นิด้าโพลเผย ปชช.ร้อยละ 44.90 ระบุ ฝ่ายค้านมีข้อมูล แต่ไม่เด็ดพอมัดรัฐมนตรี
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 44.90 ระบุ มีข้อมูล แต่ไม่เด็ดเพียงพอที่จะมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คุณไว้วางใจ ฝ่ายค้านหรือไม่?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 5 มีนาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,510 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการไว้วางใจการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 9.44 ระบุว่า ติดตามข่าวตลอด ร้อยละ 44.07 ระบุว่าติดตามข่าวบ้างพอสมควร ร้อยละ 16.81 ระบุว่า ไม่ค่อยติดตาม ร้อยละ 29.60 ระบุว่า ไม่ติดตามเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อมูลเด็ดของฝ่ายค้านในการมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนดิ้นไม่หลุด เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 32.02 ระบุว่า มีข้อมูลเด็ด ที่สามารถมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด ร้อยละ 44.90 ระบุว่า มีข้อมูล แต่ไม่เด็ดเพียงพอที่จะมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด ร้อยละ 14.00 ระบุว่า ไม่มีข้อมูลเด็ดเลย และร้อยละ 9.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความเชื่อของประชาชนต่อกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อตกลงพิเศษกับรัฐบาลในการทำให้รัฐมนตรีบางรายไม่ต้องถูกอภิปราย ไม่ไว้วางใจ เนื่องจากข้อจำกัดทางเวลา เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 10.05 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 23.16 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 27.63 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 30.75 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 8.41 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการไว้วางใจของประชาชนต่อฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 26.28 ระบุว่า ไว้วางใจมาก เพราะ ฝ่ายค้านมีข้อมูล หลักฐาน ในการนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจที่สามารถทำให้ฝ่ายรัฐบาลถูกตรวจสอบการทำงานได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เชื่อมั่นในบุคลากรของพรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 34.92 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ เพราะ ฝ่ายค้านมีข้อมูลที่ชัดเจน มีเหตุผลตรงไปตรงมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายค้าน ร้อยละ 22.26 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ เพราะ ข้อมูลยังมีไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกอภิปรายฯ มากกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนหรือประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า สองพรรคใหญ่ทางฝ่ายค้านไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร้อยละ 13.78 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย เพราะ ข้อมูลไม่ตรงประเด็นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ฝ่ายค้านพยายามจะล้มรัฐบาลอย่างเดียว ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และร้อยละ 2.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