ประชาสังคมหารือแนวทางฟ้องศาลปกครองคว่ำ “นโยบายยุบ ร.ร.เล็ก”7 พันแห่ง
ระบุไม่ใช่แค่กระทบเด็ก 1 ล้าน แต่กระเทือนทั้งระบบ สะท้อนความล้มเหลวปฏิรูปการศึกษา แก้ปลายเหตุ ผลักภาระให้ชาวบ้าน “หมอสมศักดิ์” เสนอดึง อปท.-ชุมชน ร่วมสร้างโมเดลโรงเรียนเล็ก ตั้งกองทุนบริหารการศึกษาในพื้นที่ ภาคประชาชนหารือแนวทางฟ้องศาลปกครองคว่ำนโยบาย ศธ.
วันที่ 5 พ.ค. 54 ที่อาคารที่ทำการสวนกีฬาสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่(คศน.) จัดประชุม “กำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา” โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ประกาศยุบเลิกหรือรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่ง ภายในปี 2561 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณและการจัดการที่มีคุณภาพมากขึ้น
นายสุรพล ธรรมร่มดี รองอธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่าโรงเรียนขนาดเล็กตามนิยามของ ศธ. คือมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14,300 แห่งจากทั้งหมด 31,500 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 ครอบคลุมนักเรียนเกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศ จำแนกเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีนักเรียนเลย 137 แห่ง มี 1-20 คน 444 แห่ง ที่เหลือมี 20 ขึ้นไป หากดูตัวเลขแบบนี้เห็นว่าสมควรยุบใช่หรือไม่ แต่นี่คือมายาคติที่มองแบบแยกส่วนคือตัดขาดว่าจริงๆแล้วสาเหตุที่ทำให้ผลเป็นอย่างนี้เพราะอะไร
“การตั้งเป้ายุบโดยใช้หลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการให้โปรโมชั่นเขตพื้นที่การศึกษาว่าถ้ายุบได้จะให้ความดีความชอบ หรือได้ยินมาจากทางภาคใต้ถึงขั้นว่าจะเอางบที่ไม่ต้องจ่ายให้โรงเรียนเล็กมาเป็นงบประจำตำแหน่ง วิธีการแบบนี้สะท้อนอะไร”
นายสุรพล กล่าวต่อไปว่าประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของชาวบ้านที่มีลูกหลานเกือบล้านคนได้รับผลกระทบ แต่สะท้อนภาพรวมการบริหารการศึกษาที่ล้มเหลว ตั้งแต่รัฐปล่อยปละละเลยให้จำนวนครูน้อยลง ทั้งยังไม่มีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือชาวบ้านต้องดิ้นรนย้ายลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนที่มีครูคุณภาพดีกว่า เด็กที่ด้อยโอกาสจึงตกหล่น แถมรัฐประกาศยุบโรงเรียนซ้ำอีก วิธีแบบนี้คือการแก้ที่ปลายเหตุโดยผลักภาระให้ประชาชน
รองอธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวอีกว่าหากมองเชิงโครงสร้าง รัฐมีวิธีคิดผูกขาดจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้กับกระทวง เมื่อพบว่าจัดการไม่ดี ทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กมากมาย ก็ยุบทิ้ง นำงบรายหัว อัตราจ้าง อัตราอาคารสถานที่และผลประโยชน์อื่นๆมาให้เขตพื้นที่การศึกษา ทั้งที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและนโยบายปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เสนอทางออกให้จัดการศึกษาร่วมกับประชาสังคม แต่ประเด็นนี้ไม่ได้ตอบสนองต่อกระบวนคิดของรัฐเลย นอกจากนี้รัฐยังเน้นการจัดการที่ใช้วิชาเป็นตัวตั้งผลิตแรงงานสนองความต้องการอุตสาหกรรม ทำให้ชนบทซึ่งเป็นบริบทสำคัญของสังคมไทยถูกทำลาย
