สปสช.เตรียมถก สปส.โอนผู้ประกันตนมาบัตรทอง พร้อมงบ 2 หมื่นล้าน
บอร์ด สปสช.ตั้งทีมเจรจา สปส. ดำเนินการตามมาตรา 10 พ.ร.บ.สุขภาพ ขอโอนผู้ประกันตน 9.4 ล้านใช้บัตรทอง พร้อมโยกงบตาม 2 หมื่นล้าน 1 เดือนรู้ผล จุรินทร์เล็งปรับประกันสังคมใช้บัตรเดียวรักษาได้ทุก รพ.สังกัด สธ. ด้าน สปส.มอบของขวัญวันแรงงาน ส่ง ม. 40 คุ้มครองแรงงานอิสระ
วันที่ 18 เม.ย.54 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ว่าบอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งผู้แทนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 คน มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ บอร์ด สปสช. ศ.(พิเศษ)ไพจิตร ปวะบุตร รองประธานฯ ศ.อัมมาร สยามวาลา อนุกรรมการฯ ฯลฯ เพื่อเข้าหารือกับคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) เกี่ยวกับความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
โดยจะทำหนังสือถึงบอร์ด สปส.เพื่อขอเข้าหารือ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 1 เดือน ซึ่งหากบอร์ด สปส.เห็นด้วย มีความพร้อมในการนำผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนเข้ามาอยู่ในความดูแลของ สปสช.โดยจะต้องนำงบประมาณในส่วนของการรักษาพยาบาลราว 2 หมื่นล้านบาทมายังกองทุน สปสช. ก็สามารถดำเนินการโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป
“ขณะนี้ สปส.ใช้จ่ายงบฯผู้ประกันตนตกหัวละประมาณ 2,100 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจริงๆแล้วหากโอนมายัง สปสช.น่าจะใช้งบประมาณต่ำกว่า เนื่องจากผู้ประกันตนส่วนใหญ่อายุไม่มาก ความเสี่ยงในการก่อโรคน้อย แต่ทั้งหมดยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้มีการเจรจาก่อนว่า บอร์ด สปส.จะเห็นด้วยในการดำเนินการตามมาตรา 10 หรือไม่” นพ.วินัย กล่าว
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมี 3 ระบบการประกันสุขภาพ ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการคิดเป็นร้อยละ 6.5 ระบบประกันสังคมร้อยละ 16 และระบบรักษาฟรีคิดเป็นร้อยละ 77.5 ทั้งนี้ในร้อยละ 16 ของระบบประกันสังคมมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ 40 ซึ่งกำลังจะหาลู่ทางให้ผู้ประกันตนส่วนนี้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับบริการที่สถานบริการใดก็ได้ในสังกัด เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงบริการ ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีรายละเอียด
ส่วน สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่สนใจเข้าสู่ระบบประกันสังคม สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.54 ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือผู้แทนเครือข่าย เช่น อาสาสมัครแรงงาน (อสร.), อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) โดยเอกสารในการสมัครใช้สำเนาบัตรประชาชน และกรอกแบบการขึ้นทะเบียนการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (สปส.1-40)
โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระทุกสาขาอาชีพ(แรงงานนอกระบบ) ที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนกับทางสำนักงานประกันสังคมได้ และมี 2 ทางเลือกให้เลือกคือ
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท)ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (การรักษาพยาบาลสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เช่นเดิม) ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อผู้ประกันตนต้องนอนพักที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป ได้รับเงินค่าชดเชย 200 บาท/วัน ไม่เกิน 20 วัน/ปี
2. กรณีทุพพลภาพ (การรักษาพยาบาลกรณีทุพพลภาพสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เช่นเดิม) ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะให้เงินทดแทนทุพพลภาพ 15 ปี โดยจ่ายเป็นรายเดือน
3. กรณีเสียชีวิต สำนักงานประกันสังคมจะให้เงินค่าจัดการศพ 20,000 บาท
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จชราภาพอีก 1 กรณี
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506ตลอด 24 ชั่วโมงหรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด .