เอื้อปย.-หย่าเก๊-เชิดนอมินี! ผลสอบสตง.ฉบับเต็มส่งป.ป.ช.คดีนายกฯลำน้ำพอง ม.44ล็อต 9(จบ)
"...นายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง เป็นบุคคลมีชื่ออาศัยอยู่ที่เดียวกันกับภูมิลำเนาของนายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล (เจ้าบ้าน) ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด โดยมีนางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง และนางสาวกชกร วงษ์พระลับ อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า การพิจารณาอนุญาตของนายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล รองนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ที่อนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินการก่อสร้างและหรือใช้ทางสาธารณประโยชน์ จึงเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ สามีของนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ..."
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 เป็นผลทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ 70 ราย ถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเป็นทางการ ซึ่งปรากฎชื่อของ นางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล นายกเทศมนตรีตําบลลําน้ำพอง และนายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล รองนายกเทศมนตรีตําบลลําน้ำพอง (น้องชายนางสาวศิรประภา) รวมอยู่ด้วย (อ่านประกอบ : มาแล้ว! ชื่อ 70 จนท.รัฐพันทุจริตล็อต 9 ‘บิ๊กตู่’งัด ม.44 ลงดาบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranes.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ว่า ข้อกล่าวหาในคดีสอบสวนของ นางสาวศิรประภา และ นายพงษ์พิพัฒน์ อันเป็นผลทำให้ถูกใช้อำนาจตามมาตรา 44 บัญชีที่ 9 ดังกล่าว เป็นข้อกล่าวหาเดียวกัน คือ การอนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนสาธารณประโยชน์และระบบระบายน้ำในพื้นที่เทศบาล ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการโดยมิชอบ ส่งผลทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือนร้อนจากการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ขณะที่ ในขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนของเทศบาลดังกล่าวบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เข้ามาดำเนินการเอง แต่ไปว่าจ้างบริษัท ไทเกอร์คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด ซึ่งปรากฎชื่อ นายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล อดีตสามีนางสาวศิรประภา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้ามาดำเนินการ (อ่านประกอบ : ที่แท้บมจ.น้ำตาลขอนแก่น พันคดี'นายก-รองฯ'เทศบาลลำน้ำพองม.44 ล็อต9-สตง.ส่งป.ป.ช.สอบแล้ว, พี่น้องโดนข้อกล่าวหาเดียวกัน!เปิดเบื้องลึกคดีสอบ 'นายก-รองฯ' เทศบาลลำน้ำพอง ม.44 ล็อต 9)
โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นผลจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบข้อมูลสำคัญหลายประการ ทั้งพฤติการณ์การเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทเกอร์คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด เข้าไปรับงานจากบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) การแจ้งที่อยู่อาศัยแห่งเดียวกันของนางสาวศิรประภา และ นายสมบัติ ซึ่งสตง.ชี้ว่า บุคคลทั้ง 2 อาจจะไม่ได้หย่าขาดกันจริง และการเชิดบุคคลขึ้นมาเป็นตัวแทนหรือนอมินี ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์คอปเปอร์เรชั่นฯ แทน นายสมบัติ พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า รายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้ สตง. ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช. รับทราบเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค.2559 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ที่มาการตรวจสอบ
ด้วย สตง.โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 7 ได้ตรวจสอบสืบสวนกรณีผู้บริหารเทศบาลตำบลลำน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติหน้าที่กรณีอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนสาธารณประโยชน์และระบบระบายน้ำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้
จากการดำเนินกิจการของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงรอบโรงงานของบริษัทฯ ได้รับความเดือดร้อนทางด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะ เขม่าควัน น้ำเน่าสีย มีผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนจากการประกอบการของโรงงานน้ำตาล เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต
ดังนั้น ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) โดยนายณรงค์ จิตร์น้อมรัตน์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มโรงงานภาคอีสาน บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กับเทศบาลตำบลลำน้ำพอง โดยนางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ผู้แทนภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงการสนับสนุน การช่วยเหลือการพัฒนาท้องถิ่นระหว่างบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กับเทศบาลตำบลลำน้ำพอง เพื่อแก้ใขปัญหาสุขภาพชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน
โดยทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน 8 ข้อ ซึ่งตามบันทึกข้อตกลง นายเลิศลักษณ์ เจนใจวิทย์ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลขอนแก่น แจ้งว่าบริษัทฯ มีความประสงค์จะให้การสนับสนุนงบประมาณ ร้อยละ 100 ทุกโครงการตามที่ระบุไว้ในข้อตกลง ซึ่งหนึ่งในโครงการนั้น คือ โครงการที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) จะสนับสนุนงบประมาณ แต่ไม่ได้ให้ระบุจำนวนงบประมาณ เพื่อการดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมร่องระบายน้ำถนนสายทางเข้าชุมชนกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 ตามแบบแปลนที่กฎหมายกำหนด และเทศบาลจะต้องดำเนินการก่อสร้างเมื่อได้รับงบประมาณจากบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) โดยเร็ว
แต่ในการดำเนินการปรากฎข้อเท็จจริงว่า การก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำทางเข้าชุมชนกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 มิได้มีการดำเนินการตามวิธีข้อตกลง กล่าวคือ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้แสดงเจตนาต่อเทศบาลตำบลลำน้ำพอง ว่าจะขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำเอง โดยบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือขออนุญาตกับทางเทศบาลตำบลลำน้ำพอง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ซึ่งนายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล รองนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพองได้อนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินการก่อสร้างถนนและระบบระบายน้ำในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของทางราชการได้
@ ประเด็นเรื่องการอนุญาต
ในประเด็นการพิจารณาอนุญาตให้เอกชนเข้าดำเนินการ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามพยานเอกสารและพยานบุคคล จึงรับฟังและพิจารณาได้ว่า
การที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) มีความประสงค์ขอสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำสายทางเข้าชุมชนกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 เพื่อบริจาคเป็นสาธารณประโยชน์ ตามที่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง 8 ข้อ กับเทศบาลตำบลลำน้ำพอง แต่ขั้นตอนในการดำเนินการก่อสร้างบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนเจตนาจากการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างมาเป็นการดำเนินการก่อสร้างเอง
การที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตเข้าดำเนินการก่อสร้างถนนและระบบระบายน้ำเองกับเทศบาลตำบลลำน้ำพอง ในฐานะผู้ควบคุมดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมาย และปรากฏว่าทางเทศบาลตำบลลำน้ำพอง ได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) และระบบระบายน้ำสายทางเข้าชุมชนกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 ตามเจตนารมณ์ของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของทางเทศบาลตำบลลำน้ำพอง ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีการอนุมัติ หรืออนุญาตให้ประชาชน หรือองค์กรเอกชนเข้าไปดำเนินการอันใดในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 4 วรรคสอง กำหนดว่า “ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ขอทำความตกลงกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนการปฏิบัติ” และวรรคสาม กำหนดว่า “ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจมอบอำนาจตามวรรคสองให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้” ข้อ 5 กำหนดว่า “ในระเบียบนี้ พัสดุหมายความว่า ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง” ข้อ 6 กำหนดว่า “ระเบียบนี้ใช้บังคับแก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ เงินนอกงบประมาณ เงินยืม เงินสะสม เว้นแต่ได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
ดังนั้น ตามระเบียบปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงใช้บังคับแก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ เงินนอกงบประมาณ เงินยืม เงินสะสมเท่านั้น ไม่สามารถใช้โดยอนุโลม ในกรณีการอนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) จ้างเหมาบริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด ให้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนสาธารณะและระบบระบายน้ำที่เทศบาลตำบลลำน้ำพอง มีหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมาย ระเบียบราชการที่กำหนดได้ และเมื่อพิจารณาในด้านอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลลำน้ำพอง ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 50 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ตามความ (2) กำหนดว่า “ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ” และความ (9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่เทศบาล ซึ่งการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขอเทศบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
ดังนั้น เทศบาลตำบลลำน้ำพองจึงหน้าที่จัดให้มีและบำรุงทางบกและหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลคือ การดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยใช้งบประมาณของเทศบาลตำบลลำน้ำพองเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 ข้อ 5 ที่กำหนด ให้ทางบกเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และข้อ 6 กำหนดว่า อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน ตามข้อ 5 เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้อ 13 กำหนดว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนกรณีในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัตินั้น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 ข้อ 7 กำหนดไว้ว่า "นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนด" และตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 กำหนดว่า ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ ที่ดินของรัฐนั้น ถ้ามิได้มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด (1) เข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่อสร้างหรือเผาป่า และมาตรา 12 กำหนดว่า ที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีผู้ใดมีสิทธิครอบครอง รัฐมนตรีมีอำนาจให้สัมปทาน ให้ หรือ ให้ใช้ในระยะเวลาอันจำกัด ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 ข้อ 22 (2) ว่า "ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หากการอนุญาตไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎรและสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมายไม่ขัดข้อง พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว" ซึ่งตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าวมาข้างต้น เทศบาลตำบลลำน้ำพองจึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ใช้และไม่มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่อสร้างในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
การดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ถนนสาธารณประโยชน์) ที่อยู่ในการควบคุม กำกับ ดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและต้องใช้งบประมาณของราชการในการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการก่อสร้างรื้อถอน ถนนสาธารณะเดิมออกไปอันเป็นการทำลายสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนได้เป็นกรณีชั่วคราวตามสมควร เพื่อการจัดการดูแลรักษาไว้ซึ่งประโยชชน์ร่วมกันของประชาชน อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองซึ่งเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐคือเทศบาลตำบลลำน้ำพอง และเมื่อดำเนินการก่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์เสร็จแล้ว ถนนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นการสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรเอกชนจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปดำเนินการดูแลรักษาหรือซ่อมแซมในสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และไม่่มีกฎหมายใดให้อำนาจประชาชน พลเมือง หรือองค์กรเอกชนใดในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ดังนั้น การที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้าไปดำเนินการรื้อถอนหรือก่อสร้างถนนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมมืองใช้ร่วมกันนั้น จึงไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลลำน้ำพองที่จะพิจารณาอนุญาต
จากข้อเท็จจริงพิจารณาประกอบกฎหมายและระเบียบแล้วเห็นว่า การที่นายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง อนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนสาธารณะและระบบรางระบายน้ำ ที่เทศบาลตำบลลำน้ำพองมีหน้าที่ดูแลรักษา จึงเป็นการพิจารณาอนุญาตโดยไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบใดให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้มีอำนาจอนุญาต ประกอบกับการพิจารณาอนุญาต เทศบาลตำบลลำน้ำพองมิได้ดำเนินการตรวจสอบแบบรูปรายการละเอียดที่กำหนดในการก่อสร้างว่าบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)ใช้แบบแปลนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แบบแปลนที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กำหนด ส่งผลให้ทางราชการเสียหายหรือไม่ และในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างงาน เทศบาลตำบลลำน้ำพองก็ไม่มีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลลำน้ำพอง เข้าควบคุมดูแลกิจการงานก่อสร้าง
@ หย่าขาดกันแล้ว แต่ยังแจ้งที่อยู่เดียวกัน
และจากการตรวจสอบพบพยานหลักฐานว่า นายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง เป็นบุคคลมีชื่ออาศัยอยู่ที่เดียวกันกับภูมิลำเนาของนายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล (เจ้าบ้าน) ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด โดยมีนางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง และนางสาวกชกร วงษ์พระลับ อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า การพิจารณาอนุญาตของนายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล รองนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ที่อนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินการก่อสร้างและหรือใช้ทางสาธารณประโยชน์ จึงเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ สามีของนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง
สำหรับในด้านการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เมื่อบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการอนุญาตให้เข้าดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำสายทางเข้าหมู่บ้านกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 บริษัทฯ เป็นผู้จัดทำแบบแปลนและถอดแบบประมาณราคางานโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนดังกล่าวเอง และได้ว่าจ้างบริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด โดยมีนางกชกร วงษ์พระลับ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นผู้ลงนามรับจ้างตามสัญญาจ้างที่ EX.KKS 1 – 56 – 010 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2556 วงเงินค่าจ้างจำนวน 12,500,000 -บาท และต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ภายหลังที่ทำสัญญาจ้างได้เพียง 11 วัน นางสาวกชกร วงษ์พระลับ ก็ได้ลาออกจากกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ และนายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล ได้กลับเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ แต่เพียงผู้เดียวอีกครั้ง จากข้อเท็จจริงเห็นได้ว่า การบริหารงานธุรกิจของนางสาวกชกรฯ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2555 – 28 มิถุนายน 2556 เป็นการบริหารงานชั่วระยะเวลาสั้นๆ ประมาฯ 17 เดือนเศษ และไม่ปรากฏว่านางสาวกชกรฯ มีอำนาจสั่งการหรือบริหารงานธุรกิจของบริษัทฯ ได้จริง แต่เป็นการยินยอมให้บริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด เชิดตนเองออก แสดงเป็นตัวแทนบริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด เพื่อการบริหารงานธุรกิจของนายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล สามีของนางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง
@ เชิดตัวแทนหลีกเลี่ยงการตรวจสอบธุรกิจบริษัทฯ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบพยานเอกสารหลักฐานแล้วเห็นว่า นายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล เป็นผู้ที่เริ่มขอจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด มาตั้งแต่แรก เมื่อนางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล ภรรยาของตนลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง นายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล ได้ลาออกจากกรรมการผู้จัดการบริษัท โดยให้นางสาวกชกร วงษ์พระลับ เข้ามาบริหารงานแทนนายสมบัติฯ ในลักษณะตัวแทนเชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการบริหารงานธุรกิจบริษัทฯ ซึ่งจากการตรวจเอกสารการจดทะเบียนบริษัทพบว่า บริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด มีที่ตั้งสำนักงานเดียวกันกับภูมิลำเนาของนายสมบัติ พูนศักดิ์ไพศาล โดยมีนางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาล นายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล และนางสาวกชกร วงษ์พระลับ อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ดังกล่าวด้วย ซึ่งการดำเนินงานธุรกิจของบริษัทฯ ดังกล่าว เป็นการบริหารงานโดยอาศัยบุคคลที่สนิมสนม หรือเครือญาติในการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอก หรือหน่วยงานราชการในการเจรจางานธุรกิจกับบริษัทฯ แม้ปัจจุบันนายสมบัติฯ และนางสาวศิรประภาฯได้จดทะเบียนหย่าร้างกันแล้วก็ตาม
แต่จากการตรวจสอบเอกสารทะเบียนบ้านพบว่า นางสาวศิรประภาฯ ยังมีรายชื่ออาศัยอยู่บ้านเลขที่เดียวกันกับนายสมบัติฯ ตามภูมิลำเนาเดิม พฤติการณ์ข้อเท็จจริงทางพฤตินัยจึงน่าเชื่อว่า นายสมบัติฯ และนางสาวศิรประภาฯ ยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ตามเดิม ดังนั้น การที่นางสาวศิรประภา เต็มธนกิจไพศาลไม่ดำเนินการติดตามประสานข้อมูล และหรือแสดงเจตนากับบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินการจัดจ้างตามขั้นตอนระเบียบราชการที่กำหนด และทราบในข้อเท็จจริงที่นายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล ได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำเองนั้น ในฐานะที่นางสาวศิรประภาฯ เป็นผู้บริหารเทศบาลตำบลลำน้ำพองที่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานราชการตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการประสานงานกับบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำสายทางเข้าหมู่บ้านกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 