สสส. ชวนชาวคาทอลิก พร้อมใจ ลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ ในเทศกาลมหาพรต
สสส. ชวนชาวคาทอลิก พร้อมใจ ลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ ในเทศกาลมหาพรต พร้อมต่อยอดพัฒนาชุมชนคาทอลิกต้นแบบสุขภาวะ
บิชอปฟิลิป บรรจง ไชยรา ประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี และประธานคาริตัสไทยแลนด์ กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ อาชญากรรม หนี้สิน สัมพันธภาพครอบครัว และผลกระทบต่อสังคม ทำให้นำหลักศาสนามาช่วยรณรงค์ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทางชุมชนชาวคริสต์ ให้ความสำคัญในการลดปัญหาดังกล่าว โดยได้รณรงค์ให้ชาวคริสต์ลด ละ เลิกเหล้า และบุหรี่ ภายใต้การรณรงค์ มหาพรตงดเหล้าบุหรี่ ปี 2020 โดยเริ่มนำร่องใน งานเทศกาลมหาพรตที่ผ่านมา ได้เชิญชวนผู้นำศาสนา บาทหลวง คณะนักบวชชายและหญิง ผู้บริหารและบุคลากรในสถานศึกษาตลอดจนแกนนำกลุ่มองค์กร สำนักงาน และผู้นำคริสตชนฆราวาสในชุมชนวัด ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวในบริบทพื้นที่ รวมทั้งมีส่วนร่วมผนึกพลังเสริมสร้างความเป็นวิถีชุมชนคาทอลิกเข้มแข็ง กลายเป็นเทศกาลประจำทุกปีของชาวคริสต์คาทอลิกในประเทศไทยต่อไป
“เมื่อปี 2560 เครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนา 3 สังฆมณฑล ได้แก่ อัครสังฆมณฑลท่าแร่ สังฆมณฑลอุดรธานีและสังฆมณฑลนครสวรรค์ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “มหาพรตงดเหล้าบุหรี่ วิถีคาทอลิกไทย” ที่นอกจากมุ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละและเลิกดื่มสูบแล้ว ยังตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นครั้งแรกที่จะส่งเสริมให้ “เทศกาลมหาพรตของชาวคริสต์คาทอลิกในประเทศไทย” กลายเป็น “เทศกาลแห่งการลด ละ เลิกเป็นประจำทุกปีต่อไปด้วย ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา มีชาวคาทอลิกที่สมัครใจร่วมลงนามปฏิญาณตน ลด ละ เลิก การดื่มและสูบ ในช่วงเทศกาลมหาพรต ปี 2562 จำนวน 1,538 คน มีผู้ลด ละ ได้จำนวน 1,230 คน และมีผู้เลิกได้จำนวน 73 คน ก่อให้เกิดการขยายผลเพิ่มจำนวนภาคีสังฆมณฑลและความต่อเนื่องในการรณรงค์ตลอดเทศกาลทุกปีต่อมา ” บิชอปฟิลิป บรรจง กล่าว
นางทัศนีย์ ศิลปะบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนึนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ได้ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้าบุหรี่ ในเทศกาลมหาพรตคาทอลิก ปี2563 ได้สานพลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม มีการสร้างกลไกสนับสนุนและส่งเสริมเครือข่ายให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมทั้งมีการเสริมสร้างการพัฒนาต้นแบบชุมชนบูรณาการสุขภาวะ เสริมสร้างศักยภาพบุคคล มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและต่อยอดภูมิปัญญาการทำงานของเครือข่ายให้เกิดนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบสุขภาวะ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต