วิบากกรรม 3 พ่อลูก ‘วัฒนา’ที่ดินคลองด่าน ‘พูนผล’ซุกหุ้น 435ล. ‘เอ๋’ทุจริตเลือกตั้ง
เจาะวิบากกรรม 3 พ่อลูกตระกูลอัศวเหม ‘วัฒนา’คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินคลองด่าน ‘พูนผล’ ศาล รธน.ฟันเว้นวรรค 5 ปีคดีทรัพย์สิน 435 ล้าน ‘จตุพัฒน์’คนใกล้ชิด ‘พิบูลย์’ พี่ชายศาลฎีกาฯสั่งจำคุกกรณีหุ้นนอมินี ล่าสุด ‘ชนม์สวัสดิ์’ศาลฎีกาจำคุก 1 ปี 6 เดือนคดีทุจริตเลือกตั้ง
เสมือนเป็นวิบากกรรมของนักการเมืองตระกูลอัศวเหม ล่าสุด 4 ส.ค.58 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำที่ อ.10182/45 และคดีแดงที่ 3579/49 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้ง หรือเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยเจตนาขัดขวางไม่เป็นไปตามกฎหมาย และนายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ รองนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดเดียวกัน และปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ
ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายชนม์สวัสดิ์ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา และให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี ไม่รอลงอาญา ผลจากคำพิพากษาทำให้นายชนม์สวัสดิ์กลายสถานะเป็นนักโทษทันที
หลังจากก่อนหน้านี้ 25 มิถุนายน 2558 ถูกหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 มีคำสั่ง 19/2558 ให้ปลดจากตำแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ จากกรณีความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนวัดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการมารอบหนึ่งแล้ว
ความจริง ชะตากรรมต้องคำพิพากษาของคนตระกูลอัศวเหม กรณี‘ชนม์สวัสดิ์’ไม่ใช่คนแรก เพราะทั้ง นายวัฒนา อัศวเหม บิดา และนายพูนผล อัศวเหม พี่ชายล้วนต้องคำพิพากษามาแล้ว แต่ความผิดต่างกัน
กรณีของ นายวัฒนา ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ในคดีใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอยซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี และให้ริบพระผงสุพรรณเลี่ยมทองของกลางที่ชักจูงใจเจ้าหน้าที่ พร้อมกับออกหมายจับเพื่อติดตามตัวจำเลยมารับโทษ เนื่องจากนายวัฒนาได้หลบหนีไปต่างประเทศก่อนศาลมีคำพิพากษา
ขณะที่คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ (คลองด่าน) เมื่อ 8 ธ.ค.54 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ว่า พฤติการณ์ของนายวัฒนา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 แต่นายวัฒนา อยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ อม.2/2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามระเบียบต่อไป ขณะนี้เจ้าตัวยังหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ
กรณีของ นายพูนผล นั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี กรณีจงใจซุกทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 ได้แก่เงินลงทุนมูลค่ากว่า 435 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นในชื่อนายพูนผลอยู่ในบริษัทต่างๆ จำนวน 25 บริษัท และ นางประภาพร อัศวเหม ภรรยานายพูนผล อีก 19 บริษัท คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลเมื่อ วันที่ 8 มกราคม 2547
นายพูนผล ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.จำนวน 6 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ | ยื่นบัญชีกรณี | ตำแหน่ง | วันที่เข้า,พ้น และพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี | วันที่ยื่นบัญชี |
1 | เข้ารับตำแหน่ง | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | 11 ต.ค.40 | 7 พ.ย.40 |
2 | เข้ารับตำแหน่ง | เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | 2 ธ.ค. 40 | 16 ธ.ค.40 |
3 | พ้นจากตำแหน่ง | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | 9 พ.ย. 43 | 7 ธ.ค.43 |
4 | พ้นจากตำแหน่ง | เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ | 18 ก.พ. 44 | 13 มี.ค. 44 |
5 | พ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | 8 พ.ย. 44 | 4 ธ.ค. 44 |
6 | พ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี | เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ | 17 ก.พ. 45 | 8 มี.ค. 45 |
ไม่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง 2 กรณี
1. ไม่แสดงรายการทรัพย์สินประเภทเงินฝากในธนาคารพาณิชย์
- กรณีพ้นจากตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่แสดงรายการบัญชีเงินฝากของตนเอง 1 บัญชี จำนวน 10,000 ของคู่สมรส 13 บัญชี จำนวน 40,842.20 บาท
- กรณีพ้นจากตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ครบ 1 ปี ไม่แสดงรายการบัญชีเงินฝากของคู่สมรส รวม 9 บัญชี จำนวน 30,074.78 บาท
2. ไม่แสดงรายการทรัพย์สินประเภทเงินลงทุน (หุ้น)
นายพูนผล แสดงในทุกบัญชีที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตนเองและคู่สมรส ไม่มีทรัพย์สินประเภทเงินลงทุน (หุ้น) แต่จากการตรวจสอบพบว่า นายพูลผล มีเงินลงทุน (หุ้น) ในบริษัทต่างๆ จำนวน 25 บริษัท มูลค่า 384,802,300 บาท และคู่สมรสมีเงินลงทุน (หุ้น) ในบริษัทต่างๆ จำนวน 19 บริษัท มูลค่า 50,636,800 บาท รวมเป็นเงิน 435,439,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่ 1 ไม่แสดงรายการทรัพย์สินประเภทเงินฝากของตนเอง และของคู่สมรส เห็นว่า เป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดน่าเชื่อว่า นายพูนผล อัศวเหม ไม่จงใจที่จะไม่แสดงรายการเงินฝากดังกล่าว
