สปส.ปรับใหญ่สิทธิรักษา เลื่อนเจรจาโอนผู้ประกันตนไป สปสช.
สปส.เพิ่มสิทธิครั้งใหญ่ 5 รายการ ไตวาย ทุพลภาพ มะเร็ง ส่วนสิทธิรักษาฉุกเฉินทุกแห่งไม่จำกัดครั้ง-โรคต่อเนื่องไม่จำกัดวัน-ฟันเทียม ยังไม่พิจารณา เลื่อนเจรจาโอนผู้ประกันตน ม.10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 10 พ.ค.
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่าที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมมีมติปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล 5 รายการ ประกอบด้วย 1.ให้สิทธิ์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ป่วยก่อนเป็นผู้ประกันตนเทียบเท่าผู้ที่ป่วยหลังจากเป็นผู้ประกันตนไปแล้ว จากเดิมที่ไม่มีสิทธิ์รับค่าผ่าตัดเปลี่ยนไต และผู้ที่ป่วยหลังจากเป็นผู้ประกันตนแล้วได้รับค่าผ่าตัดแบบเหมาจ่าย 2.3 แสนบาท/ครั้ง มาเป็นจ่ายตามจริง 1.43 แสน-2.92 แสนบาท/ครั้ง ทั้งผู้ที่ป่วยก่อนและหลังเป็นผู้ประกันตน และในกรณีมีโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดจ่ายค่ารักษาสูงสุด 4.93 แสนบาท
2.ปรับเพิ่มค่ายากดภูมิคุ้มกันแก่ผู้ป่วยไตวาย ในอัตราที่มากกว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 5,000 บาททุกรายการ คือเดือนที่ 1-6 หลังผ่าตัดได้ 3.5 หมื่นบาท เดือนที่ 7-12 ได้ 3 หมื่นบาท ปีที่ 2 ได้ 2.5 หมื่นบาท และปีที่ 3 ได้ 2 หมื่นบาท
3.เพิ่มค่ายากระตุ้นเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วยไตวาย จากเดิม 750 บาท/สัปดาห์ เป็น 1,225 บาท/สัปดาห์ รวมทั้งค่าฉีดยาเข็มละ 50 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถรับยาได้บ่อยครั้งขึ้น
4.เพิ่มค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ จากเดิมที่ให้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน 2,000 บาท/เดือน เป็นผู้ป่วยนอก 2,000 บาท/เดือน ผู้ป่วยใน 4,000 บาท/เดือน สำหรับโรงพยาบาลเอกชน และสำหรับผู้เลือกลงทะเบียนกับโรงพยาบาลรัฐ ผู้ป่วยนอกรักษาฟรี ส่วนผู้ป่วยในคิดค่าใช้จ่ายตามกลุ่มโรค (DRG) ในอัตรา 1.2 หมื่นบาท/น้ำหนักเฉลี่ยต่อความรุนแรงของโรค (RW) รวมทั้งเพิ่มค่ารถนำส่งสำหรับเดินทางไปโรงพยาบาลอีก 500 บาท/ครั้ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1ม.ค. ปีนี้เป็นต้นไป
5.เห็นชอบให้เพิ่มค่ายาสำหรับรักษามะเร็ง 7 ชนิด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากเดิมรายละ 5 หมื่นบาทเป็นสูงสุด 2.72 แสนบาท ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายและรักษาผู้ประกันตนได้ดีขึ้น
นพ.สมเกียรติ ยังกล่าวว่าอย่างไรก็ตามข้อเสนอของกรรมการการแพทย์อีก 3 อย่างยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติคือ 1.การเพิ่มสิทธิให้รักษาพยาบาลฉุกเฉินที่ไหนก็ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จากเดิมที่ให้ 2 ครั้ง/ปี 2.เงื่อนไขการรับสิทธิบริการทางการแพทย์ เดิมมีข้อกำหนดว่าถ้าเป็นโรคที่ต้องรักษาต้องเนื่องสามารถรักษาได้ไม่เกิน 180 วัน/ปี จะปรับเป็นไม่จำกัดจำนวนวัน และ3.เพิ่มสิทธิทันตกรรม ทำฟันเทียมครึ่งปากบน/ล่าง 2,000 บาท ทั้งปาก 4,000 บาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมสิทธิประโยชน์เสียก่อน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ กล่าวว่ามติดังกล่าวน่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า และทำให้สำนักงานประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 200 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มสิทธิโรคไตวายเรื้อรังอีก 310 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มสิทธิแก่ผู้ทุพพลภาพ และอีกเดือนละ 10 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มสิทธิรักษามะเร็ง
ทั้งนี้บอร์ดประกันสังคมยังมีมติเลื่อนการเจรจาการโอนผู้ประกันตนตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นวันที่ 10 พ.ค. จากเดิมที่ สปสช.ขอนัดในวันที่ 27 เม.ย.นี้.