รอฉบับใหม่! สธ.เเจ้งยกเลิกประกาศฯ 9 ประเทศ เขตติดโรคโควิด-19
สำนักสารนิเทศ สธ. เเจ้งสื่อมวลชน ประกาศฯ 9 ประเทศ เขตติดโรคโควิด-19 รอฉบับใหม่ เหตุมีการเเก้ไขข้อมูล 'อนุทิน' ปิดเฟซบุ๊กหนี หลังโพสต์
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 มี.ค. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล เผยเเพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง "ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19)" ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเอกสารดังกล่าว มีใจความสำคัญกำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักร ได้เเก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลี จีน (รวมมาเก๊าเเละฮ่องกง) ไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19)
(อ่านประกอบ:INFO: 9 ประเทศ เขตติดโรคโควิด-19)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เวลาต่อมา สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข เเจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ประกาศฯ ดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ขอให้รอฉบับใหม่ เนื่องจากยังมีข้อมูลเนื้อหาบางส่วนต้องเเก้ไข
ขณะที่เฟซบุ๊กของนายอนุทินได้ถูกปิดไป หลังจากโพสต์เผยเเพร่ประกาศฯ ฉบับดังกล่าว โดยยังไม่มีการชี้เเจงใด ๆ
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 40 บัญญัติว่า เมื่อรัฐมนตรีประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค ตามมาตรา 8 ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอํานาจ ดําเนินการเอง หรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักร จากท้องที่หรือเมืองท่านั้น ดําเนินการดังต่อไปนี้
(1) กําจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค
(2) จัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กําหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้
(3) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กําหนด
(4) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น หรือที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
(5) ห้ามผู้ใดนําวัตถุ สิ่งของ หรือเครื่องใช้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นสิ่งติดโรคเข้าไปใน หรือออกจากพาหนะนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อ ระหว่างประเทศ
มาตรา 34 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอํานาจที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ ดังตอไปนี้
(1) ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็น ผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัย อาจดําเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกําหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ทั้งนี้ หากเป็นสัตว์ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์เป็นผู้นําสัตว์มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตร ทางการแพทย์
อ่านประกอบ:พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/