แต่กรณีที่ 2 ไม่แสดงรายการทรัพย์สินประเภทเงินลงทุนของตนเอง จำนวน 25 บริษัท มูลค่า 384,802,300 บาท และคู่สมรส จำนวน 19 บริษัท มูลค่า 50,636,800 บาท รวมเป็นเงิน 435,439,000 บาท
นายพูนผล อัศวเหม ให้การยืนยันว่า หุ้นในบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในชื่อของตนเองและคู่สมรส เป็นหุ้นของพี่ชาย และได้อ้างหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทต่างๆ จำนวน 13 บริษัท รวม 21 ฉบับ เป็นหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามหลักฐานบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างๆ ระบุว่า นายพูนผล อัศวเหม และคู่สมรส เป็นผู้ถือหุ้น โดยบางบริษัทเป็นกรณีที่รับโอนหุ้นมาจากบิดา บางบริษัทเป็นกรณีที่บิดาเป็นผู้ติดต่อซื้อหุ้นหรือกิจการแล้วใส่ชื่อบุตรสามคนเป็นผู้ถือหุ้น
คำให้การของนายพูนผล อัศวเหม ที่ว่าเป็นหุ้นของพี่ชาย จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ สัญญาโอนหุ้นที่นายพูลผล อัศวเหม นำมาแสดง ก็ปรากฏว่า จำนวนบริษัท และจำนวนหุ้นตามสัญญาโอน มีน้อยกว่าจำนวนหุ้นที่อยู่ในชื่อของนายพูนผล อัศวเหม และคู่สมรส ทั้งเป็นสัญญาโอนหุ้นที่มิได้ทำตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง กำหนด รวมทั้ง ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท กล่าวคือ
สัญญาทุกฉบับไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้รับโอน ในจำนวนนี้ 10 ฉบับ ไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรอง และ 8 ฉบับ มีพยานลงลายมือชื่อรับรองเพียงคนเดียว สัญญาโอนหุ้นจึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลทางกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายพูนผล จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 295
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายพูนผลจงใจปกปิดบัญชีฯ เมื่อ 19 ส.ค.47 (คำวินิจฉัยที่ 51/2547)
ขณะที่ นายพิบูลย์ อัศวเหม นักธุรกิจลูกชายคนโตของนายวัฒนา ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริต แต่ นายจตุพัฒน์ บารมี คนใกล้ชิดและเป็นผู้รับโอนหุ้นจากนายพิบูลย์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุก เป็นเวลา จำคุก 4 เดือน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่านายจตุพัฒน์ บารมี ผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สองครั้ง ครั้งแรกวันที่ 26 ก.พ.51 และครั้งที่สอง 2 วันที่ 9 ต.ค.51 และพ้นตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 2 ส.ค.51 และพ้นครั้ง 2 วันที่ 22 ธ.ค.51
ในการยื่นบัญชีฯรับตำแหน่งและพ้นตำแหน่ง ทั้ง 2 ครั้ง นายจตุพัฒน์ระบุว่ามีเงินลงทุนในบริษัทเกาะกลางสวน จำกัด จำนวน 600,000 หุ้นมูลค่า หุ้นละ 100 บาท รวมมูลค่า 60 ล้านบาท แต่ในการยื่นบัญชีฯกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปีทั้งสองครั้งเงินลงทุนดังกล่าวหายไป โดยได้โอนไปให้นายพิบูลย์ อัศวเหม
ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพบว่า นายจตุพัฒน์ถือครองหุ้นแทนนายพิบูลย์มาตั้งแต่ต้นและได้โอนคืนแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค.52
ป.ป.ช.มีมติว่าการที่นายจตุพัฒน์ยื่นบัญชีฯระบุว่ามีเงินลงทุนจำนวนดังกล่าว ทั้งที่ความจริงหุ้นดังกล่าวมีนายพิบูลย์เป็นเจ้าของ ถือว่ายื่นบัญชีฯเท็จ และการที่มิได้หมายเหตุหรือจดแจ้งให้ถูกต้องตรงตามความจริงเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
สำหรับการยื่นบัญชีฯ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปีทั้งสองครั้ง นายจตุพัฒน์มิได้แจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบว่า เหตุที่มิได้แสดงรายการทรัพย์สินที่เป็นเงินลงทุนในบริษัทเกาะกลางสวน จำกัด ตามที่เคยยื่นแสดงไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่แท้จริงของนายจตุพัฒน์ แต่เป็นของนายพิบูลย์ และได้โอนคืนให้แก่นายพิบูลย์แล้ว การไม่แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่านายจตุพัฒน์ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
แต่เนื่องจากกรณีการยื่นบัญชีฯเข้ารับตำแหน่งและพ้นตำแหน่งทั้งสองครั้ง ล่วงเลยระยะเวลาที่ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และขาดอายุความทางอาญาแล้วความจึงยุติเรื่อง เหลือเฉพาะจงใจยื่นบัญชีฯเท็จกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปีทั้งสองครั้งเท่านั้น
ศาลพิพากษาว่านายจตุพัฒน์ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบโดยปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งทีทั้งสองกรณี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 22 ธ.ค.2551 กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท นายจตุพัฒน์ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ในการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่านายจตุพัฒน์ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
นี่คือชะตากรรมของคนในครอบครัวอัศวเหม ก่อนเป็นคิวของ“ชนม์สวัสดิ์”หมาดๆ
อ่านประกอบ:
เปิดฐานธุรกิจหมื่นล้าน“เสี่ยเอ๋-ชนม์สวัสดิ์”กุมหัวใจ“เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ”
ย้อนตำนาน นักการเมือง "ขาใหญ่" ก่อน“ประชา” ใครบ้างถูกออกหมายจับ คดีทุจริต?
สินทรัพย์ธุรกิจเครือ“วัฒนา อัศวเหม” 22 บริษัท 10,387 ล้าน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google