ภาคประชาสังคม เรียกร้องพื้นที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ที่ปลอดภัย
ภาคประชาสังคม เรียกร้องพื้นที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ที่ปลอดภัย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ย้ำเป็นหน้าที่รัฐต้องคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนไม่ใช่การควบคุมหรือจำกัดการแสดงออก
องค์กรประชาสังคม 4 หน่วยงาน ได้แก่ Change Fusion , Centre for Humanitarian Dialogue (HD) Friedrich Naumann Foundation (FNF) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดเวทีเสวนา Digital Thinkers Forum#7 สิทธิความเป็นส่วนตัวและ/หรือความปลอดภัย ในมุมมองสิทธิพลเมืองยุคดิจิทัล (Privacy& Security : Are both our digital rights?)
Mr. Michael Vatikiotis Asia Regional Director, Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวต้อนรับในฐานะองค์กรร่วมจัดงานว่า สิทธิความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยนั้นมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าความสมดุลควรอยู่ที่ใด จำเป็นต้องแลกสิ่งหนึ่งเพื่อรักษาอีกสิ่งหนึ่งหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งในสังคม ผู้จัดจึงเปิดเวทีพูดคุยเพื่อให้เกิดการถกแถลงเพื่อนำเสนอมุมมองในประเด็นเหล่านี้ หัวข้อในการเสวนาวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงกับกรณีล่าสุดเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาที่เกิดความสูญเสียจำนวนมาก พบว่าสื่อสังคมออนไลน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าไม่เฉพาะองค์กรสื่อเท่านั้นที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง รัฐและสังคมก็ต้องถามตัวเองเช่นกัน ว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคนี้ กติกา และกลไกการกำกับดูแลจากรัฐอาจไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้น โจทย์สำคัญคือ การทำให้สังคมไทยมีสมดุลระหว่างสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิสาธารณะ และการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมกัลยาณมิตรที่พร้อมรับฟังเสียงที่แตกต่างได้โดยไม่แตกแยก หรือ ใช้ความรุนแรง หวังว่าเวทีวันนี้จะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ทั้งทางกาย ทางใจ และทางปัญญา
Mr. Federic Spohr Head of Thailand and Myanmar Office, Friedrich Naumann Foundation (FNF) นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวกับความปลอดภัยว่าเป็นสิทธิในยุคดิจิทัลหรือไม่ (Privacy& Security : Are both our rights in digital age?) โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงมาก ความท้าทายคือ จำเป็นต้องแบ่งขั้วระหว่าง สิทธิส่วนตัว กับความปลอดภัยสาธารณะหรือไม่ การที่คนใช้สื่อสังคมออนไลน์กันมากทำให้ข้อมูลต่าง ๆถูกเจ้าของ platform เก็บไว้และนำไปสู่การวิเคราะห์ วางเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อใช้ในการตลาด การชักจูงใจหรือทำแคมเปญต่าง ๆ ได้
“ ยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เฟสบุคส์ ทวิตเตอร์ เก็บข้อมูลไว้มากกว่า 3 พันล้านใบหน้า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เราไม่รู้ว่าเมื่อใดที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ เช่น หากใช้ในการตรวจสอบคนร่วมประท้วงผลจะเป็นอย่างไร แล้วทำไมบริษัทเอกชนถึงได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ หากข้อมูลเหล่านี้จะถูกมิจฉาชีพเอาไปใช้หรือรั่วไหลแล้วจะเป็นอย่างไร เป็นต้น หากข้อมูลส่วนบุคคลทาง digital ไม่ได้มีความเป็นส่วนตัว ก็จะเป็นปัญหาความมั่นคงในตัวของมันเอง”
Mr. Federic เสนอเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ควรจะพูดในความหมาย “เสรีภาพกับการควบคุม” มากกว่า” ความเป็นส่วนตัวกับความปลอดภัย” และไม่จำเป็นต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งแต่สิ่งสำคัญคืออยู่ที่การสร้างสมดุลของประเด็นทั้งสองต่างหาก อีกทั้งเห็นว่าสื่อออนไลน์มีข่าวสารมากแต่ยากจะแยกแยะว่าจริง/ปลอม โดยเฉพาะเมื่อแหล่งข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ สิ่งที่ควรทำคือ ต้องทำให้คนทั่วไปตระหนักในประเด็นที่มีความอ่อนไหว และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้รับเสมอ
สำหรับเวทีสานเสวนา เรื่อง “สิทธิความเป็นส่วนตัวและ/หรือความปลอดภัย ในมุมมองสิทธิพลเมืองยุคดิจิทัล” นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ป่าสาละและผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาเรื่องความความเป็นส่วนตัวของบุคคลกับความปลอดภัยนั้น ในประเทศไทย รัฐมักจะมองในแง่ความมั่นของของรัฐบาลมากกว่าของรัฐชาติ มี 2 ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ การไม่อธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมต้องควบคุม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลและการไม่เชื่อมั่นในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
“หากว่ารัฐบาลอธิบายให้ชัดเจนว่าจะลิดรอนเสรีภาพของเราเพื่อป้องกันและประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร โดยยึดหลักพื้นฐานคือการคุ้มครองก็เข้าใจได้ แต่รัฐไทยทำอย่างนั้นไหม กลับไม่มีความชัดเจน ในระยะหลัง กฎหมายที่ออกมาแล้วอาจจะละเมิดความเป็นส่วนตัว รัฐบาลไม่เคยอธิบายว่า ออกกฎดังกล่าวมาทำไมเช่น กอ.รมน. กำหนดให้คนในพื้นที่ภาคใต้ต้องลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์และแสดงอัตลักษณ์ Facial Recognition แม้ว่าจะมีคนคัดค้านจำนวนมากแล้ว ก็ยังคงไม่มีคำอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องทำ แค่เพียงเลื่อนการบังคับใช้เท่านั้น นิยามความมั่นคงก็ขยายออกไปเรื่อย ๆ แล้วแต่การตีความ เลยสงสัยว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ของรัฐบาลหรือของคนในรัฐบาล”
