เปิดผลสอบ อปท.6จว.ถลุงงบซื้อเรือผักตบ 8 หมื่น/ลำ ยุคบิ๊กตู่ ขนาดใหญ่กว่าคลอง-ไม่ค่อยใช้ปย.!
"...จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการฯ พบว่า การดำเนินโครงการฯ ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาเกิดความยั่งยืน พิจารณาได้จากการดำเนินโครงการล่าช้าไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาการแก้ไขปัญหาผักตบชวาตามแผนที่กำหนดไว้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ หรือมีการใช้ประโยชน์น้อยนอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตในเรื่องความแตกต่างของราคาในการจัดซื้อเรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีการจัดซื้อในราคาที่แตกต่างกันมากทั้งที่เป็นครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกันและจัดซื้อจากผู้จำหน่ายรายเดียวกัน..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เป็นรายละเอียดผลการตรวจของ สตง. เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2560 รวมวงเงิน 63.68 ล้านบาท ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้การบริหารงาน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พบปัญหาจัดซื้อเรือเพื่อนำมาใช้ในงานโครงการกำจัดผักตบชวาฯ ในราคาที่แตกต่าง ทั้งที่เป็นครุภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะเหมือนกัน ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 130 แห่ง เรือ จำนวน 172 ลำ งบประมาณรวมจำนวน 13.76 ล้านบาท มีเอกชนรายหนึ่ง ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาจำหน่ายเรือตามโครงการฯ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 6 จังหวัด มากที่สุดจำนวน 58 แห่ง ขณะที่ราคาจำหน่ายเรือตามโครงการฯ มีความแตกต่างกัน ราคาจำหน่ายต่ำสุดอยู่ที่ลำละ 72,000 บาท และจำหน่ายในราคาสูงสุดลำละ 79,800 บาท ทั้งที่ เป็นการขายเรือที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเดียวกัน และจังหวัดใกล้เคียง ไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องระยะทางการขนส่งมากนัก
....................
@ ที่มาที่ไปโครงการ
ผักตบชวา ที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ มีการเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน การแก้ไขปัญหาผักตบชวาของรัฐได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถกำจัดผักตบชวาให้หมดสิ้นไปได้
รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนการกำจัดผักตบชวาประจำปี 2559 เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างเป็นรูปธรรม และมอบหมายให้พิจารณาจัดหาเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์และสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเก็บผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นภารกิจประจำทุกสัปดาห์เพื่อป้องกันมิให้ผักตบชวามีการเติบโตและขยายพันธุ์อีก
โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลางเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณจำนวน 67.38 ล้านบาท เพื่อจัดหาเรือท้องแบนไฟเบอร์กลาสพร้อมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ประจำเรือ จำนวน 834 ลำ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 31 จังหวัด จำนวน 539 แห่ง เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการนำเรือไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของผักตบชวา ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาเป็นไปอย่างยั่งยืน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เล็งเห็นความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาตามโครงการดังกล่าว ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง และกระจายไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ มากกว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบเป็นภารกิจประจำทุกสัปดาห์ จึงจะสามารถหยุดยั้งการเติบโตหรือขยายพันธุ์ของผักตบชวาได้ซึ่งในการดำเนินการอาจมีปัญหาในทางปฎิบัติที่เป็นข้อจำกัดทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถใช้เรือตามโครงการฯ ในการดำเนินภารกิจกำจัดผักตบชวาได้อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องความเหมาะสมในการใช้งานในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีสภาพปัญหาผักตบชวาแตกต่างกัน ความจำเป็นในการใช้เรือและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการเข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 130 แห่ง เรือ จำนวน 172 ลำ งบประมาณรวมจำนวน 13.76 ล้านบาท
@ ผลการตรวจสอบโครงการ
จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการฯ พบว่า การดำเนินโครงการฯ ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาเกิดความยั่งยืน พิจารณาได้จากการดำเนินโครงการล่าช้าไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาการแก้ไขปัญหาผักตบชวาตามแผนที่กำหนดไว้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย
นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตในเรื่องความแตกต่างของราคาในการจัดซื้อเรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีการจัดซื้อในราคาที่แตกต่างกันมากทั้งที่เป็นครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกันและจัดซื้อจากผู้จำหน่ายรายเดียวกัน
