สธ. - แรงงาน ทบทวนเหมาหัวจ่ายรายปี ผู้ประกันตนฯ ย้ำไม่ต้องการเอาเงินรวมบัตรทอง
“จุรินทร์”เผยเร่งพัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมเครือข่ายบริการผู้ประกันตน-พิจารณางบรายหัวทุกปี ด้านชมรมผู้ประกันตนฯโต้ปลัดแรงงานสร้างวาทะกรรมรับของฟรีให้ร้าย ย้ำเรียกร้องความเท่าเทียม-ไม่ต้องการเอาเงินสมทบรักษาพยาบาล สปส.รวมบัตรทอง แต่ให้โป๊ะบำนาญชราภาพแทน
วันที่ 9 พ.ค. 54 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องการดำเนินการร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งมอบหมายให้ น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ประสานงานกับปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกองทุนประกันสังคม มีความคืบหน้า 3 ข้อคือ 1.กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเชื่อมโยงฐานข้อมูลไปสู่เครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อเป็นฐานให้บริการผู้ประกันตนอย่างมีศักยภาพ
2.ค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายรายหัวปัจจุบันอยู่ที่ 1,404 บาท จะมีการทบทวนทุกปีให้เหมาะสม และให้ สธ.ให้บริการได้อย่างมีคุณภาพศักยภาพ 3.หากข้อตกลงทั้งหมดเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย จะให้มีคณะทำงานร่างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นปลัดกระทรวงแรงงานคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1–2 สัปดาห์
“ส่วนการเบิกจ่ายเมื่อมีผู้ประกันตนมาใช้บริการสถานพยาบาลสังกัด สธ.ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ที่ผู้ประกันตน มอบหมายให้กลุ่มประกันสุขภาพ สธ.เชื่อมข้อมูลกับ สปส. ซึ่งจะทราบว่ามีการใช้บริการอย่างไรบ้าง และขณะเดียวกันจะติดตาม หากพบว่าไม่มีการจ่าย สธ.จะเป็นผู้กำกับให้เกิดการจ่ายร่วมกับประกันสังคม” นายจุรินทร์ กล่าว
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า การที่ชมรมฯ เคลื่อนไหวให้ยกเลิกการร่วมจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพในระบบประกันสังคมนั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเอาเงินของ สปส.มารวมกับ สปสช.เพราะนี่เป็นเงินสมทบของลูกจ้างทุกคนที่ไม่ควรไปรวมอยู่ในกองทุนไหนทั้งสิ้น และการที่ปลัดกระทรวงแรงงานพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ เป็นการขยายความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้ข้อเท็จจริงคืออะไร สิ่งที่ชมรมฯ เรียกร้องเพราะผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบสำหรับการรักษาพยาบาลให้กับตัวเองอยู่ทั้งที่กลุ่มอื่นรัฐบาลรับผิดชอบให้หมด
การเรียกร้องให้ยกเลิกการจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพ 1% ในแต่ละเดือนนั้นเพื่อเอาไปเพิ่มสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพซึ่งจะมีประโยชน์กับผู้ประกันตนยามเกษียณมากกว่า นั่นคือยังจ่ายเท่าเดิม นายจ้างและรัฐก็สมทบเท่าเดิม แต่กัน 1% ไปไปเพิ่มบำนาญชราภาพ ส่วนสิทธิสุขภาพให้รัฐบาลดูแล
โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ยังกล่าวว่า ประเด็นคือความไม่เป็นธรรมของสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญ การให้รัฐดูแลก็ไม่ใช่การสร้างนิสัยรับของฟรีเหมือนที่มีการสร้างวาทะกรรมดูถูกประชาชน สิทธิสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นหลักประกันที่รัฐต้องดูแลประชาชนให้สมกับที่ต้องเสียภาษีให้รัฐ เช่น กลุ่มประเทศแถบยุโรปมีหลักประกันสุขภาพดูแลประชาชนมาหลายสิบปี แม้แต่ประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็มี
“เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ข้อหาแบบนี้ก็ถูกใช้โจมตีหลักประกันสุขภาพในนามของ 30 บาทรักษาทุกโรคมาก่อน การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ย่อมต้องมีคนได้ประโยชน์คนที่เสียประโยชน์ แต่หลักประกันสุขภาพประชาชนทั้งหมดได้ประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์เป็นกลุ่มที่เคยเสวยสุขกับระบบเก่าที่ประชาชนต้องล้มละลาย เพราะกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล” นางสาวสารี กล่าว
ด้าน ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลระหว่างบัตรทองกับประกันสังคม บอกชัดเจนว่าเปรียบเทียบเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น ส่วนสิทธิด้านอื่นๆที่ สปส.มีเป็นเรื่องดีที่น่าชื่นชม และก็เป็นการเปรียบเทียบแต่ละรายการ มีทั้งที่ สปส.ดีกว่าบัตรทอง และที่บัตรทองดีกว่า แต่โดยรวมบัตรทองดีกว่า
ดร.นพ.พงศธร กล่าวว่า การที่ สปส.พูดว่าสิทธิประโยชน์บางประการของ สปส.บางอันดีกว่าบัตรทองก็ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ชี้นำประเด็นว่าเป็นการจงใจให้ข้อมูลด้านเดียว เพราะผลการศึกษาบอกตลอดว่าแต่ละด้านเป็นอย่างไร และเมื่อเร็วๆ นี้ สปส.ก็ยังปรับปรุงสิทธิประโยชน์การแพทย์ในข้อที่ด้อยกว่าบัตรทอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอดส์ ไต มะเร็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่จงใจพูดให้ร้ายว่าทำไมเรื่องที่ดีกว่าไม่พูดถึง ซึ่งการเปิดผลการศึกษาก็นับว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งที่ทำให้ สปส.พัฒนาสิทธิประโยชน์การแพทย์บางรายการ หลังจากที่ไม่เคยสนใจพัฒนามาหลายปี แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนยังต้องจ่าย สมทบค่ารักษาพยาบาลอยู่กลุ่มเดียวเท่านั้น .