อยุธยา ร่วมกับ ราชการ เอกชน ชุมชนลงนามความร่วมมือโครงการ Zero Burn
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และชุมชน ลงนามความร่วมมือโครงการ Zero Burn ลดการเผาฟางข้าว แก้ปัญหา PM 2.5 และภาวะโลกร้อน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานราชการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเกษตร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งภาคเอกชน ได้แก่ เอสซีจี สยามคูโบต้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และผู้แทนชุมชน ลงนามความร่วมมือ “โครงการ Zero Burn ลดการเผาฟางข้าว แก้ปัญหา PM 2.5 และภาวะโลกร้อน” ด้วยการรับซื้อเศษฟางข้าวเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์ เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย และสอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยจะเริ่มรับซื้อในช่วงเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะลดการเผาฟางข้าวได้ประมาณ 20,000 ไร่
นายภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “ปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาเศษผลผลิตทางเกษตร เช่น ฟางข้าว กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการเศษผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการสนับสนุนและผลักดันเชิงนโยบายเพื่อลดการเผาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมแนวทางการจัดการผลผลิตทางเกษตร เพื่อบูรณาการการจัดการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ และขยายผลให้เกิดประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง”
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “กรมควบคุมมลพิษมีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากมลพิษ ซึ่งโครงการ Zero Burn ลดการเผาฟางข้าว เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาครัฐและกรมควบคุมมลพิษให้ความสำคัญ และเป็นความหวังที่จะช่วยลดปัญหา PM 2.5 ซึ่งนอกจากจะได้อากาศที่บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นมาแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีควบคู่กับการเติบโตของประเทศ”
นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่าย Business Stakeholder Engagement ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อเราทราบถึงปัญหาของเกษตรกรในการจัดการเศษผลผลิตทางการเกษตร เราจึงเล็งเห็นประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ที่มีในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งสามารถนำฟางข้าวมาแปรรูป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ รวมถึงยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุตามแนวคิด From Waste To Wealth ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกด้วย โดยปัจจุบันเรามี 2 จุดรับซื้อในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ หน้าโรงงานปูนซีเมนต์เขาวงรับซื้อที่ราคา 1,000 บาท/ตัน และ CPAC เหมืองทรายเสนา อำเภอเสนา รับซื้อที่ราคา 800 บาท/ตัน รวมถึงยังมีจุดรับซื้ออีก 12 จุดทั่วประเทศ
นายวีรพงศ์ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโสแทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “สยามคูโบต้าเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ในการสนับสนุนการจำหน่ายเครื่องอัดฟาง คูโบต้าพร้อมจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นกรณีพิเศษให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ การจัดอบรมวิธีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรรอย่างถูกต้องผสานกับองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ เกษตรครบวงจร รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรปลอดการเผาและการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในกระบวนการจัดการฟางและตอซังข้าว ให้แก่กลุ่มเกษตรกร”
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาฟางข้าว อีกทั้งยังช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือใช้และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อให้มีทรัพยากรใช้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)