มูลนิธิผู้บริโภคแฉ “วิทยุ-เคเบิ้ลท้องถิ่น” โฆษณาหลอกขายของเพียบ
ผลสำรวจแค่ 2 จังหวัด ขอนแก่น-ร้อยเอ็ดทำผิดเกินครึ่ง ทั้งอ้างสรรพคุณเกินจริง-ติด อย.ปลอม น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพทำพิษอีก รักษาไม่หายยังซ้ำเติมป่วย พบ“กาแฟลดความอ้วน-เพิ่มสมรรถภาพเพศ” ใช้เลขทะเบียนปลอม คนทำงานเสนอแก้กฎหมายให้ฟ้องรายคน-เพิ่มโทษ
วันที่ 26 พ.ค.54 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการดำเนินงานเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อวิทยุชุมชน (วิทยุธุรกิจท้องถิ่น-โต๊ะข่าวชุมชน) และเคเบิลทีวีในขอนแก่นและร้อยเอ็ด
โดยนายเทพรักษ์ บุญรักษา เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคจจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าจากการติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านสถานีวิทยุชุมชน (วิทยุธุรกิจท้องถิ่น-โต๊ะข่าวชุมชน) 4 แห่ง ประกอบด้วย 94.25 MHz คลื่นบิ๊กเอฟเอ็ม 105.25 MHz คลื่นจังหวัดขอนแก่น 88.75 MHz คลื่นโอเคลูกทุ่งสนุกทั่วไทย และ 90.60 MHz คลื่นวิทยุชุมชนหลักเมืองพลาญชัย วันที่ 24, 26 และ 29 เม.ย.54 รวมถึงเฝ้าระวังการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีขอนแก่นวันที่ 24 เม.ย.54
พบว่ามี 27 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นยาแผนโบราณ 2 ชิ้น เครื่องสำอาง 4 ชิ้น อาหาร 21 ชิ้นที่โฆษณาในลักษณะชวนเชื่อผ่านสถานีวิทยุ (วิทยุธุรกิจท้องถิ่น-โต๊ะข่าวชุมชน) และสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีดังกล่าวทั้งวัน จำนวนนี้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 14 ชิ้นหรือร้อยละ 50 โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและฐานข้อมูลของสำนักงานอาหารและยา(อย.) ยังพบว่ามี 7 ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีชื่ออยู่ในเลขสารบบของ อย.
ประกอบด้วยกาแฟสำเร็จรูปตราโกเฮง อ้างเลขที่สารบบอาหาร 21-2-01751-2-0006 กาแฟสำเร็จรูปผสมคอลลาเจนตราฟ้าใสคอฟฟี่ อ้างเลขสารบบอาหาร 21-2-01751-2-0006 กาแฟสำเร็จรูปสำหรับท่านชายวันแฟน 2 ชิ้น อ้างเลขสารบบอาหาร 86-201847-20033 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจมูกข้างกล้องหอมนิลตราทิพย์ ที่อ้างว่าได้รับเครื่องหมาย อย. แต่จากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลตามที่กล่าวอ้าง
“จะเห็นว่ากาแฟสำเร็จรูปตราโกเฮง และกาแฟสำเร็จรูปผสมคอลลาเจนตราฟ้าใสคอฟฟี่ มี เลขที่สารบบอาหาร 21-2-01751-2-0006 เหมือนกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางที่ อย.จะให้เลขสารบบอาหารเหมือนกัน” นายเทพรักษ์ กล่าว
ด้านนางอาภรณ์ อะทาโส ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด กล่าวว่าขณะนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ตามคำโฆษณาผ่านสถานีวิทยุชุมชน (วิทยุธุรกิจท้องถิ่น-โต๊ะข่าวชุมชน) ในร้อยเอ็ด เข้ามาร้องเรียนที่สมาคมฯ 4 ราย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ผลตามที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาได้ทุกโรค โดยในรายแรกมีอาการเมื่อยตามกล้ามเนื้อและต้นคอ รายที่สองเป็นโรคพาร์กินสัน รายที่สามเป็นโรคไทรอยด์ และรายที่สี่เป็นโรคกระดูกพรุนและมีอาการปวดเข่าปวดตามข้อ แต่หลังรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวแล้วกลับพบว่าส่งผลข้างเคียงกับร่างกายทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้าและช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ขณะนี้ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างการหาแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหายทั้ง 4 รายอยู่
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่ากว่าครึ่งของการโฆษณาอาหารและยาผ่านสถานีวิทยุชุมชน (วิทยุธุรกิจท้องถิ่น-โต๊ะข่าวชุมชน) และสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีของทั้ง 2 จังหวัดดำเนินการไม่ถูกต้อง แต่ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานของรัฐทราบหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องภาครัฐและ อย.ปรับปรุงกฎหมาย และเปลี่ยนวิธีการฟ้องร้องแบบหมู่มาเป็นฟ้องร้องรายบุคคล เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงเพิ่มบทลงโทษ เช่น เพิ่มค่าปรับ เพราะปัจจุบันค่าปรับเพียง 2,000 บาท ในขณะที่ราคาสินค้าที่ทำผิดกฎหมายมีราคาสูง 2,000-3,000 บาท จึงถือเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น
ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวต่อว่านอกจากนี้หากหน่วยงานของรัฐส่งเสริมองค์กรผู้บริโภคก็จะทำให้การดูแลเรื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคเมื่อรับฟังโฆษณาแล้วจะต้องไม่หลงเชื่อในทันที ควรตั้งสมมติฐานว่าไม่ถูกต้อง จากนั้นจึงมาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะตัดสินใจซื้อ
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทัน ต้องเชื่อไว้ก่อนว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันต้องขอเรียกร้องไปยังผู้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้หยุดนำชาวบ้านมาแอบอ้างว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นหรือหายขาดจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งในอนาคตจะต้องเราต้องมาร่วมกันคิดเพื่อหาแนวทางให้สถานีวิทยุชุมชน (วิทยุธุรกิจท้องถิ่น-โต๊ะข่าวชุมชน) ที่มีการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายเหล่านั้นจะสามารถโฆษณาได้กี่ครั้งใน 1 เดือน .
ที่มาภาพ : http://www.intell.rtaf.mi.th/newsdetail.asp?id=51543