ย้อนกลหมาก‘ชิงปิดสภา’ในตำนานศึกซักฟอก‘ชวน vs ครม.บรรหาร’24 ปีผ่านยังเหมือนเดิม?
“...ทั้งหมดคือรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงปี 2539 ที่เห็นได้ว่า รูปแบบการ ‘ชิงปิดสภา’ ผ่านมา 24 ปี แทบไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ให้นายกรัฐมนตรีพูดปิดท้าย ก่อนฝ่ายรัฐบาลเสนอปิดอภิปราย เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านสรุป (แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือไม่สรุป) ท้ายที่สุดคือลงมติ…”
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จบลงแบบไม่เซอร์ไพรส์มากนัก!
หลังใช้เวลาอภิปราย 4 วัน 3 คืน ตั้งแต่วันที่ 24-27 ก.พ. 2563 (ได้รับการต่อเวลาเพิ่ม 1 วัน) กระทั่งมีการลงมติกันในช่วงเช้าวันที่ 28 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ผลโดยสรุปคือ ผู้ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ไปต่อ แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะคะแนนน้อยสุด และมีงดออกเสียงมากสุดถึง 7 เสียงก็ตาม (อ่านประกอบ : รบ.ฉลุย! '3 ป.-วิษณุ-ดอน'ได้ไว้วางใจไปต่อ-'ธรรมนัส'น้อยสุด 269:55 งดดอกเสียง 7)
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลา 4 วัน 3 คืนที่ผ่านมา มีประเด็นดราม่าอย่างหนักในวันสุดท้ายคือ 27 ก.พ. 2563 เนื่องจากฝ่ายค้านใช้เวลาอภิปรายจนเกลี้ยง ทั้งที่ยังเหลือ ส.ส. อีกอย่างน้อย 5 ราย (พรรคเพื่อไทย 1 คน อดีตพรรคอนาคตใหม่ 4 คน) ยังไม่ได้อภิปราย โดยเฉพาะการอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จนทำให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) วิปฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) ต้องไปหารือกันหลายครั้ง ท้ายที่สุดมติวิปทั้ง 2 ฝ่าย ลงความเห็นตรงกันว่า เวลาหมดแล้ว และฝ่ายค้านต้องสรุปการอภิปราย แต่ฝ่ายค้านไม่ยินยอม ทำการประท้วง ‘วอล์กเอาท์’ และไม่กลับมาสรุปการอภิปรายแต่อย่างใด
ท่ามกลางการสุมไฟกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง โดยแกนนำอดีตพรรคสีส้ม ออกมาแฉว่า พรรคเพื่อไทยอาจ ‘รับงาน’ จากผู้มีอำนาจ เพื่ออภิปรายเกินเวลา จะได้ไม่ต้องซักฟอก ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก’ หรือไม่ ทำให้นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องออกมาแฉกลับว่า การวอล์กเอาท์เป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง และทิ้งบอมพ์ว่า “ไม่เคยระแวงหรือกล่าวหาเพื่อนโดยไม่มีหลักฐานแม้จะมีข่าวว่าเพื่อนแอบไปคุยกับทหารมาก็ตาม”
ข้อเท็จจริง ‘รอยร้าว’ ระหว่างฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในอดีตการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และรัฐมนตรีนั้น เคยเกิดเหตุการณ์อภิปรายไม่ครบทุกคน จนชิงปิดสภามาก่อนหรือไม่ ?
