ข้อถกเถียงทางกม. เสวนา "วิเคราะห์คดี ยุบพรรคอนาคตใหม่" กู้เงินความผิดม.66 โทษไม่ถึงยุบ!
"..คำถามก็ตามอีกว่าทำไมถึงไปสู่การยุบพรรคได้ ซึ่งกลไกที่ใช้ยุบพรรคนั้นก็คือมาตราที่ 72 ใน พ.ร.บ.ฯพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม โทษความผิดตามมาตรา 66 นั้นตามหลักแล้วก็ไม่ได้นำไปสู่ความผิดในมาตรา ที่ 72 ด้วย เพราะถือว่าเป็นคนละฐานความผิดกันโดยสิ้นเชิง..."
"คำวินิจฉัยเรื่องคำตัดสินยุบพรรคนั้นอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ว่า ถ้าไม่มีกฎหมายที่เขียนห้ามไว้แปลว่าทำได้ หรือ ถ้าไม่มีกฎหมายที่เขียนห้ามไว้แปลว่าทำไม่ได้กันแน่ ซึ่งตามหลักกฎหมายพลเมืองนั้นไม่มีกฎหมายห้ามแปลว่าทำได้ แต่ในหลักขององค์กรรัฐนั้นระบุว่าไม่มีกฎหมายกำหนดแปลว่าทำไม่ได้"
"สำหรับองค์ประกอบพรรคการเมืองนั้นไม่มีตรงไหนเขียนว่ากู้เงินได้จึงกู้เงินไม่ได้ ดังนั้นต้องไปดูว่าพรรคการเมืองคืออะไร เป็นองค์กรของประชาชนหรือองค์กรของรัฐกันแน่"
คือ ความเห็นของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “วิเคราะห์คดี ยุบพรรคอนาคตใหม่” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดเสวนาในรูปแบบปิดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า แต่มีการไลฟ์เฟซบุ๊กแทน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเวทีเสวนาประกอบไปด้วย นายณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเจษฎ์ โทณะวณิกอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ผู้จัดการ เว็บไซต์ iLaw
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบมุมมองนักวิชาการด้านกฎหมาย ต่อกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง จากคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงถ้อยคำเนื้อหาการเสวนาครั้งนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"...หากดูตามตัวบทกฎหมายในประเทศอื่นๆ ระบุชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นการรวมตัวกันของประชาชนโดยชัดเจน โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจะมีผู้แทนของพรรคนั้นในรัฐสภา ส่วนในประเทศไทยนั้นก็มีความหมายตรงกันในฐานะความเป็นคณะบุคคลที่มาจดทะเบียนกันเป็นพรรคการเมือง ตามมาตราที่ 45 ของรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ตรงนี้
ทั้งนี้ขอบเขตและสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของพรรคการเมืองจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น และสาเหตุของการยุบพรรคนั้นก็ควรจะมีแค่สาเหตุเดียวก็คือการล้มล้างการปกครอง
แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนั้นมีเหตุตามกฎหมายเอาไว้มากมายที่จะสามารถนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้
สำหรับเรื่องการกู้เงินนั้น ต้องขอย้ำว่าเนื่องจากพรรคการเมืองนั้นเป็นองค์กรของภาคประชาชน ซึ่งถ้าไม่ได้เขียนห้ามว่ากู้เงินนั้นก็สามารถทำได้
โดยลักษณะของพรรคการเมืองนั้นถือว่าเป็นนิติบุคคล ตามข้อกำหนดในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
เรื่องกู้เงินนั้นแม้แต่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็ไม่ได้ห้ามเอาไว้ แต่ตัดสินคลุมเครือว่าเนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่ผิดปกติจึงมองว่าตรงนี้อาจเป็นการบริจาค โดยมีการกล่าวถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่เคยบริจาคเงินไปแล้ว 8 ล้านบาท จึงเป็นการให้บริจาคเงินที่เกินกฎหมายกำหนดเอาไว้ และผิดต่อมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ฯพรรคการเมืองซึ่งมีเจตนาไม่ให้บริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าส่วนตัวแล้วการคิดดอกนั้นเป็นสิทธิของผู้ให้กู้ แต่จะนำเรื่องการคิดดอกนำไปสู่การยุบพรรคนั้นก็อาจจะไปเกินไปหน่อย และอาจจะมีปัญหาค่อนข้างมาก
