของบ!เบื้องหลังร้านกาแฟ 'แม่'ปธ.กองทุนฯสตรีคันโช้ง
ไม่มีเอื้อปย.!ปธ.กองทุนฯสตรีต.คันโช้ง แจงปมเสนองบให้ 'แม่' ทำร้านกาแฟ2แสน
กลัวถูกสตง.สอบ! กลุ่มแม่บ้านต.คันโช้ง เล็งกู้เงินนอกระบบใช้หนี้กองทุนฯสตรี
เอื้อปย.บ้านพักอุดรฯ-ร้านกาแฟพิษณุโลก โดนก่อน! สั่งสอบทุจริตกองทุนฯสตรีทั่วปท.
ส่องขั้นตอนอนุมัติเงินกองทุนฯสตรีหมื่นล.ก่อน 'สตง.'ชงสอบทุจริตทั่วปท.
เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรียุค'ปู' ผลาญงบหมื่นล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดจาก thaibizpost.com, ขายไม้กวาด.com, frynn.com, takwomen.com