นายสรุพล กล่าวด้วยว่า ขณะที่รัฐมองว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นวิกฤติ ตนกลับเห็นโอกาส อย่างแรกสามารถสร้างโรงเรียนให้รองรับการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการท้องถิ่น โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ชุมชน เครือข่ายการศึกษาทางเลือกให้เข้ามาช่วยรัฐจัดการ โดยยึดคุณภาพเด็กที่รอบด้านเป็นตัวตั้ง สะท้อนกลับไปให้มีหลักสูตรท้องถิ่นที่เชื่อมกับแกนกลาง เด็กจะรู้เท่าทันสังคมและรู้ถึงรากเหง้าชุมชน เกิดครูทางเลือกซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่รัฐไม่เคยมองและไม่เคยใช้ให้มีคุณภาพ ที่สำคัญโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 20 คนนี้จะเป็นโมเดลที่ดีมากของการดูแลแบบใกล้ชิดและผูกพัน
นายชัชวาลย์ เลิศทองดี เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก และ ผอ.โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าระบบการศึกษาไม่เป็นธรรมมานานแล้ว ปรากฏการณ์โรงเรียนขนาดเล็กมาตอกย้ำให้เห็นชัดขึ้น เพราะการตั้งเป้าหมายผลิตคนเป็นแรงงาน เน้นวัดทางวิชาการสร้างปัญหาเด็กไหลจากชนบท คนยากจนหมดสิทธิ์ และทำให้ครูห่างไกลชนบทออกไปทุกที สุดท้ายก็แก้ไขด้วยการยุบโรงเรียน
“โรงเรียนขนาดเล็กจะเชื่อมโยงวิถี บ่มเพาะให้เด็กเป็นผู้เสริมความเข้มแข็งชุมชน ไม่ต้องเน้นวิชาการที่เป็นเลิศ สร้างโรงเรียนทางเลือกที่ประชาชนเข้าถึงได้ ราคาถูกแต่มีศักยภาพ ดีกว่าโรงเรียนใหญ่เด็ก 50 คนต่อชั้นแต่นักเรียนไม่ได้อะไร ปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงไปไม่ถึงแน่นอน” นายชัชวาลย์ กล่าว
ทั้งนี้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการฟ้องศาลปกครองให้ยุติหรือคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมี เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสนอว่าแนวทางที่เป็นไปได้ระหว่างรอความชัดเจนยุบไม่ยุบ คือการใช้โมเดลการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กแบบมีส่วนร่วม โดยดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และเครือข่ายชุมชนมาจัดการร่วมกัน จัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อบริหารการศึกษาชุมชน ซึ่งมีในมติสมัชชา อปท.ด้วย และตั้งสถาบันวิจัยเรื่องสถานศึกษาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้ชัดว่าการยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กมีผลดีหรือเสียมากกว่ากัน
“กฎหมายให้ อปท.โอนโรงเรียนมาดูแลได้ แต่ข้อห่วงคือท้องถิ่นไม่เอาด้วย แต่ใน 7,000 แห่งก็น่าจะมีถึงครึ่ง เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นน่าจะคุยกันว่าถ้าแลกกับการยุบแบบไหนดีกว่ากัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
รศ.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าต้องการเห็นชุมชนตื่นตัวและตั้งคำถามเรื่องการศึกษาของประเทศให้มากขึ้น ซึ่งคานงัดสำคัญคือความรู้จากบทเรียนดีๆ ในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งคือโรงเรียนและบุคลากร เชื่อว่ามีหลายแห่งที่ต้องการแหกกรอบการจัดการศึกษาแบบเดิม จับมือคนเหล่านี้แล้วทดลองกระบวนการไปด้วยกัน ส่วนปัญหาระยะกระชั้นนี้เห็นว่าการเดินหน้าฟ้องหากเป็นไปได้ก็ควรทำ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น สร้างประชาคม และนำเสนอนโยบายด้านการศึกษากับนักการเมือง ซึ่งจังหวะใกล้เลือกตั้งนี้น่าจะดีที่สุด .