เพื่อนำงบประมาณมาจัดจ้างตามระเบียบราชการที่ทางราชการกำหนด แต่นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพองก็มิได้สั่งการให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดถอดแบบแปลน และประมาณราคางานโครงการปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำสายทางเข้าหมู่บ้านกุดน้ำใสน้อย หมู่ที่ 10 เพื่อนำเป็นข้อมูลแจ้งให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ทราบถึงงบประมาณในการก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำดังกล่าว และมอบเงินสนับสนุนงบประมาณให้เทศบาลตำบลลำน้ำพอง ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบราชการที่กำหนด พฤติการณ์จึงถือเป็นการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารเทศบาลตำบลลำน้ำพองที่พึงกระทำ
ประกอบกับนางสาวศิรประภาฯ นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพองในฐานะ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และนโยบายสั่งการอนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับงานราชการของเทศบาลและไม่ต้องดำเนินกิจการใดอันขัดต่อประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมและรวมถึงการดำเนินกิจการของคู่สมรส หรือบุคคลในครอบครัวไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม กรณีการกระทำต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและคู่สมรสที่จะต้องห้ามกระทำ หรือห้ามดำเนินกิจการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่างด้วยการป้องกันและปราบปรามทารทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 100 ได้กำหนดห้ามไว้
ดังนั้น นางสาวศิรประภาฯ นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ในฐานะเป็นตัวแทนประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลลำน้ำพอง ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์ทางราชการหรือส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขประชาชนโดยวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี แต่นางสาวศิรประภาฯ นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง กลับยินยอมให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเข้าดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนดังกล่าว โดยการไม่ขอรับงบประมาณสนับสนุนตามบันทึกข้อตกลงที่กำหนด เพื่อให้บริษัท ไทเกอร์ คอปเปอร์เรชั่น (2007) จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำดังกล่าว การกระทำจึงเป็นการเข้าข่ายจงใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กำหนดโครงการสาธารณะ และได้นำโครงการฯ ไปลงในเขตพื้นที่ของตน เพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง จึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และถือเป็นการกระทำการในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงถือเป็นการใช้อำนาจบริหารงานราชการโดยมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ผู้บริหารเทศบาลตำบลลำน้ำพอง และเอื้อประโยชน์แก่เอกชน
สตง. อาศัยอำนาจตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 พิจารณาแล้วเห็นชอบกับผลตรวจสอบให้คณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับนางสาวศิรประภา เต็มธนไพศาล ตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง และนายพงษ์พิพัฒน์ เต็มธนกิจไพศาล ตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีตำบลลำน้ำพอง ต่อไป
ขณะที่ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า นางสาวกชกร ปรากฎชื่อเป็นเจ้าหน้าที่ในเทศบาลลำน้ำพอง มีตำแหน่งเป็น 'ผู้ช่วยบุคลากร' มีนามสุกลเดียว กับ นางสาวปาณิสรา วงษ์พระลับ ระบุตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายธุรการ ของเทศบาลฯ แจ้งที่อยู่เดียวกัน คือ บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น (อ่านประกอบ : ที่แท้ 'จนท.เทศบาล'! เปิดตัว'นอมินี'ถูกเชิดนั่งกก.บ.อดีตสามีนายกฯลำน้ำพอง ม.44ล็อต 9(5))
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นางสาวศิรประภา และ นายพงษ์พิพัฒน์ รวมถึงนายสมบัติ และ นางสาวกชกร ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ มีสิทธิในการชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาทั้งต่อคณะกรรมการป.ป.ช. รวมถึงคณะกรรมการสอบสวน ตามคำสั่งของ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่จะมีการส่งข้อกล่าวหาในคดีไปให้หน่วยงานต้นสังกัดของนางสาวศิรประภา และ นายพงษ์พิพัฒน์ เพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจาก ศอตช.
ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เอื้อบ.อดีตสามี รับงานบมจ.น้ำตาลฯ? แกะรอยผลสอบคดีนายก-รองฯ เทศบาลลำน้ำพอง ม.44 ล็อต9(1)
หย่าขาดสามี-แต่ยังอยู่บ้านเดียวกัน! เปิดข้อมูลสตง.มัดปมเอื้อปย.คดีนายกฯลำน้ำพองม.44 ล็อต9 (2)
คุ้ยทะเบียนราษฎร์ภรรยา-โชว์บัตรปชช.อดีตสามี! หลักฐานมัดคดีนายกฯลำน้ำพอง ม.44ล็อต9 (3)
เชิดคนในบ้านนอมินีนั่งกก.ช่วงรับงาน! ข้อมูลลับอดีตสามีนายกฯลำน้ำพอง ม.44 ล็อต 9(4)
ที่แท้ 'จนท.เทศบาล'! เปิดตัว'นอมินี'ถูกเชิดนั่งกก.บ.อดีตสามีนายกฯลำน้ำพอง ม.44ล็อต 9(5)