ปมใหม่บอดี้สแกน หน่วยงานสหรัฐ โค้ทราคาขายแค่5.6ล./เครื่อง ไฉนทอท.ควักเช่าตัวละ38ล.?
"...ในลิสต์ราคาดังกล่าวระบุว่า เครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) แบบเดียวกับที่ทอท.เช่า มีราคากลางอยู่ที่ 171,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5,643,000 บาท ต่อเครื่อง อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับราคาเช่าเครื่องที่ทอท. จ่ายให้กับเอกชน ตามสัญญาต่อเครื่อง จำนวน 644,140 บาทต่อเดือน คำนวนจำนวน 60 งวด ที่ต้องจ่ายไปจะพบว่า มีราคาเฉลี่ยอยู่เครื่องละ 38,648,400 บาท มากกว่า 6 เท่า คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมทอท. ถึงไม่ใช้วิธีการจัดซื้อแต่ใช้วิธีการเช่าแทน?..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ได้ทำสัญญาเช่า เครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) จาก บริษัท เอ็ม.ไอ.ที.โซลูชั่น จำกัด มาแล้วจำนวน 6 สัญญา รวมวงเงินว่าจ้างทั้งสิ้น 1,347,172,800 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
เฉลี่ยราคาเช่าต่อเครื่องจะอยู่ที่ 644,140 บาทต่อเดือน
โดยในช่วงปี 2559 ภายใต้การบริหารงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการทำสัญญาเช่ามากที่สุด จำนวน 3 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,082,155,200 บาท
(อ่านประกอบ: ชัดๆข้อมูล3สัญญาเช่าบอดี้สแกนทอท.ปี59 ยุคบิ๊กตู่1.08พันล.-ควักจ่าย6.4แสน/ตัว/เดือน , ควักจ่าย6.4แสน/ตัว/เดือน! รู้หรือไม่?ทอท.ผูกเช่าเครื่องบอดี้สแกนบ.เจ้าเดียวนาน5ปี1.3พันล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลราคากลางจัดซื้อของ General Services Administration Schedules (GSA) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ทำหน้าที่ให้บริการหน่วยงานราชการ (ผู้ซื้อ) โดยการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ จากพันธมิตรทางธุรกิจ (ผู้ขาย) มีลักษณะคล้ายกับการเป็นตัวกลางระหว่างหน่วยงานราชการ (ผู้ซื้อ) และภาคเอกชน (ผู้ขาย)
ในลิสต์ราคาดังกล่าวระบุว่า เครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) แบบเดียวกับที่ทอท.เช่า มีราคากลางอยู่ที่ 171,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5,643,000บาท ต่อเครื่อง
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับราคาเช่าเครื่องที่ทอท. จ่ายให้กับเอกชน ตามสัญญาต่อเครื่อง จำนวน 644,140 บาทต่อเดือน คำนวนจำนวน 60 งวด ที่ต้องจ่ายไปจะพบว่า มีราคาเฉลี่ยอยู่เครื่องละ 38,648,400 บาท มากกว่า 6 เท่า
คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมทอท. ถึงไม่ใช้วิธีการจัดซื้อแต่ใช้วิธีการเช่าแทน?
อย่างไรก็ตาม ราคาที่ทางสำนักข่าวคำนวนนั้นอิงตามราคาจัดซื้อในสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่รวมค่านำเข้า บำรุงรักษา ติดตั้ง
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ที่ผ่านมา บริษัท L-3 Communication เคยตกเป็นข่าวร่วมกันกับทาง TSA หรือ Transportation Security Administration ซึ่งหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงกลางปี 2015 ที่มีการตรวจพบว่า สองบริษัทนี้ที่ปัจจุบันให้บริการในด้านความปลอดภัย เครื่องตรวจค้นวัตถุ ที่มีส่วนแบ่งในตลาด 99% สนามบินทั่วสหรัฐฯ กลับพบว่า 96% ของเครื่องที่ใช้งานไม่สามารถค้นหาวัตถุระเบิดและอาวุธปลอมที่ใช้ในการทดสอบได้เลย ขณะที่มีการร้องเรียนว่า เจ้าเครื่อง บอดี้สแกนเนอร์ (body scanners) มีปัญหาอย่างอื่นอีกมาก
ในความกังวลอีกประการหนึ่งที่มีการรายงาน คือ การบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ดีเพียงใด เนื่องจาก TSA ไม่ได้ดูแลการบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างเพียงพอจึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะมีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามปกติหรืออุปกรณ์นั้นได้รับการซ่อมแซมและพร้อมสำหรับการใช้งาน
ขณะที่ทางการ TSA ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ถึงข้อกังวลด้านความปลอดภัยว่า ทางหน่วยงานได้เริ่มทำการปรับปรุงประสิทธิในการสแกน คัดกรองใหม่ รวมทั้งการจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของ TSA ทั้งหมด การปรับปรุงขั้นตอนการแก้ปัญหาการเตือนภัยและทำงานร่วมกับคู่ค้าภาคเอกชน เพื่อเพิ่มมาตรการหลายอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบของอุปกรณ์ตรวจคัดกรองของเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.politico.com/story/2015/08/airport-security-price-for-tsa-failed-body-scanners-160-million-121385
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 6 ธ.ค.2560 ได้ติดต่อไปยังบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เพื่อขอสัมภาษณ์นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ และคณะกรรมการ ทอท. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยเลขานุการหน้าห้องแจ้งว่า ผอ. ไม่อยู่ออกไปประชุมนอกบริษัท พร้อมขอโทรศัพท์ติดต่อไว้ เพื่อให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรติดต่อกลับมาชี้แจงอีกครั้ง
ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งจากฝ่ายสื่อสารองค์กร ทอท. ว่าขอให้ทำหนังสือแจ้งขอสัมภาษณ์ผู้บริหารเป็นทางการ พร้อมแนบแนวคำถามมาให้รับทราบล่วงหน้าด้วย