ชาวบ้านแม่เมาะหวังศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย จี้ กฟผ.ชดเชยเจ็บ-ตายจากมลพิษ
เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะร้องศาลปกครองสูงสุด เร่ง กฟผ.จ่ายชดเชยสร้างมลพิษให้ชาวบ้าน ชี้รอนาน 9 ปีจนคนฟ้องคดีป่วยตาย 11 ราย เผยกองทุนรอบโรงไฟฟ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์เยียวยาเอาไปสร้างสะพาน ทนาย ส.โลกร้อนฯ บอกการตั้งแง่อุทธรณ์ไร้เหตุผล-ไม่จริงใจ
สืบเนื่องจากการรั่วไหลและแพร่กระจายของสารซัลเฟอร์ไดออกไซต์ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับมลพิษและบางรายเสียชีวิต จึงรวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งมีคำพิพากษาวันที่ 4 มี.ค.52 ให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยเยียวยาแกชาวบ้าน แต่ กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งระหว่างนี้มีชาวบ้านเจ็บป่วยและเสียชีวิตไปกว่า 10 ราย
วันที่ 12 พ.ค. 54 ที่ศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะกว่า 20 คนได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อเร่งรัดการพิจารณาคดีดังกล่าว โดย นางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินถึงวันนี้ 2 ปีแล้วที่คดีเงียบหาย ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเรื่อยๆ โดยก่อนหน้านี้ได้รวมตัวกันขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับคำตอบเพียงว่าเรื่องอยู่ชั้นศาล และ กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐหากไม่อุทธรณ์จะผิดระเบียบราชการในข้อไม่ปกป้ององค์กร ซึ่งเกรงว่าหากรอให้อุทธรณ์แบบไม่มีที่สุดเช่นนี้ชาวบ้านจะเสียชีวิตไปทั้งหมดก่อน
“รวบรวมรายชื่อมา 71 คนเพื่อขอความเมตตาจากศาลให้เร่งพิจารณาคดีโดยเร็ว เราเชื่อว่าศาลต้องตัดสินให้ กฟผ.ชดเชยให้ชาวบ้าน เพื่อจะได้มีเงินไปรักษา เพราะล่าสุดเฉพาะผู้ที่ยื่นฟ้องเสียชีวิตแล้ว 11 ราย จากทั้งหมด 125 ราย และอีกหลายรายที่ทนทุกข์ทรมานเพราะมะเร็งระยะสุดท้าย ”
ส่วนประเด็นการช่วยเหลือโดยการตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดูแลนั้น นางมะลิวัลย์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อนำมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น แต่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง เพราะการบริหารจัดการทำโดยรัฐทั้งหมด เงินที่ลงไปก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเยียวยาความเจ็บป่วย เช่น นำไปสร้างสะพาน การมาศาลครั้งนี้จึงเป็นความหวังสุดท้ายที่ชาวแม่เมาะดิ้นรนเพื่อลมหายใจที่เหลืออยู่
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ปรึกษาทางกฎหมาย กล่าวว่า ชาวบ้านสู้กันมากว่า 9 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้าก็ยังปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านทยอยล้มตาย การรอให้ศาลปกครองสูงสุดหยิบสำนวนมาพิจารณาแบบไม่มีกำหนดตามกระบวนการซึ่งขึ้นอยู่กับองค์คณะตุลาการนั้นจะไม่ทันการ เพราะคดีที่เข้ามาสู่ศาลปีหนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 6-7 พันคดี ความจำเป็นของคนแม่เมาะก็รอไม่ได้
“ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ศาลจะเร่งหยิบสำนวนขึ้นมาพิจารณา และการมาวันนี้ก็เป็นสิทธิชาวบ้านที่จะยื่นร้องขอ และประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิเสธ เพราะโรงไฟฟ้าปล่อยสารพิษจริง ชาวบ้านก็ป่วยจริง ไม่เข้าใจว่าทำไม กฟผ.ยื่นอุทธรณ์ แบบนี้ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นศัตรู ทั้งที่อยู่ร่วมกันได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าทาง กฟผ. มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามระเบียบราชการ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีคดีท่าเรือคลองเตยหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ตกลงกับชาวบ้านได้ ไม่ถึงขั้นศาลปกครองสูงสุด จะอ้างว่าเป็นมาตรการต้องปกป้ององค์กรไม่ได้ หาก กฟผ.คิดจะหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช่ตั้งแง่สู้กัน มาชนะทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็เชื่อว่าถึงที่สุดชาวบ้านต้องชนะ
“ส่วนเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ชาวบ้านแทบไม่ได้ประโยชน์ เพราะเอาไปลงทุนก่อสร้าง เช่นหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดโนโลก ทั้งที่เงินที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าควรจะนำมาดูแลคนป่วย ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องเดินทางไปรักษาไกลถึงเชียงใหม่ เพราะไม่แพทย์เฉพาะทางหรือตั้งโรงพยาบาลอาชีวเวชศาสตร์เหมือนที่มาบตาพุด ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้บ้าง แต่ที่ผ่านมา กฟผ. ไม่ได้ทำเลย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายอินทร อินติ๊บ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตนเพิ่งสูญเสียภรรยาไป 3 เดือนก่อนเพราะโรคทางเดินหายใจ ขณะที่ตัวเองก็ป่วยเป็นโรคเดียวกัน การมาเรียกร้องต่อศาลครั้งนี้เพื่อหวังให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น เนื่องจากชาวบ้านทนทุกข์กับการเจ็บป่วย ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางไปพบแพทย์ที่เชียงใหม่ และหลายโรคก็รักษาไม่ได้ด้วยบัตรทอง หลายคนขาดโอกาสรักษาจนต้องเสียชีวิต .