แกะคำพูด 'วิษณุ' บุพเพสันนิวาสแก้สัญญาเช่าศูนย์สิริกิติ์ฯ ถ้าเอื้อปย.เริ่มตั้งแต่ รบ.ไหน?
"...ในเอกสารเสนอเรื่องการอนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการระบุข้อมูล ครม. เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2532 ซึ่งเป็นยุคการบริหารงานของ รัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีการอนุมัติให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2534 โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซีแมนเนจเม้นท์ ฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ลงนามในสัญญา กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ..."
กรณีการดำเนินการแก้ไขสัญญาของ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเมนท์ แอนด์ เดเวลลอปเมนท์ จำกัด ในฐานะคู่สัญญากับที่ราชพัสดุ ในการเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการเอื้อประโยชน์เกิดขึ้นจริงหรือไม่? และเกิดขึ้นในยุครัฐบาลไหนกันแน่?
ดูเหมือนจะยังเป็นคำถามสำคัญที่ค้างคาใจของคนในสังคม
ภายหลังจากที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงหัวค่ำวันที่ 24 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา พร้อมเปรียบเปรยว่า เรื่องนี้ถ้าย้อนหลัง เหมือนดูบุพเพสันนิวาสภาค 1 ที่จริงเรื่องนี้ไปถึงภาค 2 ทุกอย่างที่ผู้อภิปรายกล่าวเคยมี เคยเป็นอยู่จริง และเปลี่ยนแปลงไปหมด
ก่อนจะทิ้งปริศนาสำคัญไว้ว่า "ส่วนประเด็นจะเอื้อหรือไม่เอื้อ เป็นความเห็น ผมไม่คัดค้าน แต่ต้องดูว่าเอื้อตั้งแต่รัฐบาลไหน จริง ๆ ที่ผ่านมาเอื้อไม่สำเร็จหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือทั้งหมดนี้ข้อเท็จจริงล่าสุดมันพัฒนามาอย่างไร จนกว่าจะมากลายเป็นการลงนามในสัญญาในปัจจุบัน" (อ่านประกอบ : ย้อนตรวจบริษัท'เสี่ยเจริญ' คู่สัญญาเช่าศูนย์ฯสิริกิติ์ 50 ปี-บ.ลับ เกาะเวอร์จิน โผล่!, คำต่อคำ!‘วิษณุ’เล่าที่มาแก้สัญญาเช่าศูนย์สิริกิติ์ฯ-ถ้าเอื้อ ปย.เริ่มตั้งแต่ รบ.ไหน?)
เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พบว่า มีการระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับที่มาที่ไปโครงการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในช่วงการบริหารงานของแต่ละรัฐบาล ไว้ดังนี้
@ ยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ในเอกสารเสนอเรื่องการอนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการระบุข้อมูล ครม. เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2532 ซึ่งเป็นยุคการบริหารงานของ รัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีการอนุมัติให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2534
โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซีแมนเนจเม้นท์ ฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ลงนามในสัญญา กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ รวม 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มีระยะเวลา 4 เดือน (2 ส.ค.2534 - 30 พ.ย.2534) ในช่วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ โดยมีเงื่อนไขว่าหากจัดการประชุมได้โดยสมบูรณ์เรียบร้อยและคณะกรรมการประเมินผล มีมติเห็นสมควรให้เป็นผู้บริหารศูนย์การประชุมฯ ต่อไป ก็จะได้รับสิทธิในการบริหารศูนย์การประชุมฯ ต่อไปอีก มีกำหนดเวลา 5 ปี
ระยะที่ 2 มีระยะเวลา 5 ปี (1 ธ.ค.2534 - 30 พ.ย.2539) โดยมีเงื่อนไขให้ บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ ต้องเสนอแผนการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อจะได้รับสิทธิการบริหารศูนย์การประชุมฯ ในระยะที่ 3 มีกำหนดเวลา 25 ปี
ระยะที่ 3 มีระยะเวลา 29 ปี แบ่งเป็น
ช่วงที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2539 ถึงวันที่ก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ตามเงื่อนไขสัญญาฯ ข้อ 10 แล้วเสร็จหรือถือว่าวันสิ้นกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างดังกล่าวเป็นวันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ออบแบบ 1 ปี ก่อสร้าง 3ปี)
ช่วงที่ 2 มีระยะเวลา 25 ปี นับแต่วันถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ตามเงื่อนไขสัญญาฯ ข้อ 10 แล้วเสร็จ หรือวันที่ถือเป็นวันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดี ในเอกสารครม. มิได้มีการระบุถึงรายละเอียดเหตุผลความจำเป็นในการเลือก บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เข้ามาเป็น ผู้บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่อย่างใด
@ ยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย
ต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2538 รับทราบตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาระยะที่ 3 แล้ว โดยเงื่อนไขสัญญาระยะเวลาที่ 3 ข้อ และข้อ 10 กำหนดให้บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ ต้องก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ประกอบด้วย โรงแรมมาตรฐานระดับ 4-5 ดาว จำนวนห้องพักไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง สถานที่จอดรถยนต์ ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และพื้นที่ซึ่งใช้เพื่อการพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 28,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2,732 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทน 25 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 3,130 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต 11,400 ล้านบาท
