เปิดผลสอบลับโชห่วยช่วยชาติ“ร้านถูกใจ”ประจาน"ก.พาณิชย์"ใช้งบพันล.?
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดผลสอบลับโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ประจานกระทรวงพาณิชย์ ส่อถลุงงบพันล้าน ในอุ้งมือ ป.ป.ช.? อนุกมธฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่ตรวจสอบพบการดำเนินงานมีปัญหาเพียบ!!
ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการระบายข้าวถุง ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่คณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวถุง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการสอบสวนต่ออยู่ในขณะนี้
มีการระบุถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานโครงการ โชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ของกระทรวงพาณิชย์ รวมอยู่ด้วย
คณะอนุกมธฯ ระบุว่า การจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ใช้งบประมาณนับพันล้านบาท ในการดำเนินการโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ขณะที่ในขั้นตอนการดำเนินงานตรวจสอบพบว่า มีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ
อาทิ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องประสบปัญหาต่างๆ ในการสั่งซื้อ ทั้งเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้รับการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ที่ยังไม่เข้าใจในความชัดเจนด้านกระบวนการ สั่งซื้อเกี่ยวกับระยะเวลาในการสั่งซื้อ ซึ่งเดิมการกำหนดให้ร้านค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้เฉพาะในช่วงของต้นสัปดาห์ แต่ภายหลังให้ร้านค้าสามารถสั่งซื้อผ่านไปรษณีย์ได้ทุกวัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ยังไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมรับรายการสั่งซื้อจากร้านค้า
นอกจากนี้ร้านค้าจำนวนมากยังคงเกิดความสับสนต่อข้อกำหนดในการสั่งซื้อสินค้าบางรายการ ในด้านปริมาณการสั่งซื้อ เนื่องจากสินค้าบางอย่างมีข้อกำหนดในการสั่งซื้อที่จำนวนขั้นต่ำไว้ในปริมาณมาก เช่น แปลงสีฟันบางยี่ห้อให้ร้านค้าซื้อขั้นต่ำมากถึง 12 โหล ซึ่งเกินความจำเป็นต่อจำนวนประชากรในแต่ละตำบลนั้นๆ
ขณะเดียวกันมีร้านค้าบางร้านตั้งข้อสังเกตไปถึงราคาจำหน่ายสินค้าประเภท นมสด ยูเอสที บางยี่ห้อว่าผู้ขายมีกำไรเพียง 0.25 บาท ต่อกล่อง เท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มต่อการแช่เย็น ขณะที่ราคาจำหน่ายปลีกของสินค้าบางอย่างกลับไม่แตกต่างจากราคาที่มีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
ส่วนการบริหารจัดการในเรื่องของการขนส่งสินค้า ที่เดิมทีจะจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้จัดส่งสินค้ากระจายไปตามร้านในชุมนุมต่างๆ ปรากฎแนวคิดนี้ไม่เป็นที่สอดคล้องกับความจริง เพราะปกติบุรุษไปรษณีย์ใช้รถจักรยานยนต์ไปส่งจดหมายในแต่ละตำบล แต่จะเปลี่ยนให้เอาข้าวสาร น้ำมันพืชน้ำตาลไปส่งด้วย จึงทำไม่ได้ ถ้าไม่ให้เงินเดือนเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนพาหนะ ซึ่งกรมการค้าภายในก็ทราบปัญหานี้ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นบริษัทนิ่มซี่เส็งกับแม็คโครเป็นผู้กระจายสินค้าไปยังร้านค้าแต่ก็ยังแก้ปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ล่าช้าไม่ได้
คณะอนุกมธฯ ยังตรวจสอบบพว่า สินค้าที่จำหนายในโครงการ มีเพียงบางรายการเท่านั้น ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ กล่าวคือ ข้าวสาร 5% ขนาด 5 กิโลกรัมที่ราคา 70 ถูกกว่าตลาด 40-50 บาท ทำให้ประชาชนเดินเข้ามาซื้อข้าวในร้านและเลือกสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในร้านไปด้วย แต่ก็ซื้อไม่มาก เพราะสินค้าอื่นๆ ไม่ได้ตรงกับความต้องการ หรือหากเปรียบเทียบก็ถูกกว่า ตลาดเพียง 1-2 บาท ต่อชิ้นเท่านั้น
คณะอนุกมธฯ ยังเสนอความเห็นประกอบว่า การดำเนินโครงการ"ร้านถูกใจ"ทำยากเพราะรัฐบาลไม่ใช่พ่อค้า อยู่ๆ ไปตั้งร้านค้าแข่งกับเอกชน ทำให้สู้ไม่ได้ เหมือนสมัยหนึ่งทำบริษัทร่วมค้าปลีกเข้มแข็ง ซึ่งมีลักษณ์คล้ายกับร้านถูกใจ ก็ประสบปัญหาขาดทุน เพราะอย่างแรกซัพพลายเออร์ไม่ผลิตสินค้าราคาถูกให้แน่ๆ เพราะหากเขาทำสัญญาราคาถูกให้โชว์ห่วย ก็แข่งกับสินค้าของเขาที่ขายผ่านโมเดิร์นเทรด
อย่างที่สองคือ เรื่องการจัดส่งสินค้าควบคุมลำบาก ไม่มีทางกำหนดได้เลยว่าให้ไปส่งตอนนั้นตอนนี้ แล้วถ้าสินค้าหมดไม่มีขาย สุดท้ายลูกค้าก็เปลี่ยนไปซื้อที่อื่น ดังนั้น โครงการนี้ นอกจากจะเสียเงินจำนวนมากแล้ว ยังเสียความเชื่อมั่น เสียภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์อีกด้วย เพราะถ้าร้านถูกใจไปไม่รอดก็จะถูกจดจำประวัติศาศาสตร์ ซึ่งโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จก็มากด้วย
“งบประมาณโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ที่ได้จากรัฐบาล 1,320 ล้านบาท จะสูญเปล่า และมีระยะเวลาดำเนินโครงการเพียง 1 ปีเท่านั้น เป็นโครงการนำร่อง คล้ายๆ ผักชีโรยหน้า เหตุใดจึงไม่ทำถาวรก็ไม่รู้เหมือนกัน หรือว่าค่าครองชีพมันจะกลัวแล้วรีบลดลงอย่างถาวร ทำเป็นเล่นขายของไปได้ หรือว่าจะไปปลุกชีพร้านโชห่วยของเอกชนให้พื้นขึ้นมาบ้าง แล้วก็ให้ตายสนิทไปเลย” คณะอนุกมธฯ ระบุ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า โครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” (1ร้านค้า 1 ชุมชน) เป็นหนึ่งในโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 และได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการ วงเงิน 1,320 ล้านบาท เป็นโครงการที่จะให้การสนับสนุน ร้านโชห่วย รวมทั้งร้านอาหารธงฟ้า โดยมีเป้าหมายจำนวน 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ร้านที่เข้าร่วมจะหน่ายสินค้าที่จำเป็น 20 รายการ รวมถึงจัดทำแบรนด์ “ร้านถูกใจ”
มีแผนการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่1 เริ่มในช่วงเดือนเมษายน 2555 ในเขตกทม.ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ 15 จังหวัด (ในเขตอำเภอเมือง) รวม 2,000 แห่ง และระยะที่ 2 เริ่มในเดือนพฤษภาคม 2555 ในทุกจังหวัดอีก 8,000 แห่ง
สำหรับงบประมาณจำนวน 1,320 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตกแต่งร้านค้า 10,000 บาท ต่อร้าน ค่าบริหารจัดการร้าน 10,000 บาทต่อร้าน ค่าจัดหาวัตถุดิบและซื้อสินค้าเข้าร้าน 100 ล้านบาทต่อโครงการ ค่าโลจิสติกส์และติดตั้งระบบเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ระหว่างบริษัท ไปรษณีย์ จำกัด และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 500 ล้านบาทต่อโครงการ และค่าจ้างแรงงาน 1,000 คน 100 ล้านบาทต่อโครงการ