มีรายละเอียดข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
@ การดำเนินโครงการฯ ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาเกิดความยั่งยืน
โครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเรือไฟเบอร์กลาสพร้อมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ประจำเรือ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้โอนเงินงบประมาณดังกล่าวจากส่วนกลางมาตั้งจ่ายสำนักงานคลังจังหวัด ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีจนถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2561 และให้จังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อเรือท้องแบนไฟเบอร์กลาสพร้อมเครื่องยนต์ตามรายละเอียดคุณลักษณะและวงเงินงบประมาณที่กำหนดในราคาลำละ 80,000 บาท
เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาเรือตามโครงการฯ แล้วเสร็จ ให้นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บผักตบชวาและดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้ผักตบชวามีการเติบโตและขยายพันธุ์อีก หรือเพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ที่จำเป็นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) จำนวน 6 จังหวัด ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามโครงการฯ จำนวน 130 แห่ง สำหรับจัดหาเรือ จำนวน 172 ลำ งบประมาณรวมจำนวน 13.76 ล้านบาท
พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อเรือตามโครงการฯ จำนวน 119 แห่ง เรือจำนวน 159 ลำ มีการเบิกจ่ายงบประมาณในการจัดซื้อทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 12.31 ล้านบาท และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 11 แห่ง มีการส่งคืนงบประมาณในการจัดซื้อเรือตามโครงการฯ จำนวน 13 ลำ เป็นเงินจำนวน 1.04 ล้านบาท
@ การดำเนินงานล่าช้าไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาการแก้ไขปัญหาผักตบชวา
จากการประเมินผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ในการดูแลรักษาแหล่งน้ำและจัดเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ผักตบชวาขยายพันธุ์อีก พบว่า การดำเนินโครงการฯ ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหา
ผักตบชวาเกิดความยั่งยืน พิจารณาได้จากการดำเนินการจัดหาเรือตามโครงการฯ เป็นไปอย่างล่าช้าไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาการแก้ไขปัญหาผักตบชวาตามแผนที่กำหนดไว้ และเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับมอบเรือตามโครงการฯ มาแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย มีรายละเอียดดังนี้
1. การดำเนินโครงการฯ ล่าช้าไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ตามแผนที่กำหนดไว้ ตามแผนการกำจัดผักตบชวาประจำปี 2560 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรการป้องกัน (เก็บเล็ก) โดยต้องทำการเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เป็นภารกิจประจำทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันมิให้ผักตบชวามีการเติบโตและขยายพันธุ์อีกภายหลังจากการดำเนินมาตรการกำจัดผักตบชวา (เก็บใหญ่) ในแต่ละพื้นที่แล้วเสร็จ
แต่จากการตรวจสอบพบว่า ระยะเวลาการแจ้งโอนจัดสรรงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อและรับมอบเรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 119 แห่ง อยู่ในระหว่างช่วงเดือนมีนาคม – เดือนตุลาคม 2561 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวได้ผ่านพ้นการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการกำจัดผักตบชวาประจำปี 2560 ที่กำหนดให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำพร้อมกันทั่วประเทศ (Kick off ) ในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2560ทำให้เรือตามโครงการฯ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับ จึงไม่สามารถใช้งานในการดำเนินมาตรการป้องกัน (เก็บเล็ก) ได้ทันกับช่วงเวลาที่มีการดำเนินการกำจัดผักตบชวาพร้อมกันทั่วประเทศ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ดำเนินการจัดซื้อและได้รับมอบเรือตามโครงการฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 ซึ่งอยู่ในช่วงการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาผักตบชวาประจำปี 2561 ที่ไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดวิธีการดำเนินการที่ชัดเจนเหมือนกับปีที่ผ่านมา มีเพียงหนังสือของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ มท 0810.5/ว 1004 ลงวันที่ 5 เมษายน 2561 เรื่องการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ประจำปี พ.ศ. 2561 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น
จึงอาจทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ปัญหาผักตบชวาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน
@ ไม่นำเรือไปใช้ประโยชน์หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำเรือไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย ภายหลังจากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดหาเรือตามโครงการฯ แล้วเสร็จ จะต้องน้ำเรือตามโครงการฯ ไปจัดเก็บผักตบชวาในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องเป็นภารกิจประจำทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันมิให้ผักตบชวามีการเติบโตและขยายพันธุ์อีก
จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากเรือตามโครงการฯ ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 119 แห่ง เรือจำนวน 159 ลำ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงจำนวน 26 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 21.85 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ให้ข้อมูลว่ามีการนำเรือตามโครงการฯ จำนวน 33 ลำ หรือคิดเป็นร้อยละ20.75 ของจำนวนเรือทั้งหมด ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลืออีกจำนวน 93 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 78.15 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ให้ข้อมูลว่าเรือตามโครงการฯ จำนวน 156 ลำ หรือคิดเป็นร้อยละ 79.25ของจำนวนเรือทั้งหมด ยังไม่มีการนำใปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย
และจากการตรวจสอบการจัดทำทะเบียนคุมการใช้เรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน119 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 69 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 57.98 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ยังไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมการใช้เรือตามโครงการฯ แต่อย่างใด
@ ความไม่เหมาะสมของเรือตามโครงการฯ
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการใช้ประโยชน์จากเรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาเกิดความยั่งยืน ซึ่งเกิดจากปัญหา และอุปสรรคในการใช้งานหลายประการ ทั้งในส่วนของความไม่เหมาะสมของเรือในการนำไปใช้งานในแต่ละพื้นที่ การเลือกใช้วิธีการกำจัดผักตบชวาที่ไม่จำเป็นต้องใช้เรือในการดำเนินการ และการขาดความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำเรือไปใช้งาน มีรายละเอียดดังนี้
2.1 ความไม่เหมาะสมของเรือตามโครงการฯ ในการนำไปใช้กำจัดผักตบชวาในพื้นที่ในการดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของเรือไฟเบอร์กลาสขนาด 17 ฟุต โดยมีความยาวไม่น้อยกว่า 5.30 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร พร้อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดไม่น้อยกว่า 13 แรงม้า แบบหางยาวพร้อมอุปกรณ์ประกอบ
จากการตรวจสอบพบว่า เรือตามโครงการฯ ไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้กำจัดผักตบชวาในพื้นที่ ดังนี้
1) แหล่งน้ำในพื้นที่มีขนาดเล็กไม่สามารถนำเรือตามโครงการฯ ลงไปใช้งานได้ โดยพบว่า แหล่งน้ำในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดซื้อเรือตาม โครงการฯ มีจำนวน 1,080 แห่ง แบ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดความกว้างต่ำกว่า 3.00 เมตร ไม่สามารถนำเรือลงไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาได้ จำนวน 78 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 7.22 ของแหล่งน้ำทั้งหมด และมีแหล่งน้ำที่มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 3.00-5.00 เมตร จำนวน 245 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 23.52 ของแหล่งน้ำทั้งหมด ซึ่งสามารถนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้งานได้ แต่อาจจะมีปัญหาใช้งานได้ไม่สะดวก เนื่องจากหางเครื่องยนต์มีลักษณะยาวทำให้เกิดความลำบากในการกลับเรือในแหล่งน้ำ ประกอบกับแหล่งน้ำบางแห่งมีขนาดไม่เท่ากันตลอดทั้งเส้น บางช่วงมีความแคบและตื้นเขิน และมีสิ่งก่อสร้างตั้งขวาง เช่น สะพาน ประตูระบายน้ำ เป็นต้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำนั้นๆ
2) แหล่งน้ำในพื้นที่มีจำนวนน้อยและมีปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวาไม่รุนแรงจะมีเฉพาะในบางช่วงเวลาเท่านั้น จึงไม่ได้นำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบพบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 17 แห่ง ที่มีแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 1-3 แห่ง เท่านั้น และมีปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวาไม่รุนแรงอยู่ในระดับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถควบคุมได้ เป็นผลทำให้เรือที่ได้รับตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 14 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.35 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบน้อย ยังไม่มีการนำเรือตามโครงการไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา หรือมีการนำไปใช้ประโยชน์น้อย เพียง 1-2 ครั้ง เท่านั้น
3) เรือตามโครงการฯ มีลักษณะเป็นเรือโดยสาร เมื่อนำมาใช้เก็บขนผักตบชวาทำให้ใช้งานได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร จากลักษณะของเรือตามโครงการฯ ที่มีที่นั่งเป็นโครงสร้างเดียวกับเรือสำหรับผู้โดยสารจำนวน 3 แถว ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับบรรจุผักตบชวาได้น้อยลง โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งให้ข้อมูลว่า เรือตามโครงการฯ เหมาะสำหรับใช้เป็นเรือโดยสารมากกว่านำมาใช้ในการปฏิบัติงานกำจัดผักตบชวา