ขณะที่การบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอนของพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ) โดยมีคณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ติดตามกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญา และในปี 2557 ได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 ซึ่งยกเลิก พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ติดตามกำกับดูแลโครงการให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญา
อย่างไรก็ดี ในระหว่างสัญญาปรากฎว่า บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถก้อสร้างอาคารและสิ่งปลูฏสร้างตามเงื่อนไขของสัญญาข้างต้น เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่กำหนดการใช้ประโญชน์ที่ดินบริเวณศูนย์การประชุมฯ เป็นสีน้ำเงิน ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ออกตามความในพ.ร.บ.บัญญัติผังเมือง พ.ศ.2518 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2542 และกำหนดให้บริเวณศูนย์การประชุมฯ เป็นพื้นที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร (ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 เม.ย.2546 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 ก.ย.2557)
ต่อมาบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้เสนอขอยกเลิกการก่อสร้างและขอแก้ไขสัญญาโดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์การประชุมเดิมให้มีพื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และระยะเวลาการเช่า 50 ปี
@ ยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ชวน 2)
จากนั้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2543 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีมติให้กรมธนารักษ์ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการในนโยบายเป็น 2 แนวทาง โดยให้ดำเนินการบอกเลิกสัญญา พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย หรือการแก้ไขสัญญาโดยยกเลิกการก่อสร้างโรงแรมและเสนอโครงการใหม่ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่าโครงการเดิม
กระทรวงการคลัง เห็นว่าการบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายหรือ การแก้ไขสัญญาโดยยกเลิกการก่อสร้างโรงแรมและเสนอโครงการใหม่นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัย จึงได้หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นที่จะยกเลิกหรือแก้ไขสัญญา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นว่า การที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เสนอขอยกเลิกการก่อสร้างโรงแรมและปรับเปลี่ยนป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่จอดรถยนต์ พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และปรับปรุงขยายศูนย์การประชุมฯ ในมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่ามูลค่าโครงการตามสัญญาการบริหารเดิม (มูลค่า 2,732 ล้านบาท ) แทนนั้น เป็นการขอแก้ไขสัญญาเดิมซึ่งบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ในฐานะคู่สัญญาสามารถที่จะเสนอขอแก้ไขสัญญาได้
โดยกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้พิจารณาต่อไปว่ามีการกระทำใดที่เป็นการผิดสัญญา และสมควรบอกเลิกสัญญาด้วยหรือไม่ และถ้าหากปรากฎว่ามีการกระทำดังกล่าว กระทรวงการคลัง ก็อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้
แต่ถ้าหากกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอขอแก้ไขสัญญาดังกล่าวทางราชการจะได้รับประโยชน์และไม่เป็นการเสียประโยชน์ และได้ผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าหรือดีกว่าข้อกำหนดในสัญญาเดิม
กระทรวงการคลัง ก็อาจพิจารณาให้มีการแก้ไขสัญญาได้ต่อไป และการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2535 เพราะมิใช่การให้เอกชนรายใหม่ร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และเมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2535 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหม่หรือโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วตามนัยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
เบื้องต้น เพื่อไม่ให้การบริการและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมฯ ขาดช่วงอันส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ กระทรวงการคลังจึงได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ บริหารอาคารศูนย์การประชุมฯ ไปก่อนจนกว่าการก่อสร้างอาคารในส่วนขยายจะแล้วเสร็จ โดยกำหนตผลตอบแทนร้อยละ 10 ของรายได้รวม แต่ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท (ปรับปรุงร้อยละ 15 ทุก 5 ปี) และส่วนแบ่งร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นอัตราที่เรียกเก็บจนถึงปัจจุบัน
@ ยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช
ต่อมาวันที่ 20 ส.ค.2551 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้พิจารณาแนวทางตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้นแล้ว มีมติว่า การที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้
จึงถือว่าบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้กรมธนารักษ์สามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้
กรมธนารักษ์ จึงได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นชอบแนวทางให้แก้ไขสัญญา
โดยมีเงื่อนไขให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ศึกษาและออกแบบโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแนวทางให้แก้ไขสัญญาตามที่กรมธนารักษ์เสนอ
ต่อมา บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้เสนอขอแก้ไขสัญญาโดยขอปรับปรุงดัดแปลงอาคารเดิมให้มีพื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และระยะเวลาการเช่า 50 ปี
ซึ่งกรมธนารักษ์ได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สถาบันวิจัยฯ ธรรมศาสตร์) เพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรจะได้รับ โดยสถาบันวิจัยฯ ธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์มูลค่าเช่าตลาด (Market Rent) ของทรัพย์สินนี้ ระยะเวลา 50 ปี มูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 5,083 ล้านบาท โดยได้เปรียบเทียบผลตอบแทนสำหรับระยะเวลา 25 ปี ที่มีมูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 3,844 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนตามสัญญาเดิมสำหรับระยะเวลา 25 ปี เช่นเดียวกันที่มีมูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 3,130 ล้านบาท จึงแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับสำหรับการประเมินมูลค่าผลตอบแทน 50 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) เท่ากับ 5,083 ล้านบาท ไม่น้อยกว่าสัญญาเดิม
@ ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ต่อมา คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2556 และวันที่ 30 มกราคม 2557 เห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ แก้ไขสัญญา โดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่ศูนย์ประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่าซึ่งรวมถึงเวลาเตรียมการ รื้อถอน และก่อสร้าง 8 ปี รวมเป็น 58 ปี ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 5,100.55 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต 18,998.60 ล้านบาท โดยระยะเวลาการเช่า 50 ปี ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุและครม.ก่อน ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีระยะเวลาการเช่า 50 ปี ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ ซึ่งระยะเวลาการเช่าดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนด้วย
กรมธนารักษ์ ได้ส่งร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิมให้สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาตามนัยมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปื 2556 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งชะลอการตรวจพิจารณาร่างสัญญา เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแตกต่างจากสัญญาเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ควรได้มีการพิจารณาให้เป็นที่ยุติเสียก่อนว่าเป็นกรณีตามโครงการเดิมที่สามารถกระทำได้โดยการแก้ไขสัญญา หรือเป็นโครงการใหม่ที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2556 โดยให้หารือคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เมื่อได้ข้อยุติจึงจะพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าว
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามกรอบของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2556 ได้ตอบข้อหารือของกรมธนารักษ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเป็นผู้พิจารณาว่า กรณีที่หารือเป็นกรณีตามโครงการเดิมที่สามารถกระทำได้โดยการแก้ไขสัญญาหรือเป็นโครงการที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
ซึ่งในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กรมธนารักษ์จะต้องคำนึงถึงหลักการการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 รวมถึงจะต้องพิจารณาเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของโครงการว่าอยู่ภายในขอบเขตของโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสัญญาหรือไม่ และในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2559 และวันที่ 5 ก.ย.2559 กรมธนารักษ์ ได้ชี้แจงคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า การแก้ไขสัญญาตามที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เสนอถือเป็นโครงการเดิมโดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
- การขอแก้ไขสัญญาดังกล่าวยังคงวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์เดิมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2532 เพื่อให้เป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติที่มีความสมบูรณ์แบบที่จะสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจ MICE (Meeting, incentives, Conventions and Exhibitions)
- สัญญาระยะที่ 3 ไม่สามารถนับระยะเวลาเริ่มตัน ช่วงที่ 2 ของสัญญาได้ เนื่องจากยังไม่สามารถกำหนดระยะวลาสิ้นสุดของสัญญา ช่วงที่ 1 ได้ ซึ่งมีผลมาจากการที่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามเงื่อนไขได้ด้วยเหตุพ้นวิสัย
- การปรับปรุงดัดแปลงศูนย์การประชุมฯ ตามที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เสนอ สามารถดำเนินการได้ตามความเห็นของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเห็นว่าการรื้อถอนและการก่อสร้างอาคารส่วนใหม่บนโครงสร้างหรือฐานรากเดิมถือเป็นการดัดแปลง
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 เพราะมิใช่การให้เอกชนรายใหม่ร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2535 และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหม่หรือโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว
- ประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ข้อ 3 กำหนดว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หมายถึง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงลักษณะของโครงการ ผลประโยชน์ของรัฐ และระยะเวลาของสัญญา กรณีการขอแก้ไขสัญญา จึงสามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามประกาศดังกล่าว
