แกะรอยหลักฐาน'ผู้ว่าฯโคราช'สู้คดีถนนเพชรบูรณ์ ขัดแย้งผลสอบพื้นที่ป่าไม้
แกะรอยหลักฐาน'ผู้ว่าฯโคราช' เตรียมใช้สู้คดีทำถนนคอนกรีตสมัยอยู่ 'เพชรบูรณ์' ระบุชัดโครงการอยู่ในเขตพื้นที่สาธารณะ กว่า 2.4 พันเมตร ขณะที่ อดีตหน.อุทยานเขาค้อ เผยเส้นทางผ่านเขตอุทยาน มีการจับกุมก่อนทำเรื่องขออนุมัติ แต่ในส่วนพื้นที่อื่นคาดอยู่ในเขตป่าไม้ ไม่ได้ขออนุญาตตั้งแต่ต้น
ในการชี้แจงข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ของ นายวิเชียร จันทรโณทัย อดีตผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา) ต่อกรณีการถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จ.เพชรบูรณ์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ให้ดำเนินคดี ในข้อหาร่วมกันอนุมัติและดำเนินโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ในพื้นที่ ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เขตพื้นที่ป่าไม้ลุ่มน้ำชั้น 1A ทั้งที่ กรมป่าไม้ ยังไม่ได้มีการอนุญาต นั้น
นายวิเชียร จันทรโณทัย ได้ส่งมอบเอกสารแสดงรายละเอียดการดำเนินงานโครงการนี้ ให้กับสำนักข่าวอิศรา ด้วย
โดยระบุว่า เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า ในการดำเนินงานโครงการนี้ ได้มีการแจ้งตรวจสอบสถานะของพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีต ระยะทาง 3,150 เมตร แบ่งออกเป็นพื้นที่สาธารณะ 2,471 เมตร และพื้นที่ในเขตอุทยาน 680 เมตร
ซึ่งในส่วนของพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาตินั้น นายวิเชียร ระบุว่า ได้สั่งการต่อเจ้าหน้าที่ไปว่า แม้ในขั้นตอนการประกวดราคาจะได้ตัวผู้ว่าจ้างแล้ว แต่ยังไม่ต้องลงนาม ให้รอจนกว่าจะได้รับการอนุญาตจากทางอุทยาน ถึงจะเริ่มดำเนินการได้ และทราบว่ามีการทำเรื่องขออนุญาติแล้ว
อันนำมาซึ่งความสงสัยของ นายวิเชียร ว่า ในเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ทำไมตนถึงต้องถูกป่าไม้ แจ้งความว่า ก่อสร้างถนนคอนกรีตในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูลเอกสารรายละเอียดการดำเนินงานโครงการนี้ พบว่า มีการระบุข้อมูลสถานะพื้นที่ระยะทาง 3,150 เมตร ที่จะดำเนินงานโครงการนี้ ไว้ 2 ส่วน คืออยู่ในเขตทางสาธารณะ 2,470 เมตร อุทยานแห่งชาติเขาค้อ 680 เมตร ตามที่ นายวิเชียร ระบุไว้จริง
ส่วนวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการนี้ มี 3 ข้อ คือ 1. เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการเดินทางให้กับประชาชน 2.เพื่อใช้เป็นทางตรวจการป้องกันการบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาค้อ และ 3.เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นชุมชนเข้มแข็งและเป็นการเพิ่มรายได้ของครอบครัวตนเองต่อไป
กำหนดวงเงินราคากลางก่อสร้างอยู่ที่ 15 ล้านบาท
หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ที่ทำการปกครองอำเภอหล่มเก่า , อุทยานแห่งชาติเขาค้อ
ผู้รับผิดชอบ โครงการคือ นายสอาด สิงห์งาม นายอำเภอหล่มเก่า (ตำแหน่งในขณะนั้น) และ นายสุกฤดิ์ กระต่ายจันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ (ตำแหน่งในขณะนั้น) (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายชิต อินทระนก ป่าไม้จ.เพชรบูรณ์ ที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ นายวิเชียร จันทรโณทัย อดีตผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจ.นครราชสีมา) นายสอาด สิงห์งาม อดีตนายอำเภอหล่มเก่า และบริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด โดยนายไพโรจน์ มะนาวหวาน ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า หัวใจสำคัญของคดีนี้ อยู่ที่ การดำเนินโครงการโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