ขอตอบว่า มี อย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 24 ปีที่แล้ว ดังนี้
ในช่วงปี 2538-2539 เป็นการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) และนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย (ขณะนั้น) โดยนายบรรหารยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายชวน กรณีการออกโฉนด ส.ป.ก.4-01 สุดท้ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ต้องลาออก ต่อมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำพรรคพลังธรรม (ขณะนั้น) ตัดสินใจถอนตัวจากรัฐบาล และนายชวนรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ต่อมาผลการเลือกตั้งพรรคชาติไทย ได้รับคะแนนเสียงลำดับหนึ่ง และจัดตั้งรัฐบาล โดยนายบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.มหาดไทย
แต่เพียงไม่นานการบริหารราชการแผ่นดินของนายบรรหาร ถูกประชาชน และสื่อมวลชนขุดคุ้ยเงื่อนปมฉาวต่าง ๆ นานา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9-10 พ.ค. 2539 นายชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตกมาเป็นฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายบรรหาร พ่วงด้วยรัฐมนตรีรวม 10 คน ได้แก่ นายบรรหาร ศิลปอาชา รมว.มหาดไทย นายมนตรี พงษ์พานิช รองนายกรัฐมนตรี นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รมว.คลัง นายสุขวิช รังสิตพล รมว.ศึกษาธิการ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รมว.อุตสาหกรรม นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รมช.คมนาคม นายเนวิน ชิดชอบ รมช.คลัง และนายสุชาติ ตันเจริญ รมช.มหาดไทย
รายชื่อข้างต้น หลายคนลด-เลิกบทบาททางการเมืองไปแล้ว หลายคนยังคงโลดแล่นอยู่ แต่พลิกขั้ว-ย้ายข้างไปตามกลเกมการเมือง ?
ประเด็นสำคัญที่นายชวน และพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำมาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร และคณะรัฐมนตรี คือกรณีคนของ ‘กลุ่ม 16’ (เป็นกลุ่มของการเมืองของ ส.ส.คนรุ่นใหม่ช่วงปี 2535 ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ชาติไทย และชาติพัฒนา ขณะนั้น) มีส่วนพัวพันรู้เห็นกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือชื่อย่อว่า บีบีซี ที่ปล่อยกู้โดยผิดหลักการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ทั้งปล่อยกู้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สร้างมูลค่าหลักปรันสูงเกินกว่าความเป็นจริง มีการทำนิติกรรมอำพราง เป็นต้น จนนำไปสู่การล่มสลายของธนาคารบีบีซีดังกล่าวในปัจจุบัน
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การอภิปรายดังกล่าวรวม 2 วัน ยังเหลือนักการเมือง 3 ราย ที่ยังไม่ถูกอภิปราย ได้แก่ นายบรรหาร นายเนวิน และนายชูชีพ แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น ก็ยังลงมติกันต่อไป ไม่ต่างอะไรกับวันนี้ ?
โดยในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 19 ปีที่ 2 ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) ระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค. 2539 ที่มีนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 1 พรรคชาติไทย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกริช กงเพชร รองประธานสภาฯคนที่ 1 และนายสุธรรม แสงประทุม รองประธานสภาฯคนที่ 2
เค้าลางในการอภิปรายไม่ครบคน เริ่มส่อแววในช่วงท้ายของวันที่ 10 พ.ค. 2539 ระหว่างที่ฝ่ายค้านกำลังอภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษานั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาฯ ระบุว่า ให้รีบสรุป เพราะอภิปรายเกือบชั่วโมงแล้ว คนอื่นรออีกมาก
