อนุ กก.ปฏิรูปการศึกษา ระบุรัฐตืดงบการศึกษา ทำเด็กไทยด้อย
สภาการศึกษาเดินสายทำความเข้าใจปฏิรูปรอบสองก่อนจัดสมัชชา-สร้างพื้นที่นำร่อง สพฐ.ทำงงอ้างลงทุนสูงแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ คนปฏิรูประบุปัญญาเด็กไทยไม่ด้อยกว่าชาติอื่น แต่เหตุจากรัฐจัดงบการศึกษาต่ำ แนะขจัดคอขวด-สร้างหุ้นส่วนการศึกษา ภูเก็ตชูรูปธรรมแผน 5 ปีสร้างเด็กรักษ์ถิ่น
วันที่ 24 พ.ค.54 ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)กล่าวในการประชุมสร้างความเข้าใจแนวทางขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.2554-2561) ว่าการปฏิรูปการศึกษารอบสองจะไม่ใช่การปรับรื้อจากปฏิรูปรอบแรก แต่จะเป็นการปรับแต่งโดยเน้นคุณภาพ โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา และการมีส่วนร่วมเป็นหลัก
รองเลขา สกศ. กล่าวว่าได้กำหนด 10 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น พัฒนาผู้เรียนและครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ, การปรับหลักสูตรและจัดกระบวนการเรียนการสอน ประเมินผลรูปแบบใหม่ โดยเน้นกิจกรรมมากขึ้น, เร่งผลิตครูพันธุ์ใหม่ ผลิตครูสาขาขาดแคลนและครูวิชาชีพ, สนับสนุนโรงเรียนดีประจำตำบล อำเภอ จังหวัด, เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็ก และสร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น
ทั้งนี้ สกศ.จะจัดประชุมอีก 7 ครั้งใน 4 ภูมิภาคเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น จากนั้นจะนำผลไปสังเคราะห์แล้วจัดสมัชชาทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อนำร่องเชิงลึกในบางพื้นที่
นายประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ อนุกรรมการคณะกรรมการนโยบายปฎิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ระบบบริหารจัดการ ต้องหล่อหลอมคนให้มีวัฒธรรมการทำงานในรูปแบบองค์กรเดียวกัน ทำงานเป็นทีม มุ่งมั่นความสำเร็จอย่างไม่มีเงื่อนไข ขจัดคอขวดโดยให้คนปฏิบัติเป็นผู้วางแผน แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ปลดล็อกการทำงานแบบแยกส่วน ซึ่งจะทำเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จได้ประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ 1.คิดอย่างสำเร็จ วางแผนอย่างแม่นยำ จับต้องได้ 2.การตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยถอดบทเรียนที่ผิดพลาดที่ผ่านมา
น.ส.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อนุกรรมการ กนป. กล่าวว่าการปฏิรูปฯรอบสอง นอกจากจะเน้นสร้างโอกาสให้กับผู้ที่พลาดโอกาสแล้ว ที่ต้องเพิ่มเติมคือต้องมีการป้องกันผู้ที่มีโอกาสแล้วไม่ให้เสียโอกาส โดยต้องสร้างเครื่องมือให้คนไทยสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แม้จะเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว เพราะคนกลุ่มนี้หากไม่เรียนรู้ต่อเนื่อง ทางการแพทย์ระบุว่าจะก้าวถอยหลังและสมองฟ่อทันที
น.ส.เลขา กล่าวว่าการทำวิจัยการศึกษาของประเทศ พบว่าเด็กไทยไม่ได้ด้อยกว่าชาติอื่น แต่ไทยมีจุดอ่อนในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นระบบการจัดการศึกษาที่ลงทุนน้อยมาก งบประมาณส่วนใหญ่เน้นที่เงินเดือนและการพัฒนาโครงสร้าง ดังนั้นต้องหาแนวทางให้การลงทุนที่น้อยนั้นมีประสิทธิภาพขึ้น และคงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)อย่างเดียว ต้องเน้นการมีส่วนร่วมและการเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆหลายระดับหลายรูปแบบที่จะเข้ามาร่วมส่งเสริมด้วย มีกลไกที่จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ วิชาการและการติดตามประเมินผลต้องเปลี่ยนจากการจับผิดเป็นการตรวจสอบและประกันคุณภาพ
ด้าน นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อนุกรรมการ กนป. กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะความต่อเนื่องในการดำเนินงานเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาฯ แม้ที่ผ่านมาจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะการปฏิรูปครู เช่น แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเงินเดือน ตั้งกองทุนพัฒนาครู แต่จากนี้ต้องมาพิจารณาว่าเมื่อครูได้รับการปฏิรูปแล้วเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กหรือไม่
นายสมหมาย กล่าวว่าเชื่อว่าหากครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอนได้ การปฏิรูปการศึกษาฯก็จะเกิดได้ ขณะนี้มีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)เกิดขึ้น เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษาฯ จะปล่อยให้อยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้สังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น และส่งเสริมใภาคเอกชนหันมาทำกิจกรรมด้านการศึกษา ส่งเสริมการทำบุญของคนด้านการศึกษา
นายปัญญา แก้วกียูร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ลงทุนทางด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) กลับลดลงโดยเฉพาะปีที่ผ่านมา เด็กคะแนนศูนย์หลายแสนคน จึงกำหนดจุดเน้นผลสัมฤทธิ์การศึกษา 5 กลุ่มสาระวิชาหลัก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไทย อังกฤษ สังคม ให้คะแนนเฉลี่ยวิชาเหล่านี้ต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 4
น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลเมืองภูเก็ตนอกจากจะยึดยุทธศาสตร์และนโยบายของ ศธ.แล้ว ยังผนวกกับยุทธศาสตร์เมืองภูเก็ต เพื่อให้เด็กรู้จักตนเอง รักท้องถิ่น และทำงานใน จ.ภูเก็ต โดยได้มีการจัดทำแผนที่ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วจะมีงานอะไรรองรับบ้าง เพื่อให้เด็กได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ เน้นให้เด็กรู้ไอที ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน มีจิตอาสา รวมถึงมีความภาคภูมิใจในตัวตนของคนเมืองภูเก็ต .