"หลังจากที่ป่าไม้ได้รับแจ้งข้อมูลจาก สตง. ก็ได้เข้าทำตรวจสอบพื้นที่ พบว่า เป็นการดำเนินการทำถนนคอนกรีตเพื่อปรับปรุงทางถนนเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น แต่เนื่องจากการดำเนินงานยังไม่ได้มีการขออนุญาตจากทางป่าไม้ จึงถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะมีการทำเรื่องขออนุญาตย้อนหลังก็ตาม"
ขณะที่ นายชิต อินทระนก ป่าไม้จ.เพชรบูรณ์ ยอมรับว่าการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ เกิดขึ้นภายหลังจาก เจ้าหน้าที่ สตง. สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 10 จ.พิษณุโลก ได้เข้าทำการตรวจสอบการก่อสร้างถนนดังกล่าว พบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการตามสัญญาจ้าง และพบว่าพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ตามมติ ครม.ในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2538 ซึ่งอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาถนนพิษณุโลก
จากนั้น ทาง สตง. จึงทำหนังสือแจ้งให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 4 สาขาพิษณุโลก เข้าตรวจว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างถนนคอนกรีตดังกล่าว เป็นการดำเนินการในพื้นที่หวงห้ามหรือไม่ หากพบก็ให้ได้เดินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ผลการตรวจสอบของ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่า บริเวณก่อสร้างถนนคอนกรีตสายนี้ อยู่ในพื้นที่กรมประชาสงเคราะห์เดิมได้นำพื้นที่ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา เผ่าม้ง ตามมติ ครม. ปี 2505 และจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังไป 5 ชั้นปี พบว่า เมื่อปี 2501 มีเส้นทางที่ราษฎรบ้านทับเบิกใช้สัญจรไปมา ก่อนที่จะมีการขยายเส้นทางใหม่ คือ สายบ้านเนิน -บ้านทับเบิก
โดยเบื้องต้น จากการประสานงานกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพรชบูรณ์ ถึงการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่ากรณีนี้ พบว่า ผู้ว่าจ้างได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ผ่านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบูรณ์ หลังมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจากการหาค่าพิกัดพบว่า การก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1 คิดคำนวณพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ได้ประมาณ 8-3-55 ไร่ ค่าความเสียหายของรัฐอยู่ที่อัตราไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,333,125 บาท
(อ่านประกอบ : ชัดๆ ข้อกล่าวหา "ผู้ว่าฯโคราช"ทำถนนในเขตป่าไม่ขออนุญาต สมัยอยู่ "เพชรบูรณ์")
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานการตรวจสอบของป่าไม้ มิได้มีการระบุถึงข้อมูลพื้นที่ถนนในเขตอุทยานแห่งชาติ 680 เมตร และพื้นที่ในเขตทางสาธารณะ 2,470 เมตร ตามที่อำเภอรายงานรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ ลงที่นามโดยนายสอาด สิงห์งาม อดีตนายอำเภอหล่มเก่า แต่อย่างใด
คำถามที่น่าสนใจ ตามมา คือ ทำไมข้อมูลเรื่องพื้นที่ ของทางจังหวัด และป่าไม้ ดูเหมือนจะความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน
รวมถึงประเด็นเรื่องข้อสังเกต ของ นายวิเชียร ที่ระบว่า ทำไมป่าไม้ ถึงไม่ออกมาคัดค้านการดำเนินงานโครงการนี้ ตั้งแต่ต้น จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไปเกือบปี และสตง.เข้าไปตรวจสอบก็พบว่า พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ตามมติ ครม.ในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2538 ซึ่งอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาถนนพิษณุโลก
ทางป่าไม้ ถึงมีการจัดส่งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบ และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่สุด
ล่าสุดในช่วงสายวันที่ 11 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายสุกฤดิ์ กระต่ายจันทร์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ซึ่งปรากฎชื่ออยู่ในเอกสารการดำเนินงานโครงการก่อสร้างถนน เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง
นายสุกฤดิ์ ระบุว่า การก่อสร้างถนนคอนกรีตสายนี้ มีหลายส่วนหลายตอน แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบพบว่า ทางอำเภอซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจากทางจังหวัดให้เข้ามาก่อสร้างถนน ผ่านพื้นที่ของอุทยานฯ โดยไม่ได้รับการอนุญาต จึงได้เข้าทำการจับกลุ่ม หลังจากนั้น ทางอำเภอจึงมีการทำเรื่องขออนุญาตเข้ามาเป็นทางการ ถนนในส่วนที่ผ่านอุทยานจึงสามารถดำเนินการต่อได้ ส่วนโครงการที่เหลือในพื้นที่อื่น ไม่ทราบว่าอำเภอไปดำเนินการอย่าง
"เหตุผลที่ผมปรากฎชื่ออยู่ในเอกสารแสดงรายละเอียดโครงการถนนนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่อุทยานเข้าไปจับกุมคนที่เข้ามาก่อสร้างถนน สายนี้ ในพื้นที่เขตอุทยานโดยไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งหลังจากทำเรื่องขออนุญาตอุทยานเป็นทางการแล้ว ปัญหาในส่วนของอุทยานก็จบไป แต่ในส่วนการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ป่าไม้ ไม่ทราบว่าช่วงแรกที่อำเภอเสนอขออนุมัติงบประมาณไปที่จังหวัด ทางอำเภอทำข้อมูลเสนอไปแบบไหน ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะถ้าหากมีการแจ้งข้อมูลไม่ตรง พื้นที่อยู่ในเขตป่าไม้ แต่ไปแจ้งว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ และยังไม่ได้มีการขออนุญาต ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น"
ส่วนกรณีที่ สตง.ตรวจสอบพบว่า ถนนที่ก่อสร้าง ไม่เป็นไปตามรูปแบบนั้น นายสุกฤดิ์ กล่าวว่า "เรื่องนี้ตนคงไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ เนื่องจากเป็นงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ไม่ใช่ของอุทยานแห่งชาติ เพราะเราไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอะไรด้วย"
ทั้งนี้ จากคำชี้แจงของ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ดังกล่าว ชี้ให้เห็นข้อมูลที่สำคัญว่า ในกระบวนการทำข้อมูลพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนนของ อำเภอหล่มเก่า อาจมีปัญหาเรื่องความไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้าง ว่าอยู่ในเขตสาธารณะ ขณะที่ในข้อเท็จจริงพื้นที่ส่วนนี้ เป็นพื้นที่ป่าไม้ และยังไม่ได้มีการขออนุญาตมาตั้งแต่ต้น
และอาจทำให้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การไม่ขออนุญาตทำโครงการ แต่จะมีประเด็นเรื่องการทำข้อมูลเท็จ เพื่อเสนอขออนุมัติงบเพิ่มเติมด้วย?
ขณะที่นายวิเชียร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า เพิ่งทราบข้อมูลว่าพื้นที่ทำถนนในโครงการนี้ เป็นพื้นที่ป่าไม้ และยังไม่ได้มีการขออนุญาตเหมือนกัน เพราะข้อมูลที่ได้รับรายงานเข้ามาระบุว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ขณะที่อบจ.ก็มีการใช้งบประมาณ เข้าไปซ่อมแซมอยู่ตลอด ถ้าตนทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ ก็คงจะมีการทำเรื่องขออนุญาตไปแล้ว
"ตอนนี้กำลังพยายามติดต่อนายอำเภอท่านเก่า ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องการทำข้อมูลเท็จ เพื่อของบประมาณ น่าจะเป็นเรื่องความผิดพลาดในการประสานข้อมูลกันมากกว่า"
อ่านประกอบ :
ไม่มีที่ดินอ.หล่มเก่า! ผู้ว่าฯโคราช ยันอนุมัติทำถ.คอนกรีตสมัยอยู่เพชรบูรณ์ โปร่งใส
ชัดๆ ข้อกล่าวหา "ผู้ว่าฯโคราช"ทำถนนในเขตป่าไม่ขออนุญาต สมัยอยู่ "เพชรบูรณ์"