ก.สาธารณสุข เตือนโรคหน้าฝน ฉี่หนูในเกษตรกร มือเท้าเปื่อยในเด็ก
ระบุพบผู้ป่วยฉี่หนู 500 กว่าราย ตาย 12 สั่ง สนง.สธ.-รพ.สต.-อสม.ทั่วประเทศเร่งให้ความรู้-คัดกรองโรค เตือนระวังไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัว เมื่อยตัว ตาแดง อาเจียน รีบพบหมอ ส่วนมือเท้าเปื่อยปีนี้พบเด็กป่วย 900 ราย สั่งเข้มงวดโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค
น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรเริ่มทำไร่ทำนา มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิสสูงกว่าฤดูกาลอื่น และขณะนี้สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกภาค ทั้งนี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 548 ราย เสียชีวิตแล้ว 12 ราย ส่วนใหญ่มักพบในวัยแรงงาน อายุ 25 - 54 ปี
ดังนั้นปลัดกระทรวงจึงสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรในการป้องกันโรคดังกล่าวอย่างเต็มที่ และสั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจคัดกรอง ซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน เพื่อป้องกันการเสียชีวิต เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหาย
น.พ.สุพรรณ กล่าวว่า โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งจะอยู่ในฉี่ของหนูเป็นส่วนใหญ่ โดยเชื้อจะมีชีวิตอยู่ในน้ำได้ไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ สามารถเข้าสู่ร่างกายคนโดยไชผ่านทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือ ไชผ่านเยื่อบุตา ทางบาดแผล แม้กระทั่งรอยขีดข่วน เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว อาการของโรคฉี่หนูที่พบได้บ่อยคือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังเตือนการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงเปิดเทอมซึ่งเด็กเล็กมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในที่เดียวกัน อีกทั้งมีฝนตกชุกต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสริมให้การระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ลงไปดำเนินโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เน้นการให้ความรู้แก่ครูและเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก ในการจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ พร้อมแนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลาน หากมีไข้ ตุ่มใสขึ้นตามมือ เท้าและช่องปากให้แยกเด็กและลาหยุดไปจนกว่าจะหาย เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อแก่เด็กคนอื่น
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าปกติโรคนี้ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว จะหายเองได้ภายใน 7 วัน ยกเว้นเด็กอ่อนแอและโรคแทรกซ้อนก็อาจเสียชีวิตได้ สำหรับโรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กทารก ส่วนพื้นที่ที่ระบาดมากที่สุดคือภาคเหนือ ภาคกลาง เฉพาะปี 2554 นี้พบเด็กป่วยแล้วทั้งสิ้น 900 คน แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต.