เครือข่ายศึกษาทางเลือกบุก ศธ. ยื่นหนังสือยุติยุบ ร.ร.เล็ก เตรียมเสนอเป็นนโยบายพรรคการเมือง
สภาการศึกษาทางเลือกวอน ศธ.-สพฐ. ยุตินโยบายยุบโรงเรียนเล็ก 7,000 แห่ง ดักประชุม 11-12 พ.ค.เสนอตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-ชุมชน เปิดเวทีประชาคมก่อนตัดสินใจ เตรียมเดินสายค้าน 4 ภูมิภาค-ขายนโยบายพรรคการเมืองรับเลือกตั้ง
วันที่ 10 พ.ค. 54 ที่กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มการศึกษาทางเลือก 146 องค์กร เข้ายื่นหนังสือ “ขอคัดค้านนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” ถึงนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยนายชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่าตามที่สภาฯได้เข้าหารือกับ รมว.ศธ.เพื่อเสนอให้ทบทวนนโยบายดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่นายชินวรณ์ยังคงยืนยันที่จะผลักดัน โดยตั้งเป้ายุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ 7,000 แห่ง และในวันที่ 11-12 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ โดยมีวาระหารือถึงแนวทางการยุบโรงเรียนขนาดเล็กรอบแรก 2,500 แห่ง ซึ่งทางเครือข่ายเห็นควรยุติไว้ก่อน
นายชัชวาล กล่าวถึงเหตุผลของการคัดค้านว่า ข้อแรกคือนโยบายนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ระบุให้มีการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง เพราะการที่ ศธ.ปล่อยปละละเลยทำให้เกิดปัญหาสภาพโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศขาดประสิทธิภาพ แล้วมาแก้ปัญหาโดยใช้การยุบยิ่งทำชาวบ้านต้องส่งลูกหลานไปเรียนไกลๆ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและชุมชน ขัดต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่มุ่งเน้นให้การศึกษาต้องมีส่วนร่วมจากครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการศึกษารอบ 2
ทั้งนี้สภาการศึกษาทางเลือกจึงมีข้อเสนอต่อ ศธ. คือ 1.ให้ยุติการดำเนินนโยบาย และสั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษายุบควบโรงเรียนขนาดเล็ก และ 2.ให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ประสานงาน รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีเวทีประชาคม ประกอบด้วยคณะครู ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคีต่างๆ สื่อสาธารณะ และกลุ่มการศึกษาทางเลือกในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยสภาฯ จะขอรับฟังคำตอบภายใน 30 วัน
“นโยบายนี้ไม่ผ่านความเห็นของชาวบ้านก่อน ปัญหาแท้จริงเพราะโครงสร้างและหลักการบริหารไม่ว่าจะเป็นการวัดประเมินผลที่แข่งขันเฉพาะวิชาการ ให้งบอุดหนุนรายหัว ซึ่งโรงเรียนที่มีเด็กน้อยเงินก็น้อยตาม หรือขาดแคลนครูผู้สอนเพราะปล่อยให้โยกย้ายไปโรงเรียนใหญ่ แล้วมาบอกว่าโรงเรียนขนาดเล็กไม่คุ้มทุน”
เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวอีกว่า สิ่งที่จำเป็นและเป็นแนวทางที่ดีกว่าคือการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพ เพราะนักเรียนยิ่งน้อย ความใกล้ชิดจะยิ่งมาก แต่อาจต้องปรับระบบการจัดการใหม่ให้ชุมชนและภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม เน้นการพัฒนาภูมิปัญญา พัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับชุมชน ซึ่งมีตัวอย่างดีๆอยู่หลายแห่ง นี่คือการคิดใหม่ที่จะแปรวิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก
“คาดหวังข้อเสนอที่ยื่นไปนี้จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเครือข่ายจะติดตามผล และหากครบ 30 วัน ไม่มีความคืบหน้าจะมาทวงถามอีก และระหว่างนี้จะจัดเวทีประชาคม 4 ภูมิภาคและเตรียมเวทีผลักดันข้อเสนอสู่นโยบายพรรคการเมือง” นายชัชวาล กล่าว
นายสุรพล ธรรมร่มดี รองอธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า ศธ.ตั้งธงไว้ชัดว่าจะแก้ปัญหาด้วยการยุบ ซึ่งการทำแบบนี้แสดงออกว่าไม่ได้มองที่มาของปัญหาจริงๆว่าเป็นเพราะอะไร และยังเป็นการทำลายความเป็นชุมชนด้วย หากดูจากข้อมูลรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา 2550 โดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษา สพฐ. จะเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 รองจากโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ และอยู่เหนือโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ (รายละเอียดท้ายข่าว)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง ศธ.ได้ส่งตัวแทนมารับหนังสือ หลังจากนั้นเครือข่ายสภาการศึกษาทางเลือกได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวต่อ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ สพฐ. โดย นายโรจนะ กฤษเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. เป็นผู้แทนมารับหนังสือ .
ดาวน์โหลด
หนังสือขอคัดค้านนโยบายยุบควบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยสภาการศึกษาทางเลือก