สปสช.ย้ำ ปชช.สิทธิบัตรทองหากมีอาการสงสัยป่วยโควิด-19 ให้ไป รพ.ตามสิทธิ หรือ รพ.รัฐ
สปสช.ย้ำ ปชช.สิทธิบัตรทองหากมีอาการสงสัยป่วยโควิด-19 ตามเกณฑ์ สธ. ให้ไป รพ.ตามสิทธิ หรือเข้า รพ.รัฐ อาการไม่ตรงเกณฑ์ ไม่ต้องไป รพ.เพื่อขอตรวจ
สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้ารักษา รพ.ตามสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 พร้อมย้ำ หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่อยากทราบว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่ต้องไป รพ.เพื่อขอตรวจ จะเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโดยไม่จำเป็น
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทนั้น หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ให้โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของท่าน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ เพื่อตรวจเชื้อ หากพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเร่งด่วน โดยทางโรงพยาบาลตามสิทธิของท่านจะประสานส่งตัวเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่หวาดกลัว แล้วต้องการไปขอรับการตรวจเชื้อจากโรงพยาบาล โดยที่ไม่มีอาการและประวัติการสัมผัสโรคและไม่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อตัวจริงเข้าไม่ถึงบริการ ในกรณีนี้ สปสช.ขอแนะนำประชาชนให้ทำตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ไปขอตรวจและขอใบรับรองแพทย์เนื่องจาก 1.การไปตรวจหาเชื้อในช่วงที่ไม่มีอาการ โอกาสพบเชื้อน้อยมาก หรือหากตรวจแล้วพบว่าเป็นลบก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ป่วยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปขอตรวจ ในขณะที่ไม่มีอาการ 2.การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และที่สำคัญอาจนำเชื้อต่าง ๆ ไปติดผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีร่างกายไม่แข็งแรงได้ 3.เมื่อมีอาการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ
โดยสรุปการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท คือ
1. หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน กรณีไปต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่สงสัยเองว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เอง โดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ต้องจ่ายเงินเอง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจเอง แม้จะจ่ายเงินเอง แต่การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และเพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น
“กรณีที่ขณะนี้มีประชาชนไปขอตรวจเพื่ออยากทราบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สถาบันบำราศนราดูร นั้น ขอยืนยันและย้ำว่าไม่ต้องไป หากมีอาการตามเกณฑ์ ให้ไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่ หรือหากไปต่างจังหวัดก็เข้ารักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ กรณีของสถาบันบำราศนครดูรนั้น การตรวจที่นี่เป็นการตรวจสำหรับผู้มีอาการเพื่อตรวจยืนยันเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจคัดกรอง ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า อาการไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องไปขอตรวจ” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการตรวจและรักษานั้น ขณะนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเตรียมงบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้แก่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ สปสช.เตรียมการของบกลางเพื่อเติมให้กับหน่วยบริการในระบบ เป็นงบพิเศษกรณีโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นโรคใหม่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้
หมายเหตุ ทั้งนี้ผู้ที่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)นั้น ต้องมีอาการดังนี้
1.ผู้ป่วยที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) และมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มมีอาการ
ก.มีการเดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรือ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ
ข.เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ
ค.มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และเป็นบุคลากรทางการแพทย์
4.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้