ผู้ตรวจการแผ่นดินลุยเกาะสมุย ระดมหน่วยงานจบปัญหาขยะสะสม
ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่บนเกาะสมุย เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาขยะสะสมบนเกาะสมุย
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายกีรป กฤตธีรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพินิจ ตันติวิญญูพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และคณะ ลงพื้นที่เกาะสมุยร่วมกับนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดตามความคืบหน้าหลังเร่งมาตรการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะสมุยที่สะสมกว่า 3 แสนตัน รับพอใจผลงานหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันแก้ไขทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวแบบยั่งยืน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องชาวสมุยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดินเปิดเผยว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีปัญหาขยะสะสมบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในแต่ละวันมีขยะเกิดใหม่ประมาณ 150 ตัน และมีขยะมูลฝอยเก่าสะสม ประมาณ 3.25 แสนตัน ทำให้ประชาชนที่พักอาศัยและมีสถานที่ทำงานใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นขยะหมักหมมและน้ำเสียจากน้ำชะกากขยะ เกิดอุบัติเหตุจากถนนลื่นในเส้นทางรถขนขยะ อีกทั้งมีปัญหาน้ำเสียซึมปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภคทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและการเกษตรเสียหาย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานในพื้นที่ได้บูรณาการร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมานานกว่า 2 ปี ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝ่ายกองช่างสุขาภิบาล และฝ่ายบริการสาธารณสุขเทศบาลนครเกาะสมุย สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สถานีตำรวจท่องเที่ยว 5 กองบัญชาการทหารบกที่ 45 พื้นที่เกาะสมุย และหมวดทางหลวงเกาะสมุย จนกระทั่งเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายบูรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การบริหารจัดการขยะสะสมบนเกาะสมุยได้เดินหน้าอย่างเป็นระบบมากขึ้น ล่าสุด เทศบาลนครเกาะสมุยได้รับการอนุมัติงบประมาณเป็นเงินจำนวน 153 ล้านบาท สำหรับบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยเก่าตกค้างประมาณสามแสนตัน โดยจะดำเนินการใน 2 ส่วน คือ 1) ขนย้ายขยะตกค้างบางส่วน ประมาณหนึ่งแสนสี่หมื่นตันที่เป็นขยะล้นบ่อฝังกลบและที่กองอยู่ในพื้นที่ที่เช่าจากเอกชนไปกำจัดที่ตำบลเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 20 เดือน 2) ขยะมูลฝอยตกค้างส่วนที่เหลือ ทางเทศบาลนครเกาะสมุยจะฝังกลบในพื้นที่บ่อขยะเดิมและปิดบ่อขยะในลักษณะถาวร นอกจากนี้ เทศบาลนครเกาะสมุยได้นำผ้ายางปิดคลุมกองขยะเก่าทั้งหมด และยังได้ตั้งงบประมาณ สำหรับดำเนินการปิดคลุมบ่อมูลฝอยด้วยแผ่น HDPE หนา 15 มิลลิเมตร พื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร เพื่อใช้กับขยะเก่าซึ่งอยู่ในโรงเรือน เป็นการลดผลกระทบด้านกลิ่น แมลงวันรบกวน และน้ำฝนไหลเข้าชะบ่อมูลฝอย และได้ดำเนิน ซ่อมบำรุงรถขยะให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและต้องฉีดล้างทำความสะอาดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซ่อมแซมระบบบ่อรวมน้ำเสียและระบบสูบน้ำของโรงกำจัดขยะมูลฝอยซึ่งชำรุดอยู่ให้กลับมาใช้การได้ สามารถบำบัดน้ำเสียจากน้ำชะมูลฝอยได้และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปล้างถนนภายในโรงเตาเผามูลต่อด้วย สำหรับขยะเกิดใหม่ ปัจจุบันได้มีภาคเอกชนรับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะ โดยมีการใช้เทคโนโลยีจากประเทศสวีเดนในการอัดขยะเป็นก้อนหุ้มด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ และบรรจุใส่ถุงบิ้กแบ็ค จากนั้นขนย้ายไปกำจัด ณ ตำบลเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวิธีที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและถูกสุขอนามัยของชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดจากน้ำบริเวณกองขยะและระหว่างขนย้ายทีี่อาจไหลและปนเปื้อนสู่ภายนอก ไปจนถึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนแก่ประชาชนที่ขับขี่สัญจรไปมา
"สิ่งสำคัญที่จะทำให้ปัญหาขยะลดลง บริหารจัดการง่ายขึ้นและยั่งยืน คือ การปลูกฝังและรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ทั้งในส่วนของครัวเรือนและสถานประกอบการ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้กระบวนการคัดแยกขยะไปยังโรงกำจัดขยะนั้นสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาขยะสะสมบนเกาะสมุยนี้จะคลี่คลายลงอย่างแน่นอน หากได้รับความร่วมมือจากทุก ๆ คนอย่างจริงจัง ย่อมส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตและสภาพสิ่งแวดล้อมบนเกาะสมุย เป็นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ละเลยปัญหา สร้างความเชื่อมั่นแก่พี่น้องชาวสมุยและนักท่องเที่ยวอีกด้วย" นายบูรณ์ กล่าว