ต่อมานายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงและหารือว่า โดยปกติธรรมดาในวันนี้มีผู้ที่ต้องการอภิปรายอีก 3 ท่าน เหตุจึงต้องรีบสรุป แต่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาฯ ขณะนั้นให้คำยืนยันว่า ขอให้ รมว.ศึกษาธิการ ตอบข้ออภิปรายก่อน
หลังจากนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา ใช้สิทธิถูกพาดพิง อภิปรายชี้แจงประเด็นต่าง ๆ โดยใช้เวลาระยะหนึ่ง ท่ามกลางผู้ประท้วงจากพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่ง
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงและหารืออีกว่า ขอใคร่ขอคำยืนยันจากประธานว่า หลังจากที่ท่านนายกฯอภิปรายแล้ว ท่านประธานจะให้อภิปรายต่อหรือเปล่า อย่างไรก็ดีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาฯ ให้คำยืนยันอีกว่า ถ้าผมยังนั่งอยู่ตรงนี้ ผมก็มีสิทธิที่จะให้ท่านพูดได้
นายสุพัฒน์ ระบุอีกว่า "ขอคำยืนยันก่อน เวลานี้มีรัฐมนตรี 2 ท่าน ท่านนายกฯ 1 ท่าน ที่ยังไม่ได้อภิปราย โดยเฉพาะท่าน รมว.มหาดไทย (นายบรรหาร) กำลังจะหนีใช่ไหมท่านประธาน"
(พล.อ.ประยุทธ์ (ขวา) พล.อ.ประวิตร (ซ้าย) ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายคน ปี 2563)
ระหว่างนั้นเองที่ประชุมเกิดการประท้วงขึ้นอย่างกว้างขวาง พรรคฝ่ายค้านบางส่วนระบุว่า ยังไม่ได้อภิปรายนายบรรหาร ในฐานะ รมว.มหาดไทย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ยืนยันว่า นายบรรหาร ตอบข้อชี้แจงไปแล้ว
นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงและขอหารือว่า “ยังไม่ได้มีการอภิปราย รมว.มหาดไทย (นายบรรหาร) เลย แล้ว รมว.มหาดไทย ชี้แจงได้อย่างไร แล้วฝ่ายค้านก็ยังไม่ได้สรุป ผมทราบดีว่าเดี๋ยว รมว.มหาดไทย อภิปรายเสร็จ ก็มีการเสนอปิด ท่านหนีการอภิปรายซักฟอกหรือครับ เราถือว่าเป็นการหนีอภิปรายซักฟอก ทั้งไม่มีการอภิปราย รมว.มหาดไทย เลยครับท่าน ยังเหลืออีก 3 ท่าน ท่านประธานตัดสินใจอย่างไร ท่านให้ รมว.มหาดไทย ชี้แจงได้อย่างไร”
อย่างไรก็ดีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาฯ ระบุว่าไม่ทราบประเด็นนี้ และให้นายบรรหารชี้แจงต่อ ท่ามกลางการประท้วงของพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการให้ประธานสภาฯแจ้งความชัดเจน
ประเด็นที่ฝ่ายค้านกังวลกลายมาเป็นความจริง เมื่อนายชัชวาลย์ ชมภูแดง ส.ส.พรรคชาติไทย (ขณะนั้น) ขอหารือประธานสภาฯภายหลังนายบรรหารใช้สิทธิพาดพิงชี้แจงเสร็จสิ้นว่า “กระผมเห็นว่า การอภิปรายรู้สึกจะยุ่งเหยิงมากพอสมควร กระผมขอปิดการอภิปราย ขอผู้รับรองครับ” และมี ส.ส. รับรองถูกต้อง
หลังจากนั้นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาฯ ระบุว่า ท่านผู้ใดเห็นว่าควรเปิด ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สมัยเป็น ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค และรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พาณิชย์) ประท้วง ระบุว่า “ขอชี้แจงทำความเข้าใจ เกรงว่าประชาชนที่ติดตามการอภิปรายจะเกิดความสับสน ขอกราบเรียนกับท่านประธานว่า เมื่อสักครู่ที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านหลายท่านลุกขึ้นประท้วงท่าน รมว.มหาดไทย ก็เพราะว่าเรากลัวว่าท่านจะชิงปิดอภิปรายหลังจากท่าน รมว.มหาดไทย พูดจบทั้งที่เรายังไม่จบ”
แต่นายชัชวาลย์ ประท้วงพร้อมยกข้อบังคับการประชุมขณะนั้น ยืนยันว่า เมื่อมีการเสนอปิดอภิปรายแล้ว จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าหากจะมีการเสนอต้องเสนอให้เปิดหรือปิดเท่านั้น อภิปรายอย่างอื่นไม่ได้