ทั้งนี้โทษตามมาตรา 66 นั้นแม้จะร้ายแรงแต่ก็เป็นโทษทางอาญา แต่ก็ไม่ได้ไปถึงโทษยุบพรรคแต่อย่างใด ดังนั้นต้องใช้หลักอาญามาตัดสินด้วยว่าผู้ที่กระทำความผิดนั้นให้สันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีหลักฐาน
ดังนั้นตอนนี้คำถามก็ตามอีกว่าทำไมถึงไปสู่การยุบพรรคได้ ซึ่งกลไกที่ใช้ยุบพรรคนั้นก็คือมาตราที่ 72 ใน พ.ร.บ.ฯพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม โทษความผิดตามมาตรา 66 นั้นตามหลักแล้วก็ไม่ได้นำไปสู่ความผิดในมาตรา ที่ 72 ด้วย เพราะถือว่าเป็นคนละฐานความผิดกันโดยสิ้นเชิง
ถ้าหากมีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็ยิ่งเป็นที่น่าสงสัยอีกว่าแล้วทำไมต้องเขียนความผิดกันแยกมาตราด้วย และอีกประเด็นก็คือว่าในมาตราที่ 72 นั้นไประบุว่าด้วยที่มาของทรัพย์สินที่ให้กู้เงินนั้นได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องไปดูอีกว่าเงินกู้ที่นายธนาธรให้พรรคกู้จำนวน 191 ล้านบาทนั้นผิดกฎหมายอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็เป็นคนละเรื่องกันอีกกับมาตราที่ 66 ของ พ.ร.บ.ฯพรรคการเมือง
ดังนั้นถ้าหากไม่พบว่าแหล่งที่มาของเงินที่นายธนาธรให้กู้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่สามารถฐานความผิดนี้ไปสู่การยุบพรรคได้..."
@นายณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"....ในประเด็นเรื่องการกู้เงินนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งข้อสงสัยในเรื่องสัญญาที่มีการแก้ไขจนทำให้ดอกเบี้ยนั้นมีความน่าสงสัยเนื่องจากต่ำกว่าอัตราปกติการค้า ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าผิดมาตราที่ 66
อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้นิยามไว้ว่าอะไรคือความผิดปกติการค้าเอาไว้อีก
ขณะที่ในประเด็นเรื่องการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะเรื่องเงินต่างๆนั้น ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้ไต่สวน ก็เลยไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงและเส้นทางการเงินกู้นั้นแท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
และอีกประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญมองความพิรุธว่าพรรคอนาคตใหม่รีบไปจ่ายเงินนายธนาธรเร็วเกินไป ก็อาจเป็นไปได้ว่าพรรคอนาคตใหม่นั้นไม่ต้องการเสีย ดอกเบี้ยจำนวนมาก ก็เลยรีบชำระเงินกู้ แต่เพราะศาลไม่ได้ไต่สวน เราก็เลยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงส่วนนี้
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดปกติ เพราะสัญญากู้เดิมนั้นยังจ่ายไม่หมด แต่ไปกู้เงินใหม่เป็นเรื่องผิดปกตินั้น ก็อยากจะให้ไปสอบถามคนที่ประกอบธุรกิจก่อนว่ามันถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลก็ไม่ได้ไต่สวนอะไรเลยว่าผิดหรือไม่ผิด แต่กลับตัดสินยุบพรรคเลยซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอีกเช่นกันเพราะไม่ทราบในเจตนาของคู่กรณีในครั้งนี้
ทั้งนี้ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเรื่องการบริจาคมากๆนั้นเป็นการครอบงำพรรคการเมือง ถ้าหากไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และ พ.ร.บ.ฯพรรคการเมือง นั้นระบุชัดเจนว่าเจตนาของกฎหมายมาตราเหล่านี้จะระบุเรื่องการครอบงำเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุมกิจกรรมพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม นายธนาธรนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด แต่เป็นคนที่เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ทีนี้ก็จะมีประเด็นตามมาอีกก็คือการอ้างหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามความผิดจากการไม่ปฏิบัติยึดถือตามหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ก็คือการไล่ออกจากสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายนั้นได้ให้อำนาจไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่แล้ว
คำถามก็คือว่าทำไมกรณีว่าอ้างว่าการบริจาคเงินจำนวนมาก ทำให้สมาชิกพรรคการเมืองมีสิทธิครอบงำพรรคการเมือง ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ทำไมถึงต้องไปยุบพรรคการเมืองทั้งหมด ทำไมไม่ไล่ออกจากพรรค
ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่จะไปกระทบต่อเสียง 6 ล้านเสียงที่ได้เลือกพรรคอนาคตใหม่ด้วย...."
@นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
"...ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเขียนรายละเอียดชัดเจนในเรื่องการครอบงำจากนอกพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เขียนบทบัญญัติที่ระบุถึงเรื่องการครอบงำจากในพรรคการเมืองมาก่อนเลย
แต่ในช่วงที่มีการร่าง พ.ร.บ.ฯพรรคการเมืองปี 2560 นั้นก็มีการพูดถึงเรื่องเงินกู้นั้น ก็มีการหารือเรื่องนี้อย่างมากมาย จนมีการพูดว่าเงินกู้นั้นก็สามารถเอาไปใช้จ่ายได้ ก็เปรียบเสมือนว่าเป็นรายได้ขึ้นมา ซึ่งใน พ.ร.บ.ฯพรรคการเมือง ปี 2550 ในมาตรา 53 อนุ 7 พูดถึงรายได้อื่นๆเอาไว้
คนที่ยกร่าง พ.ร.บ.ฯรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ประสงค์จะให้พรรคการเมืองมีเงินกู้ ดังนั้นในมาตราที่ 62 ก็มีการระบุชัดเจนว่าไม่ให้กู้เงินได้
ดังนั้นถ้าหากพรรคการเมืองนั้นมีกิจกรรมที่เป็นการกู้เงิน และมีกิจกรรมการใช้เงินคืนให้กับผู้กู้นั้นก็เป็นการผิดจากเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วที่ให้พรรคการเมืองกู้เงินได้
ส่วนในประเด็นเรื่องการพิพากษาโดยไปสู่มาตรา 72 นั้น ส่วนตัวก็เห็นด้วยว่าความผิดตามมาตราที่ 66 นั้นไม่น่าจะเป็นเหตุนำไปสู่มาตราที่ 72 เพื่อไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ แต่อย่างไรก็ตามแล้วเมื่อมีการเอาไปพิพากษาในมาตรา 72 นั้น ความผิดตามมาตราที่ 72 ก็จะมีแค่สถานเดียวเท่านั้นก็คือการต้องยุบพรรคการเมือง
มีคนมาถามผม ในทัศนะของผมก็คือท่านมีเงินกู้ไม่ได้ สมมติว่าผมเป็นศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าท่านมีเงินกู้ไม่ได้นะ แล้วท่านยังบอกว่าจะมีจะทำไมหรอ ผมก็ได้อธิบายเอาไว้ในคดีอิลลูมินาติว่าถ้าไม่แก้ข้อบังคับแปลอะไร ผมสมมติว่ามีคนบอกผมว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะเป็นปฎิปักษ์นะ แล้วผมก็บอกว่าผมจะยังเป็นนะ เท่านี้ก็ถือว่าผมเป็นปฏิปักษ์แล้ว
พรรคอนาคตใหม่นั้นมีเงินกู้ไม่ได้ แต่พรรคอนาคตใหม่บอกว่าจะถือเงินกู้ตรงนี้เอาไว้ก็จะเข้าความผิดตามมาตราที่ 72 ได้
แต่ก็มีคนมาถามผมอีกว่าให้พิเคราะห์การวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็บอกเหมือนกันว่ามันน่าจะหยุดที่มาตรา 66
เพราะว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาก็บอกไปแล้วว่า เงินกู้ส่วนบุคคลนั้นเท่ากับ Contribution (การให้) จะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม มันคือการให้ แต่ของเรากับใช้คำว่าการบริจาค...."
@นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ผู้จัดการ เว็บไซต์ iLaw
"...ส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับการที่มาตีความว่าพรรคการเมืองจะเป็นนิติบุคคลมหาชนหรือนิติบุคคลเอกชนกันแน่ แต่คงไม่พูดเรื่องนี้ต่อแล้ว
ส่วนตัวเห็นด้วยที่ความผิดเรื่องการกู้เงินนั้นเป็นมามาตรา 66 ในเรื่องการกู้เงิน ดังนั้นโทษความผิดในกรณีนี้ก็คือการจำคุกนายธนาธร และการปรับเงินพรรคอนาคตใหม่ ถ้าพบว่าผิดจริง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับไปสู่มาตราที่ 72 เรืองการยุบพรรค ทีนี้พอดูเรื่องการยุบพรรคนั้น กกต.จะสามารถยุบพรรคได้ก็คือผิดตามาตราที่ 72 ก็เลยชงเรื่องว่าผิดมาตราที่ 92 แล้วชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ แต่มาตราที่ 66 เกี่ยวกับกรบริจาคเงิน 10 ล้านบาทนั้น อย่างไรก็ตามมันไปสู่มาตราที่ 92 ไม่ได้
มาตรา 72 เขียนว่าห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตรงนี้มันมีคำกริยา 2 คำคือ คำว่ารับ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับมา และคำว่าได้มาโดยมิชอบ
ถ้าหากมาตรา 72 ตั้งใจเอาผิดการรับเงินเกิน 10 ล้านบาท เขาก็ควรจะเขียนว่าห้ามรับเงินโดยรู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วคำว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจะไปขยายคำว่ารับโดยตรง ซึ่งจะผิดมาตรา 72 ได้ก็ต่อเมื่อพรรคได้รับเงินมาจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการขายยาเสพติดเป็นต้น
ย้ำอีกที มาตรา 66 มีโทษของตัวเองอยู่แล้ว คือรับบริจาคเงินเกิน 10 ล้าน ก็มีโทษตามมาตรา 125 มาตรา 72 ก็มีโทษของตัวเองอยู่แล้ว ตามมาตรา 126
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าพอมีความผิดมาตรา 66 ก็โยงไป 125 และโยงไป 72 และโยงไป 126 ก็น่าจะผิดอย่างเห็นได้ชัด
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นตีความมาตรา 72 ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สินอื่นใด จะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุน หรือช่วยเหลือในการกระทำความผิดไปด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นแล้วว่ามาตรา 72 จะใช้เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือ สนับสนุนการกระทำความผิดต่างๆ
แต่มาตรา 72 ก็ไม่ได้ใช้กับกรณีที่พรรคการเมืองจะกระทำความผิดเอง..."
ทั้งหมดนี่ เป็นมุมมอง-ข้อถกเถียงทางกฎหมายของนักวิชาการด้านกฎหมาย ที่มีต่อคดีกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ จากคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้
(อ่านประกอบ: ยุบพรรคอนาคตใหม่! คำวินิจฉัย ศาล รธน.คดีเงินกู้-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บห.10 ปี, เปิดมติศาล รธน. 7:2 ยุบ อนค.คดีกู้เงิน‘ชัช-ทวีเกียรติ’เสียงข้างน้อย)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/