“รำลึกโศกนาฏกรรมเคเดอร์” กรรมกรจี้รัฐประชาพิจารณ์ก่อนตั้งสถาบันความปลอดภัย
ปลัดแรงงานเผย พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ บังคับใช้ 16 ก.ค. เล็งของบรัฐบาลหน้าพันล้านตั้งสถาบันและกองทุนความปลอดภัย เครือข่ายแรงงานจัดเวทีชนรัฐ จี้ให้มีประชาพิจารณ์ก่อน ชี้ต้องการศูนย์ร้องทุกข์-ปันงบ 20%กองทุนเงินทดแทนเข้าสถาบันฯ
วันที่ 10 พ.ค.54 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงาน10 พฤษภาคมวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพฯ ว่าการจัดงานครั้งนี้เพื่อรำลึก 18 ปีโศกนาฏกรรมคนงานโรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อ พ.ศ.2536 ที่มีพนักงานเสียชีวิต188 คน บาดเจ็บ 469 คน เนื่องจากสถานประกอบการมุ่งแต่การผลิตไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตแรงงาน รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ โดยได้กำหนดให้สถานประกอบการต้องดูแลความปลอดภัยของแรงงาน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ และกองทุนความปลอดภัยฯ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเสนอของบประมาณประมาณ 1 พันล้านบาทจากรัฐบาลชุดชุดหน้า
"จากข้อมูลของกรมสวัสดิการฯ พบว่ามีแรงงานที่ลางาน 3 วันเพราะประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในปี 2543 อยู่ที่ 9.69 คนต่อ 1 พันคน ปี 2549 อยู่ที่ 7.02 คนต่อ 1 พันคน ปี 2553 อยู่ที่ 5.22 คนต่อ 1 พันคน สถิติลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามการเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ระยะแรกคงยังไม่เน้นการลงโทษ แต่จะให้กรมสวัสดิการฯ ลงไปตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ และให้คำแนะนำในการดูแลความปลอดภัยแก่นายจ้างและลูกจ้างก่อน” ปลัดแรงงาน กล่าว
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่าในปี 2553 พบว่ามีแรงงานประสบอันตรายจากการทำงาน 149,539 คน จำนวนนี้เสียชีวิต 650 คน ทุพพลภาพ 10 คน สูญเสียอวัยวะ 2,157 คน โดยแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจะได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งทั้ง 2 กองทุนได้จ่ายเงินทดแทนไปทั้งสิ้น 1,592 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้ดำเนินคดีกับสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ในช่วงวันที่ 1 ต.ค.53- 1 พ.ค.54 จำนวน 215 คดี จำนวนนี้เป็นคดีความปลอดภัยในการทำงาน 54 คดี เป็นเงินค่าปรับรวมกว่า 7 ล้านบาทและในจำนวนนี้เป็นเงินค่าปรับจากการที่แรงงานประสบอุบัติเหตุในการทำงานกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับทั้งหมด
"พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ กำหนดบทลงโทษสถานประกอบการที่ไม่ดูแลความปลอดภัยของแรงงานเข้มข้นขึ้นโดยเดิมที่มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท เป็นจำคุก 2 ปีปรับ 8 แสนบาท” นางอัมพร กล่าว
วันเดียวกัน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรพันธมิตร ร่วมกันแถลงข่าวในเวทีสาธารณะ“รำลึก 18 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในฝันของผู้ใช้แรงงานจะเป็นจริงได้หรือไม่”
นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.เปิดเผยว่า จากการที่ พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานจะมีผลบังคับใช้ 16 ก.ค.นี้ จนนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯนั้น เครือข่ายได้มีมติร่วมกันและขอแถลงจุดยืนต่ออนุกรรมการยกร่างกฎหมายสถาบันฯ ที่มีอธิบดี กสร.เป็นประธานว่าขอให้ชะลอการประชุมยกร่างจัดตั้งสถาบันฯ และให้กระทรวงแรงงานจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำมาเป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป
นายชาลี กล่าวถึงสาเหตุว่าเพราะการประชุมยกร่างสถาบันฯ ที่ผ่านมา เกิดข้อขัดแย้งระหว่างตัวแทนภาครัฐและตัวแทนผู้ใช้แรงงานหลายประเด็น โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้นต้องการให้สถาบันมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ในการติดตามแก้ปัญหาต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และสามารถเข้าไปในสถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยได้ อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังต้องการงบประมาณจากภาครัฐเป็นทุนประเดิมและรับโดยตรงจากดอกผลของกองทุนเงินทดแทนเป็นร้อยละ 20 แต่ฝ่ายตัวแทนภาครัฐที่มีเสียงข้างมากกลับเห็นต่างว่าการมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ขัดต่อกฎหมาย และซ้ำซ้อนหากจะให้มีรายได้จากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง ต้องผ่านการพิจารณาจาก กสร.ก่อน
“นอกจากนี้ตัวแทนฝ่ายรัฐยังมองว่าสถาบันที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นหน่วยงานระดับกองภายใต้กรมสวัสดิการฯ แตกต่างจากผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้องค์กรเป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ในที่ประชุมจะมีการตัดสินด้วยการลงมติโดยการสอบถามความเห็นของกรรมการทีละคน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะมีสัดส่วนในอนุกรรมการไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นเครือข่ายจึงเห็นควรให้มีการชะลอการยกร่างดังกล่าวออกไปก่อน” ประธาน คสรท.กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.wept.org/website/modules/news/article.php?storyid=315