สฤณีมองว่าสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy) ควรเป็นเรื่องสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับ ต่างกันแต่เพียงระดับ หากรัฐจะละเมิดนั้นต้องเป็นไปตามความจำเป็นและความพอเหมาะ (necessity and proportionate) เท่านั้น ซึ่งอาจแตกต่างขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแต่ละสังคม
ด้านอาจารย์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิทธิความเป็นส่วนตัวกับความปลอดภัยนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่บางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องเลือกท่ามกลางข้อจำกัดเช่น เรายอมให้ถูกสแกนร่างกายตรวจอาวุธที่สนามบินด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
“หน้าที่การอธิบายความจำเป็นของการใช้กฎหมายคือหน่วยงานรัฐ ถ้าอธิบายไม่ชัด บอกไม่ได้ว่าทำไปทำไม ก็ต้องยังไม่ใช้กฎหมายนั้น แม้จะมีบริบททางสังคมที่มีผลอยู่บ้างแต่ก็มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย เพราะความเป็นส่วนตัวจะเกี่ยวข้องกับ dignity ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเลือกพัฒนาศักยภาพของตัวเองซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด ภาครัฐต้องดูแลมั่นคง ความปลอดภัยแล้วก็มีหน้าที่ต้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของคนด้วย”
Ms. Maude Morrison, ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ Build Up ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ลดความแตกแยก โดยพัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิตัลเพื่อสร้างสันติภาพในหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้ยกตัวอย่างการทำงานหลายพื้นที่ อาทิ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเลบานอนเพื่อลดความขัดแย้งกรณีผู้อพยพซีเรียที่เข้ามาจำนวนมาก กรณีพัฒนา chat bot ในเฟสบุคส์เพื่อยกระดับการศึกษา ให้ความรู้ในการใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ในพม่า รวมทั้งการใช้เฟสบุคส์และทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สื่อสารในคนกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ในสหรัฐ ต่อประเด็นที่ส่งผลกระทบกว้างขวาง อาทิ การควบคุมอาวุธปืน
“ต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้คนสามารถแสดงความเห็นที่ปลอดภัยบนออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ต้องทำสิ่งที่กว้างกว่านั้นคือสร้างระบบนิเวศน์บนโลกออนไลน์ให้คนรู้สึกปลอดภัย ไว้เนื้อเชื่อใจและกล้าจะแสดงความเห็นได้ เมื่อคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นและมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัยหลังจากแสดงความเห็นไปแล้ว ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ก็ยากจะเห็นการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของคนในสังคม จึงจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือระหว่าง เทคโนโลยี กลุ่มผู้มีส่วนร่วมได้เสียต่าง ๆ รัฐบาลและประชาสังคม”
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นบนเวที เห็นพ้องกันว่าประชาชนในฐานะพลเมืองและผู้บริโภคต้องตระหนักและรู้สิทธิที่ตนเองมี รวมทั้งต้องเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ต้องไม่ถูกละเมิดหรือละเมิดในวงจำกัด และใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อยืนยันสิทธิดังกล่าว แต่หากไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งภาครัฐต้องทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคมและกฎหมายรองรับด้วยเพื่อเอื้อให้ประชาชนใช้สิทธินั้นได้อย่างเต็มที่
“การเรียกร้องสิทธิของตัวเราเอง ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากหรือเป็นไปไม่ได้ อยากขอให้ทำไปทีละนิด หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด ไม่เฉพาะกับหน่วยงานเอกชน ต้องเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐด้วย หากเรายอมเงียบต่อไปในอนาคตเราจะพูดอะไรไม่ได้อีกเลย” อาจารย์ฐิติรัตน์กล่าว
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Digital Thinkers Forum กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า ประเทศไทยกำลังจะใช้ระบบเทคโนโลยี 5G แล้ว แต่ก็มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐต้องการกำกับดูแลควบคุมเพื่อให้การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นไปโดยราบรื่นแต่ก็มีหน้าที่ต้องสร้างความตื่นรู้ของประชาชนแบบปัจเจกด้วย
“ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องปกป้องคุ้มครองและดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะสื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สำคัญที่จะเพิ่มหรือลดปัญหา การออกกฎหมายใดในนามความมั่นคงปลอดภัย ต้องชี้แจง ในสัดส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น รัฐต้องทำความเข้าใจให้สังคมรับทราบประเด็นดังกล่าวก่อน ต้องสร้างบรรยากาศแวดล้อมในโลกออนไลน์ให้ดีก่อน การพูดคุยจึงจะสร้างสรรค์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสิ่งที่ดีขึ้นได้”