อัดฉีดเงินสู้ 'โควิด' 7 เดือน ‘รบ.บิ๊กตู่’ แจก 1.24 แสนล้าน ยอด 6 ปี หว่าน 3.51 แสนล.
"...จะเห็นได้ว่าเพียง 7 เดือนเศษ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ที่มีการแจกเงิน 124,193 ล้านบาท นั้น 'สูงกว่า' ค่าเฉลี่ยการแจกเงินรายปีของรัฐบาล คสช. กว่า 1 เท่าตัว และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินที่รัฐบาล คสช.ใช้เวลาแจก 5 ปี แม้ว่าในอดีต พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยต่อว่าต่อขานบรรดา 'นักการเมือง' ว่า ใช้นโยบายแจกเงินสร้าง ‘คะแนนนิยม’ ก็ตาม..."
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นโยบาย ‘การแจกเงิน’ ถูกใช้เป็น ‘ยาสามัญ’ สำหรับบรรเทาอาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจไทย หลังจากต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงมากที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ
ล่าสุด คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ มีมติเห็นชอบ ‘มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชุดที่ 1’ กรอบวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกเหนือจากมาตรการชะลอการเลิกจ้าง มาตรการยกเว้นหรือลดภาษี และมาตรการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดูแลผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แล้ว
ครม.เศรษฐกิจ ได้เห็นชอบมาตรการ ‘แจกเงิน’ เข้าสู่กระเป๋าผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร พนักงานเงินเดือนที่มีรายได้น้อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระกว่า 14 ล้านคน คนละ 2,000 บาท โดยจะทยอยจ่ายผ่านระบบอีเพลย์เมนต์ 2 เดือน เดือนละ 1,000 บาท
“ผู้เข้าร่วมโครงการฯจะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ จากนั้นจะมีการโอนเงินให้โดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ และเมื่อได้รับเงินแล้วก็สามารถกดเป็นเงินสดไปใช้ได้เลย ซึ่งมาตรการนี้เป็นคนละส่วนกับโครงการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้
อุตตม ยังระบุว่า “เป้าหมายของมาตรการนี้เพื่อให้ประชาชนนำไปซื้อสินค้า ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีการซื้อขายสินค้าบริการต่างๆเกิดขึ้น เม็ดเงินก็จะหมุนไปในหลายๆภาคส่วน และหลายๆรอบ คือ เมื่อเกิดการซื้อ ก็มีการผลิต เมื่อมีการผลิตก็จะมีการจ้างงาน มีการซื้อวัตถุดิบ”
ในห้วงเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการหลังแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน
จะพบว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ที่มีลักษณะเป็นการ ‘แจกเงิน’ ซึ่งไม่นับรวมโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด พบว่ามีการแจกเงินแล้วไม่ต่ำกว่า 124,193 ล้านบาท
ประกอบด้วย การแจกเงินผ่านมาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่าน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' วงเงินรวม 21,102 ล้านบาท
แบ่งเป็น การแจกเงินให้ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ (14.6 ล้านคน) คนละ 500 บาท/เดือน นาน 2 เดือน 14,607 ล้านบาท แจกเงินเพิ่มให้ผู้สูงอายุ (5 ล้านคน) คนละ 500 บาท/เดือน นาน 2 เดือน 5,000 ล้านบาท แจกเงินค่าเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด (8.24 แสนคน) คนละ 300 บาท/เดือน นาน 2 เดือน 494 ล้านบาท
การแจกเงินผ่านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ‘ชิม ช้อป ใช้’ โดยแจกเงินคนละ 1,000 บาท สำหรับเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยว ซึ่งการดำเนินการ 3 ระยะ ผลปรากฎว่ามีผู้ได้สิทธิ์รับแจกเงิน 11.8 ล้านคน และมีการใช้เงินจริง 11,672 ล้านบาท จากเป้าหมาย 13 ล้านคน
เมื่อรวมกับการคืนเงิน (Cash Back) ในอัตรา 15-20% เมื่อมีการใช้จ่ายผ่าน ‘กระเป๋า 2’ อีกกว่า 2,500 ล้านบาท (ยอดใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 มีทั้งสิ้น 17,148 ล้านบาท) ก็เท่ากับว่ารัฐบาลแจกเงินท่องเที่ยวผ่านมาตราการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ เป็นเงินประมาณ 14,172 ล้านบาท
การแจกเงินให้ ‘ชาวนา’ ผ่าน 2 โครงการ รวม 55,919 ล้านบาท แบ่งเป็น การสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าวนาปี 2562/63 (ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่) เป็นเงิน 29,126 ล้านบาท การสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่) เป็นเงิน 26,793 ล้านบาท
การแจกเงิน ‘ดาวน์บ้าน’ ในโครงการ ‘บ้านดี ดีดาวน์’ รายละ 5 หมื่นบาท ตามมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย เป้าหมายไม่เกิน 1 แสนราย วงเงิน 5,000 ล้านบาท
และล่าสุดการแจกเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 คนละ 2,000 บาท ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่น้อยกว่า 14 ล้านคน วงเงินเบื้องต้น 28,000 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 ที่มาภาพ thaigov.go.th
ในขณะที่การแจกเงินในช่วง 5 ปี (พ.ค.57-ก.ค.62) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 หรือ ‘รัฐบาล คสช.’ พบว่ามีการแจกเงินทั้งสิ้นกว่า 227,411 ล้านบาท หรือคิดเป็นการแจกเงินเฉลี่ยปีละ 45,482 ล้านบาท
ได้แก่ การแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 ปี (2560-มิ.ย.2562) เป็นเงินประมาณ 90,087 ล้านบาท
การแจกเงินช่วยเหลือต้นทุนปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 เป็นเงิน 32,332 ล้านบาท
การแจกเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 เป็นเงิน 32,541 ล้านบาท และปี 60/61 เป็นเงิน 37,898 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 70,439 ล้านบาท
การแจกเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ปี 2559 วงเงิน 12,750 ล้านบาท และปี 2561-62 วงเงิน 17,007 ล้านบาท รวมวงเงิน 29,757 ล้านบาท
การแจกเงินช่วยเหลือต้นทุนชาวสวนปาล์มปี 2561/62 วงเงิน 3,375 ล้านบาท และการแจกเงินช่วยเหลือต้นทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงิน 1,421 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าเพียง 7 เดือนเศษ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ที่มีการแจกเงิน 124,193 ล้านบาท นั้น 'สูงกว่า' ค่าเฉลี่ยการแจกเงินรายปีของรัฐบาล คสช. กว่า 1 เท่าตัว และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินที่รัฐบาล คสช.ใช้เวลาแจก 5 ปี แม้ว่าในอดีต พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยต่อว่าต่อขานบรรดา 'นักการเมือง' ว่า ใช้นโยบายแจกเงินสร้าง ‘คะแนนนิยม’ ก็ตาม
แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้น คือ การแจกเงินในช่วง 6 ปี ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนอกจากจะสร้างภาระงบประมาณให้กับประเทศสูงถึง 351,604 ล้านบาทแล้ว กลับไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจภายในกระเตื้องขึ้นมากนัก ซ้ำร้อยยังทำให้ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ‘อ่อนแอ’ ลง เห็นได้จากจำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้น
อ่านประกอบ :
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า
ขยี้ปมเหลื่อมล้ำศก. เขย่าเก้าอี้ 'บิ๊กตู่' นโยบายรัฐเอื้อเจ้าสัว 5 ตระกูล 'รวยก้าวกระโดด' ?
‘ดร.โชคชัย สุทธาเวศ’ อดีตอาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตหัวหน้าโครงการวิจัยการสร้างสรรค์นวัตกรรมของขบวนการสหกรณ์ไทย ระบุว่า การแจกเงินของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศรอบนี้ คงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก และจะได้ผลเพียงระยะสั้น จากนั้นทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
“ที่ผ่านมาการแจกเงินของรัฐบาล ไม่ได้มีการติดตามและประเมินความคุ้มค่าการใช้เงิน เช่นว่า ผู้ที่รับเงินไปแล้วสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่ หรือมีการใช้เงินไปในการเพิ่มศักยภาพให้ตนเองหรือไม่ อีกทั้งจะพบว่าคนที่ได้รับแจกเงินบางคนมีรายได้มากพอสมควร เพียงแต่ไม่มีหลักฐาน และระบบตรวจสอบก็ยังหละหลวมอยู่” ดร.โชคชัยกล่าว
ดร.โชคชัย ระบุว่า นโยบายการแจกเงินในต่างประเทศมี 2 แบบ คือ แจกเงินเป็นการทั่วไปและไม่มีการประเมินผล กับการแจกเงินเฉพาะกลุ่มและมีการประเมินผล ซึ่งพบว่าการแจกเงินเฉพาะกลุ่มและมีการประเมินผล นั้น ได้ผลดีมากกว่า
เช่น สวิสเซอร์แลนด์ที่เตรียมจะแจกเงินเป็นการทั่วไป แต่เมื่อทำประชามติ คนเกือบ 70% ไม่เห็นด้วยจึงต้องยุติไป และกลับไปช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเหมือนเดิม เพราะเขาอยากให้คนทำมาหากินกันอย่างแข็งขัน ส่วนรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่แจกเงินเป็นการทั่วไป
ดร.โชคชัย เสนอว่า ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลควรสนับสนุนกลไกองค์กรระดับชุมชนที่มีอยู่แล้ว เช่น สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้มีรายได้น้อย เพราะการรวมตัวกันของคนในชุมชน นอกจากจะสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจต่อรองได้แล้ว ยังทำให้เกิดการควบคุมกันเองในกลุ่มสมาชิก
“การรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้มากกว่าการทำอยู่คนเดียว” ดร.โชคชัยระบุ
อ่านประกอบ :
ละลายงบ 2พันล.! ฉบับเต็ม สตง.สอบโครงการประชารัฐสวัสดิการ ยุค คสช. ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/