นายจุรินทร์จึงเสนอเปิดอภิปราย โดยให้เหตุผลว่า “ไม่อยากให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายบรรหาร สร้างตราบาปให้กับสภาแห่งนี้ ไม่อยากเห็นวันพรุ่งนี้หนังสือพิมพ์พาดหัวว่า รัฐบาลของนายบรรหาร ตาขาว เป็นรัฐบาลเต่าอยู่ในกระดอง เป็นรัฐบาลหนีการอภิปราย ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าการอภิปรายนั้นเรายังอภิปราย…” แต่นายจุรินทร์ ชี้แจงยังไม่จบ นายวราเทพ รัตนากร ส.ส.กำแพงเพชร พรรคชาติไทย (แกนนำกลุ่ม 16 ขณะนั้น) ประท้วงขอให้ประธานใช้ดุลพินิจลงคะแนนเลย เพราะมีผู้เสนอปิดอภิปราย และเสนอเปิดอภิปราย ส่งผลให้ที่ประชุมทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลประท้วงกันอย่างเผ็ดร้อน ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาฯ ขอพักการประชุม 15 นาที
ต่อมานายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ขึ้นทำหน้าที่ประธานสภา ให้ที่ประชุมได้ลงมติกัน โดยญัตติให้ปิดการอภิปรายมีผู้เห็นชอบ 194 คน ส่วนการเปิดอภิปราย ไม่มีผู้ให้ความเห็นชอบ ทำให้ฝ่ายค้านต้องสรุปการอภิปราย โดยมอบหมายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) เป็นผู้สรุปการอภิปราย โดยมีการเหน็บแนมกรณียังอภิปรายไม่ครบคนด้วย ขณะที่ประธานสภาฯ ขอให้อย่ากระทบมาก ขอให้สรุปในเนื้อประเด็น ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ขอไม่ร่วม ‘สังฆกรรม’ อีก และจะไปแถลงข่าวนอกสภา
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว ในวันที่ 11 พ.ค. 2539 โดยท้ายที่สุดรัฐมนตรีทั้ง 10 คน รวม 3 คนที่ไม่ได้อภิปรายคือ นายบรรหาร นายเนวิน และนายชูชีพ ก็ผ่านการลงมติดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ดีการอภิปรายดังกล่าวพรรคพลังธรรม เป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคเดียวที่งดออกเสียงแก่นายสุชาติ ทำให้ได้รับเสียงความไว้วางใจน้อยสุด ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจคุกรุ่นขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นายสุชาติ และนายเนวิน ต้องลาออก
กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เพียงรายเดียวระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 2539 ที่ร้อนแรง โดยเฉพาะกรณีกล่าวหาสัญชาติของนายบรรหาร ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 3 พรรค ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ต่อรองให้นายบรรหารลาออกใน 3 วันแลกกับการลงมติไว้วางใจ ซึ่งนายบรรหารยินยอมว่าจะลาออกใน 7 วัน
แต่ ‘มังกรการเมือง’ อย่างนายบรรหาร มิใช่จะยอมอ่อนข้อแต่อย่างเดียว โดยนายบรรหารไม่ได้ลาออก แต่ชิงยุบสภา เพื่อดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาล ปิดตำนานนายกรัฐมนตรีแห่งเมืองสุพรรณบุรีไปโดยปริยาย
ทั้งหมดคือรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงปี 2539 ที่เห็นได้ว่า รูปแบบการ ‘ชิงปิดสภา’ ผ่านมา 24 ปี แทบไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ให้นายกรัฐมนตรีพูดปิดท้าย ก่อนฝ่ายรัฐบาลเสนอปิดอภิปราย เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านสรุป (แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือไม่สรุป) ท้ายที่สุดคือลงมติ
ขณะที่คนการเมืองที่ ‘คุ้นหน้าคุ้นตา’ ในช่วงปี 2539 พอมาถึงปี 2563 พลิกขั้วย้ายข้าง-สละจุดยืนไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายชวน และนายบรรหาร จาก https://workpointnews.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/