“มาร์ค” ระบุ “เรียนฟรี” ไม่ใช่ยาแก้โรคการศึกษา ผลัก “ครูสอนดี” ตำบลละ 3 คน
นโยบายเรียนฟรีแค่ช่วยเปิดประตูการศึกษา ยังมีเด็กหลุดระบบกว่าครึ่ง ท้องถิ่นต้องร่วมสร้างครูต้นแบบ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” เตรียมสร้างพื้นที่นำร่องปลอดเด็กตกหล่นการศึกษา ผลักงบ 710 ล้าน เข้า ครม. 3 พ.ค. ยันร่าง พ.ร.บ.สสค.รออยู่ที่สภาฯ
วันที่ 29 เม.ย.54 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) จัดประชุม “จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร”โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กล่าวว่าการเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาไทยต้องใช้เวลายาวนานกว่าอายุรัฐบาลนี้ แม้จะมีการยุบสภาฯก็จะต้องเดินหน้าต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากข้อมูลองค์การยูนิเซฟพบปัญหาผลสัมฤทธิ์ทั้งระบบการสอบโอเน็ตและปีซ่าของเยาวชนไทยอยู่ในระดับไม่ดี ที่น่าวิตกคือโอกาสทางการศึกษา บางคนมองว่ามีนโยบายเรียนฟรีแล้วปัญหาจะหมดไป ที่จริงเป็นเพียงการยกระดับให้ดีขึ้น แต่ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบการเรียนกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กวัยเดียวกัน แม้ 2 ปีที่ผ่านมามีนโยบายด้านเด็กและเยาวชนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อระดมพลังจากหลายภาคส่วน
นายกฯ ยังกล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพการศึกษาคือคุณภาพครู จึงเป็นที่มาโครงการครูสอนดีซึ่งมีเป้าหมายให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันคัดเลือกครูต้นแบบเพื่อให้รางวัลและขยายผลสู่การมีครูคุณภาพมากขึ้น หลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” โดยในปี 2554 จะเกิดครูสอนดี 20,000 คน เฉลี่ยตำบลละ 2-3 คน โดยมีการมอบรางวัลรายละ10,000 บาทในช่วงปลายปีนี้ และมอบรางวัลทุนครูสอนดี 600 ทุนให้ขยายผลการทำงานในระยะ 3 ปี หมายตาไว้แล้ว 15 จังหวัด จังหวัดใดมีความพร้อมของท้องถิ่นมากก็จะกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษา
“กลไกดำเนินการจึงต้องมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นที่ปรึกษา แต่ในการขับเคลื่อนจะอยู่ที่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยจะประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆเพื่อให้เกิดเครือข่ายครูสอนดี”
ส่วน สสค.จะเป็นกองทุนช่วยเหลือเรื่องการศึกษา 2 เรื่องสำคัญคือ 1.โอกาสทางการศึกษาที่ดีของเด็ก จะเก็บตกเด็กที่หายจากระบบการศึกษาเกือบครึ่ง ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง ออกมาตรการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทั้งเด็กเร่ร่อน เด็กตามไซด์งานก่อสร้าง สนับสนุนองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องนี้
“เมื่อยุบสภาและมีการเลือกตั้ง โครงการนี้จะมีอุปสรรคหรือไม่ เรื่องแรกคืองบประมาณ 710 ล้านที่จะเข้า ครม.เพื่อรออนุมติ 3 พ.ค.นี้ มีลักษณะระบบยืมเงินจากกระทรวงการคลังเหมือนครั้ง สสส. ซึ่งสสค.จะใช้คืนเมื่อมีกฎหมายรองรับการจัดตั้งเป็น พ.ร.บ.ต่อไป ส่วนจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลใหม่จะหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่ ผมอยากให้คิดง่ายๆว่าถ้าเขาไม่ทำต่อรัฐก็ไม่ได้เงินคืน ใครที่มาเป็นรัฐบาลแม้ไม่เข้าใจงานที่พวกเราทำอยู่ แต่กลไกของพวกเราก็ทำให้โครงการเหล่านี้เดินหน้าไปได้”
นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวว่าจากแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษาเพื่ออนาคตคนไทยที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ตามมติ ครม. 11 ม.ค.54 มอบหมายให้ สสค.ดำเนินการ 2 เรื่องสำคัญคือ 1.ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนผ่านโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง “ครูสอนดี” ซึ่งครูสอนดีจะมีทั้งครูที่สอนในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา เช่น ครูในมูลนิธิ ครูตำรวจตระเวนชายแดน
2.สร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพให้เด็กเยาวชนด้อยโอกาสสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงกลุ่มประชากรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพรวม 13.8 ล้านคน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่าถึงผลการสำรวจ “ครูแบบไหน ได้ใจเด็ก” จากตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 7-20 ปีใน 5 หัวเมืองใหญ่ ประกอบด้วย กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา 3,284 ตัวอย่างพบว่าเด็กที่มีฐานะปานกลางจนถึงยากจนเป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าได้พบคุณลักษณะของคุณครูที่พึงประสงค์ “ด้อยกว่า” ในทุกตัวชี้วัด เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ร่ำรวย โดยเฉพาะเรื่อง “พูดจาดี ไม่โมโหง่าย” และเมื่อจัดอันดับผลที่เกิดมากที่สุดจากการที่มีครูสอนดี พบว่าอันดับแรกคือ “ช่วยให้เด็กมีวิชาความรู้” (ร้อยละ 32.1) รองลงมาคือช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียน (ร้อยละ 13.0) และช่วยให้เด็กได้คะแนนสอบสูงๆ เกรดดีๆ (ร้อยละ 11.8)
“สิ่งที่น่าพิจารณาคือ เด็กบางส่วนก็มีประสบการณ์ในการพบกับครูที่สอนไม่ดี โดยเฉพาะครูที่มีลักษณะดุ อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และครูที่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน โดยเด็กให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้มากกว่าการที่ครูสอนไม่เก่ง อธิบายไม่รู้เรื่อง”
ดร.นพดล ยังกล่าวว่างานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้นเสนอแนะว่าครูที่ได้ใจเด็กมักจะไม่เลือกปฏิบัติ และพยายามลดความเลื่อมล้ำในชั้นเรียน ไม่ว่าเป็นเรื่องฐานะ เชื้อชาติ สีผิว เพศ ชาติพันธุ์ นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญของการเรียนรู้และความสามารถทางสติปัญญาของเด็กคือ ความกลัว ถ้าเด็กรู้สึกว่าครูเป็นคน “ดุ” และชอบข่มขู่ จะไม่อยากเข้าเรียน รู้สึกเบื่อ และส่งผลกระทบต่อการเรียน ทางออกคือการปฏิรูปความสัมพันธ์กับเด็ก เปลี่ยนการสอนมาเป็นการแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกัน ลดความเลื่อมล้ำในชั้นเรียน เคารพอัตลักษณ์ของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกอยากเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาของพวกเขา
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ สสค. กล่าวว่าปัจจุบันเด็กต้องการทั้งความรู้และความรัก ดังนั้นโครงการครูสอนดีจึงสะท้อนให้เห็นว่าเด็กต้องการครูที่ทุ่มเทให้ความรักด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพียงสอนเก่งอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณธรรมและจิตวิญญาณความเป็นครู โครงการคัดเลือกครูสอนดีจึงมองทั้งประเด็นครูดีที่ถ่ายทอดวิชาการและครูดีในความหมายของพ่อแม่คนที่ 2 ที่ให้ความรักและใส่ใจแก่เด็กอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการป้องกันและเยียวยาเด็กจำนวนมากไม่ให้เข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยง .