คนอุบลฯ ถกไร้เหตุผลสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย
วันที่ 8 เม.ย.54 กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องพลังงานทางเลือกและทำไมไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเชิญนักวิชาการที่ศึกษาด้านพลังงานในประเทศไทย คือ นายศุภกิจ นันทะวรวการ ตัวแทนมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ ตัวแทนกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต และอาจารย์ชมพูนุช โมราชาติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมีตัวแทนชุมชนจากทั่วจังหวัดร่วมรับฟัง เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่ และกำหนดกระบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอุบลราชธานี
สันติ ให้ข้อมูลว่าการใช้น้ำในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องการน้ำมากกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ และปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยก็ขึ้นอยู่กับระบบน้ำหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงต้องตั้งอยู่ติดกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือทะเล ในช่วงหลายปีมานี้ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมีผลต่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายแห่ง ปี 2003 ได้เกิดคลื่นความร้อนทั่วยุโรป อากาศที่ร้อนจัดทำให้ฝรั่งเศสต้องปิดหรือลดกำลังผลิตของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 ใน4 ของประเทศ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือในปี 2006 อากาศร้อนจัดในสเปนทำให้เตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องถูกปิดอย่างฉุกเฉิน หรือที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกามีการสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฉุกเฉินเพราะน้ำในทะเลสาบมิชิแกนร้อนกว่าปกติ
“ดังนั้นสภาพอากาศ ความแห้งแล้ง หรืออุทกภัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ล้วนส่งผลกระทบต่อความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้” นายสันติ กล่าว
ดร.ชมพูนุช กล่าวว่าการวัดค่ากัมมันตรังสีที่มนุษย์เราสามารถรับได้ เกิดจากการทดลองกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบางครั้งก็กำหนดเองจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีผลประโยชน์จากการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจว่าระดับความปลอดภัยที่แถลงจากรัฐบาลนั้นเป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ ฃ
นายศุภกิจ กล่าวว่ากระทรวงพลังงานยังพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.อุบลราชธานี แม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยุติเป็นการชั่วคราว เพราะยังเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการหาพลังงานสำรอง และต้องการงบประมาณเพิ่มเติมจากที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ได้อนุมัติงบประมาณใช้ศึกษาประชาสัมพันธ์จำนวน 1,500 ล้านบาท ขณะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และงบประมาณจำนวนนี้ได้หมดลงตั้งแต่ปี 2553
นายศุภกิจ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมาสร้างใน จ.อุบลราชธานี ไม่มีความเหมาะสม ทั้งด้านความมั่นคงและแหล่งน้ำใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณู โดยด้านความมั่นคงตั้งอยู่ใกล้ชายแดนลาวมากเกินไป การดำเนินการใดๆต้องดูท่าทีจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนด้านแหล่งน้ำจะเกิดการแย่งน้ำในภาคเกษตรกรรมกับโรงไฟฟ้า แม่น้ำมูนคงไม่มีน้ำเพียงพอตอบสนองความต้องการให้คนทั้งสองกลุ่มได้ จึงเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ระยะยาว
ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีทางเลือกใช้พลังงานอื่น อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 พลังงานมีเอกชนเข้าดำเนินการและสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้วกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และเอกชนยังมีการลงทุนสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยจึงไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงเย็นมีวงโสเหล่ “คนอุบลจะสูญพันธุ์หรือไม่? จากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ข้างศาลหลักเมือง เพื่อให้ข้อมูลกับสาธารณชนเมืองอุบลฯ ให้มีความเข้าใจเรื่องพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น นางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ผู้เข้าร่วมวงโสเหล่ได้แสดงความคิดเห็นภายหลังจากได้รับฟังข้อมูลจากนักวิชาการว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ ติดอันดับต้นๆของโลก หากเกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ต้องเกิดการคอรัปชั่นอย่างแน่นอน
“หลักประกันความปลอดภัยของประชาชนในอนาคตคงไม่มีแน่นอน ” นางอัฐฌาวรรณ กล่าว.