2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีวิธีการควบคุมการแพร่กระจายของผักตบชวาโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือตามโครงการฯ โดยพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีวิธีการดำเนินการกำจัดผักตบชวาที่หลากหลาย แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่โดยแบ่งเป็นการแก้ไขปัญหากรณีเกิดปัญหาผักตบชวาระดับรุนแรง และกรณีเกิดปัญหาผักตบชวาระดับไม่รุนแรง หรือเป็นการเฝ้าระวัง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เรือเป็นอุปกรณ์ในการดำเนินการ หรือมีเรือและเครื่องมือในการกำจัดผักตบชวาอยู่แล้ว ทำให้เรือตามโครงการฯ ยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย รายละเอียดดังนี้
- กรณีเกิดปัญหาผักตบชวาระดับรุนแรง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้วิธีการกำจัดโดยการจ้างเหมาเอกชนให้มาดำเนินการขุดลอกคลอง หรือการประสานขอความร่วมมือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่มาดำเนินการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ โดยจากการตรวจสอบ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ้านวน 73 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.34 ขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ใช้วิธีการกำจัดผักตบชวาโดยการจ้างเหมาเอกชน หรือขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาด้าเนินการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ ในกรณีที่ผักตบชวามีการแพร่กระจายอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่สามารถนำเรือตามโครงการฯ ไปดำเนินการกำจัดด้วยการใช้แรงงานคนได้ทันกับการแพร่กระจายของผักตบชวา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการกำจัดเป็นผลทำให้เรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 60 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ82.19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้วิธีการกำจัดผักตบชวาโดยการจ้างเหมาเอกชนหรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ยังไม่มีการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย
- กรณีเกิดปัญหาผักตบชวาระดับไม่รุนแรง หรือเป็นการเฝ้าระวัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้วิธีการว่าจ้างให้ประชาชน/ชุมชน ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำทำหน้าที่ดูแลกำจัดวัชพืชและผักตบชวาในแหล่งน้ำ การใช้ยากำจัดวัชพืชฉีดพ่นผักตบชวา การใช้แรงงานและเครื่องมือที่เป็นเครื่องจักร หรือเรือที่มีอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการกำจัดผักตบชวา หรือการจัดทำโครงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำจัดผักตบชวา เป็นต้น
โดยจากการสำรวจเครื่องมือที่เป็นเครื่องจักร หรือเรือที่มีอยู่ก่อนจะได้รับเรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 119 แห่ง พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 60 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 50.42 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด มีเรือท้องแบน หรือเครื่องจักรในการกำจัดผักตบชวา ได้แก่ เรือตัดผักตบชวา และรถแบคโฮ สำหรับใช้ในการกำจัดผักตบชวาอยู่ก่อนแล้ว และสามารถใช้งานในการกำจัดผักตบชวาได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้เรือตามโครงการฯ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 42 แห่ง จากทั้งหมด 60 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 70.00 ยังไม่มีการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์หรือมีการใช้ประโยชน์น้อย
2.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งขาดความพร้อมที่จะนำเรือตามโครงการฯไปใช้ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ ในการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ในการกำจัดผักตบชวานั้น เป็นการใช้งานในลักษณะใช้แรงงานคนเป็นหลักในการเก็บขนผักตบชวาขึ้นจากแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ ค่าจ้างแรงงาน และอาจมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายเรือกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีเครื่องมือในการขนย้าย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 54 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 45.78 ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ให้ข้อมูลว่ายังขาดความพร้อมที่จะนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ในการกำจัด ผักตบชวาในพื้นที่ เนื่องจากมีปัญหาบุคลากรหรือแรงงานในการจัดเก็บผักตบชวามีไม่เพียงพอและปัญหาค่าใช้จ่ายการขนย้ายเรือไปยังแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นผลทำให้เรือตามโครงการฯ ขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 46 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 85.19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดความพร้อมทั้งหมด ยังไม่มีการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาหรือมีการนำไปใช้ประโยชน์น้อย จากผลการดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาเกิดความยั่งยืน ส่งผลกระทบทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ เกิดความไม่คุ้มค่า คิดเป็นเงินจำนวน 9.76 ล้านบาท ที่ใช้ไปในการจัดซื้อเรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งยังไม่มีการ นำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาหรือมีการใช้ประโยชน์น้อย
นอกจากนี้ปัญหาผักตบชวายังคงมีอยู่และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำ และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำที่มีปัญหาผักตบชวา อันเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของผักตบชวาอย่างรวดเร็ว จนไปขัดขวางการไหลเวียนของน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย หรือเกิดความตื้นเขิน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้น และยังเป็นภาระของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของผักตบชวาได้ตามวัตุประสงค์ที่กำหนดไว้
@ สาเหตุของปัญหา
จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า มีสาเหตุสำคัญเกิดจาก
1. การจัดทำโครงการฯ ขาดการสำรวจข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับจำนวน ขนาด ของแหล่งน้ำและสภาพความรุนแรงของปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจากการตรวจสอบที่มาของโครงการฯ พบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แจ้งให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการสำรวจความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขอรับการสนับสนุนเรือเก็บผักตบชวา เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนตามมาตรการป้องกัน แต่ไม่มีการสอบถามถึงจำนวน ขนาด ของแหล่งน้ำ หรือสภาพปัญหาผักตบชวาในพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของเครื่องมือที่จะใช้ในการกำจัดผักตบชวาในแต่ละพื้นที่ เป็นผลทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเรือตามโครงการฯ มาแล้ว ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
2. ลักษณะของแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำ คลองชลประทาน หรือคลอง ที่เชื่อมต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง และอยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานอื่น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ได้นำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมการแพร่กระจายของผักตบชวาในแหล่งน้ำดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการและไม่มีศักยภาพเพียงพอในการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ประกอบกับลักษณะการแพร่กระจายของผักตบชวาที่สามารถไหลไปตามกระแสน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่หนึ่งไปยังแหล่งน้ำในอีกพื้นที่หนึ่งอย่างไม่มีขอบเขต จึงยากต่อการควบคุมและเฝ้าระวัง ทำให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เกิดความยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
โดยจากการสำรวจแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน119 แห่ง พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 44 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 36.97 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด มีแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวาจำนวนมากและรวดเร็ว เกินกว่าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้เรือตามโครงการฯ กับกำลังแรงงานคนในการกำจัดผักตบชวาได้ทันกับปริมาณผักตบชวาที่มีจำนวนมากปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงไม่ได้ดำเนินการเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำดังกล่าว เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่และไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการกำจัดผักตบชวาให้หมดไปได้
เมื่อเกิดปัญหาผักตบชวาหนาแน่นมากหรือได้รับการร้องเรียนจากประชาชน จะใช้วิธีการประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งมักจะเกิดความล่าช้าไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีทำให้เกิดการแพร่กระจายของผักตบชวาจากแม่น้ำ คู คลอง ที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ในพื้นที่ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำ คู คลอง ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีข้อจ้ากัดของแหล่งน้ำที่มีความยาวเชื่อมโยงในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น เมื่อมีการกำจัดผักตบชวาไม่พร้อมกัน ก็จะทำให้ผักตบชวา ในแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบไหลมาในเขตพื้นที่อีก จึงไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของผักตบชวาได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
3. ขาดการติดตามประเมินผลการนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีการแจ้งให้จังหวัดติดตามผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นไป ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ที่ มท 0810.5/ว 1004 ลงวันที่ 5 เมษายน 2561 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผักตบชวา ประจำปี พ.ศ.2561 แต่จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้ง 6 จังหวัด ไม่ได้มีการจัดทำสรุปผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในภาพรวมในแต่ละเดือนแต่อย่างใด และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบันทึกข้อมูลในระบบครบถ้วนหรือไม่ ทำให้ขาดข้อมูลในการนำไปประเมินผล วิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้สอดคล้องตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้การดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ เป็นไปอย่างประหยัด เกิดประโยชน์คุ้มค่า และสามารถแก้ไขปัญหาผักตบชวา
