นักการศึกษาชี้เหตุผล ศธ. “ยุบ ร.ร.เล็ก” ฟังไม่ขึ้น
“รศ.ศรีศักดิ์” ชี้วิธีคิดผูกขาดต้นตอยุบ ร.ร.เล็ก สวนทางนโยบายปฏิรูปการศึกษา แนะคืนอำนาจให้ชุมชน-อปท.ร่วมจัดการ นักการศึกษามองเหตุผล “ไม่มีคุณภาพ-ไม่คุ้มทุน” ฟังไม่ขึ้น เพราะ ร.ร.ใหญ่หลายแห่งก็ไร้ประสิทธิภาพ โรงเรียนแรกที่จะโดนยุบถามย้อน ศธ. “จะให้เด็กด้อยโอกาสไปที่ไหน”
วันที่ 21 พ.ค. 54 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สภาการศึกษาทางเลือก ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา จัดเวที “ฝ่าวิกฤติการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสังคม ปาฐกถา “โรงเรียนชุมชนการศึกษาทางเลือก ทางรอดของสังคมไทย” ว่าการไล่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นตอจากการรวบอำนาจแบบทรราชย์หรือการผูกขาดอำนาจจนน่ากลัวของรัฐมาจัดการการศึกษาให้ทุกคนในประเทศ โดยวางกติกาและการใช้เงินทั้งหมด เมื่อไม่คุ้มทุนก็สั่งยุบ นี่คือความขัดแย้งและไม่เป็นธรรมในสังคมที่กดขี่ประชาชนและเด็กด้อยโอกาส สวนทางกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่ประกาศว่าให้โอกาสและสร้างคุณภาพ
“รัฐไม่สามารถตอบสนองสังคมได้ การศึกษาผูกขาดไม่ครบเครื่อง กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มองแบบลอยๆไม่ได้มองการศึกษาเป็นสังคม ซึ่งชุมชนเป็นสถาบันรูปธรรมที่สุดของสังคมที่ไม่ควรมองข้าม”
รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่า โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในชุมชนทั้งนั้น ซึ่งไม่สมควรยุบ เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องสัมพันธ์กับชุมชน เป็นความสัมพันธ์ของระบบวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่ชุมชนเท่านั้นจะเป็นผู้สอน การศึกษาข้างนอกที่เน้นหลักสูตรวิชาการแล้วสอนให้เป็นปัจเจกเอาแต่แข่งขัน ผลิตคนเพื่อเป็นทรัพยากรออกไปทำมาหากิน แต่ไม่สอนจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์และจิตสำนึกร่วม รัฐมองชุมชนเป็นเพียงเขตการศึกษาเสมือนคอนโดมิเนียมบ้านจัดสรร เป็นวิธีคิดวิธีการที่ทำให้ชุมชนล่มสลาย
“ไม่เข้าใจว่าโรงเรียนเล็กๆที่จะไปยุบ ใช้อะไรประเมินโอกาสและคุณภาพของเด็ก การไปอ้างเรื่องมาตรฐานที่ ศธ.ตั้งแล้วมายุบแบบนี้ไม่ได้ หรือจะบอกว่าพื้นที่เล็ก ผมว่าพื้นที่ยิ่งเล็กคุณภาพยิ่งดี การศึกษาที่ถูกต้องคือโรงเรียนขนาดเล็กควรอยู่ในชุมชน”
รศ.ศรีศักร เสนอว่ารัฐควรคืนหรือลดอำนาจแล้วกระจายลงสู่ท้องถิ่น ศธ.ต้องเลิกบทบาทในการเป็นผู้จัดการศึกษาแต่มาเป็นผู้จัดให้มีการศึกษา ไม่ใช่กุมทั้งหมด ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่โดยตัวเองก็ยังมีปัญหาเกิดขบวนการคอรัปชั่นบ่อยครั้ง แต่การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมจะเป็นกลไกสำคัญที่จะต่อรองกับอำนาจต่างๆที่ไม่ชอบได้
ทั้งนี้ยังมีการเสวนา “ทางออกโรงเรียนขนาดเล็ก ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและความสำเร็จการพัฒนา” โดย รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวว่ากระแสการยุบโรงเรียนขนาดเล็กกำลังนำไปสู่หลุมพรางของรัฐ การอ้างเหตุผลความไม่คุ้มทุน เพื่อปัดความผิดพลาดเรื่องการบริหารจัดการแล้วมาแก้ปัญหาแบบผิดฝาผิดตัว เพราะหากคิดย้อนไปการให้งบอุดหนุนรายหัว จำนวนเด็กเท่าเดิมก็ไม่เห็นไม่คุ้มทุน นโยบายแบบสั่งการจากบนลงล่างต่างหากที่เป็นต้นเหตุให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ
“รัฐต่างหากที่ผิดพลาด ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่ทำในสิ่งที่โรงเรียนและชุมชนทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่รัฐไม่มีทางทำได้ การไปร้องขอให้เขาลดอำนาจไม่มีทางเป็นไปได้”
นายชูพินิจ เกษณี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ กล่าวว่า ศธ.กำลังจัดการศึกษาแบบตัดรองเท้าที่สวยมากแต่สวมไม่ได้ สุดท้ายตัดปัญหาด้วยการตัดเท้าทิ้ง ซึ่งสะท้อนว่า 1.ไม่เคารพสิทธิเด็ก โดยเฉพาะในช่วงอนุบาล-ประถมศึกษา เด็กควรอยู่กับชุมชนมากที่สุดเพื่อให้เกิดความผูกพัน 2.สวัสดิภาพเด็ก ที่ต้องเดินทางไปเรียนในที่ไม่คุ้นเคยและห่างไกล 3.ศธ.ไม่เชื่อถือหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน 4.การไม่ให้อำนาจการกำกับดูแลของคณะกรรมการสถานศึกษา และ 5.การอ้างคุณภาพไม่มีทางเป็นไปได้ในทางตรรกะ เพราะโรงเรียนใหญ่หลายแห่งก็ไม่มีคุณภาพแต่ไม่ถูกยุบ
“นโยบายนี้ผิดตั้งแต่การตั้งโจทย์ แทนที่จะคิดว่าโรงเรียนเล็กคนเรียนน้อยจะจัดการให้มีคุณภาพ หรืออาจเพิ่มเติมการศึกษาทางเลือก ดึงชุมชนมาช่วยให้เกิดพลัง แต่กลับไม่มีแนวทางเช่นนี้ออกมาเลย”
ด้าน นายบัญชร แก้วส่อง ผอ.สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่าการที่ชุมชนจัดการศึกษาเองและมีรูปแบบให้เห็นแล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อว่าทั้ง 7,000 แห่งคงทำไม่ได้ทั้งหมด และยังถูกครอบงำด้วยความคิดว่าการศึกษาที่ดีคือส่งลูกไปเรียนในที่ดีๆ ดังนั้นกระบวนการที่เป็นทางออกของปัญหาจึงไม่ใช่แค่ประชาพิจารณ์ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจเชิงลึกว่าชุมชนจะเลือกทางรอดแบบไหน อยากเห็นการศึกษาไปในทางใด ระหว่างการเรียนแบบวิชาการหรือการศึกษาแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะได้ทั้งเชิงวิชาการและสังคมวัฒนธรรม ขณะที่ผู้ปกครองได้พัฒนาไปด้วย การยุบไม่ยุบไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ขอให้เป็นการตัดสินใจร่วมของคนในชุมชน
ขณะที่ นายเสน่ห์ เสาวพันธ์ ผอ.โรงเรียนปากบุ่ง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด โรงเรียนลำดับแรกที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจ.ร้อยเอ็ด เตรียมประกาศยุบ กล่าวว่ายอมรับหาก ศธ.เห็นว่าการที่โรงเรียนมีเด็กเพียง 8 คนที่มีฐานะยากจน ผลประเมินคุณภาพการเรียนต่ำ มีครูที่จบไม่ตรงสาขาจำเป็นต้องยุบ แต่ถามกลับว่าเด็กทั้งหมดที่ไม่มีทางไป ไม่มีค่าใช้จ่ายเดินทางไปเรียนที่ตัวเมือง หากยุบไปเด็กพวกนี้จะเป็นอย่างไร
“เป็นครูประเมินไม่ผ่านอย่างมากก็ถูกไล่ออก แต่เด็กต้องต่อสู้กับการศึกษาที่เน้นการแข่งขันโดยไม่มองโอกาสและสภาพแวดล้อม เวลาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตัดสินใจอะไรแล้วไม่หันหลังกลับมามองมุมอื่นบ้าง มันน่ากลัวจริงๆ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศยังได้หารือร่วมกันว่าจะออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็กและเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เพื่อนำไปยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยจะรวมตัวกันที่หน้าคุรุสภาในวันที่ 16 มิ.ย. นี้ เวลา 10.00 น.