ได้อย่างยั่งยืน
@ ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ท้องถิ่นจังหวัดทั้ง 6 จังหวัดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. การดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันที่จะดำเนินการในอนาคตควรมีการสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดรอบด้านและครบถ้วน เป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงและชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการ หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงมากที่สุด มิใช่กำหนดวิธีการในการแก้ไขปัญหาแบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งที่สภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวกันได้
2. ดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานเรือตามโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้ประโยชน์จากเรือตามโครงการฯ ไม่ว่าจะนำไปใช้ในภารกิจใดก็ตาม ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดผักตบชวาหรือภารกิจอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะนำเรือตามโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ได้ โดยจัดทำเป็นแผนการใช้งานให้ชัดเจน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือตามโครงการฯ ให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดพิจารณาแนวทางในการส่งมอบเรือดังกล่าวให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีความจำเป็น หรือต้องการใช้เรือในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
3. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ตามวิธีการที่เห็นว่าเหมาะสมและสามารถควบคุมการแพร่กระจายของผักตบชวาในพื้นที่ได้ผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ โดยนำเรือตามโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการดังกล่าวรวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำสารอินทรีย์ที่เกิดจากการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น เชื้อราMyrothecium roridum (ไมโรดิเซียม โรริดัม) มาใช้ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ทดแทนการใช้ยากำจัดวัชพืชที่มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตราย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือชีวิตประชาชน
4. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งเป็นแม่น้ำหรือคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีศักยภาพที่จะดำเนินการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำดังกล่าวได้ให้รายงานสภาพปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำนั้นๆ ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทราบ เพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผักตบชวาระดับจังหวัด สำหรับใช้เป็นข้อมูล
ประกอบการพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในภาพรวมของจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป พร้อมทั้งเสนอให้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับแหล่งน้ำที่ไหลผ่านเชื่อมต่อกันในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งโดยมีการบูรณาการแผนการกำจัดผักตบชวาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถกำจัดผักตบชวาให้หมดไปจากแหล่งน้ำดังกล่าว และเป็นการลดปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวาจากพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้ดำเนินการ ไปยังแหล่งน้ำในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
5. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำทะเบียนคุมการใช้เรือตามโครงการฯประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ คือ วันเวลาที่นำไปใช้งาน สถานที่ที่นำไปใช้งาน ผู้รับผิดชอบ และมีการบันทึกข้อมูลการใช้งานในทะเบียนคุมให้ครบถ้วนตรงตามข้อเท็จจริง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ในโอกาสต่อไป และมีการรวบรวมข้อมูลรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเป็นระบบให้ครบถ้วนทุกเดือน รวมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับการดำเนินการในพื้นที่จริงหรือไม่ และมีการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างเครื่องมือสำหรับจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานกำจัดผักตบชวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาจัดทำแผนการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ผลสอบ อปท.6จว.ซื้อเรือกำจัดผักตบลำละ 8 หมื่น ยุคบิ๊กตู่ 'ของเหมือนกัน' แต่ราคาไม่เท่ากัน?
เปิดตัว บ.ขายเรือกำจัดผักตบชวา ยุคบิ๊กตู่ 58 อปท. ของเหมือนกันแต่ราคาไม่เท่ากัน?
คกก.ชุด'บิ๊กป้อม'จัดให้! เปิดที่มาโครงการเรือผักตบ 67 ล.-ก่อน สตง. สอบพบราคาซื้อไม่เท่ากัน