โดยสรุปกรมธนารักษ์ เห็นว่าโครงการการขยายศูนย์การประชุมฯ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากที่ คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2556 และวันที่ 30 มกราคม 2557 เห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ แก้ไขสัญญา โดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่ศูนย์ประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่าซึ่งรวมถึงเวลาเตรียมการ รื้อถอน และก่อสร้าง 8 ปี รวมเป็น 58 ปี ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 5,100.55 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต 18,998.60 ล้านบาท โดยระยะเวลาการเช่า 50 ปี ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุและคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีระยะเวลาการเช่า 50 ปี ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ ซึ่งระยะเวลาการเช่าดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนด้วย
เนื่องจากเป็น โครงการเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และทางราชการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและไม่น้อยกว่าเดิม อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในการสร้างความเชื่อมโยงธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศตลอดจนพัฒนาธุรกิจ MICE (Meeting, Incentives, Conventions and Exhibitions)
@ ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 รับทราบตามที่กรมธนารักษ์เสนอ และเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาตามที่เสนอเป็นการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ข้อ 3 เรื่องลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้พิจารณาข้อเสนอของบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ และ มีมติเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 ให้จ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์ด้านการเงินเพื่อยืนยันข้อมูลตัวเลขต่างๆ และระยะเวลาการเช่าที่เหมาะสมกับการลงทุน พร้อมทั้งทำการศึกษาความอ่อนไหวของโครงการ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้จ้างบริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินเพื่อศึกษารูปแบบและอัตราผลตอบแทนการลงทุนโครงการตามที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ
คณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2559 ให้บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯได้รับสิทธิ์ในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในสัญญา ระยะที่ 3 เป็นเวลา 50 ปี โดยรวมระะเวลาเตรียมการ รื้อถอน และก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาการเช่าตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 โดยมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่า ปัจจุบัน 5,100.55 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต 18,998.60 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเดิม รวมทั้งเห็นชอบกรอบแนวทางการแก้ไขสัญญา โดยให้กรมธนารักษ์ปรับปรุงสาระสำคัญให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาๆ ต่อไป
เบื้องต้น กรมธนารักษ์ได้ส่งร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และได้รับแจ้งว่าได้พิจารณาตรวจร่างสัญญาสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อสังเกต 10 ข้อ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ และสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับทราบความเห็นของกรมธนารักษ์และมติของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ตามข้อสังเกตทั้ง 10 ข้อ แล้ว โดยไม่ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด
จากนั้น กรมธนารักษ์ ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้เสนอความเห็นของคณะกรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขสัญญา พร้อมทั้งร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาแล้ว ไปยังรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อครม. ตามนัยมาตรา 47 แห่งพ.รร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
ระบุสาระสำคัญดังนี้
1. บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ขอแก้ไขสัญญาจากเดิมก่อสร้างอาคารส่วนขยายเป็นโรงแรมระดับ 4-5 ดาว จำนวนห้องพักไม่ต่ำกว่า 40 ห้อง สถานที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 28,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2,732 ล้านบาท และระยะเวลาการเช่า 29 ปี เป็นการปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้พื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่า 50 ปี เนื่องจากบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถก่อสร้างอาคารตามงื่อนไขดังกล่าวได้ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย
2. กรมธนารักษ์ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการเป็น 2 แนวทาง คือ การยกเลิกสัญญาและการแก้ไขสัญญา ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายของภาครัฐซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามสัญญได้ และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้กรมธนารักษ์สามารถบอกเลิกสัญญาได้ อีกทั้งกรมธนารักษ์และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ยังมีข้อผูกพันต่อกันตามสัญญาเดิม ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญา โดยมีเงื่อนไขว่าทางราชการจะต้องได้รับประโยชน์และผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าหรือดีกว่าข้อกำหนดในสัญญาเดิม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
3. กรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(สถาบันวิจัยฯ ธรรมศาสตร์) เพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรจะได้รับ ซึ่งสถาบันวิจัยฯ ธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์มูลค่าเช่าตลาด (Maket Rent) ของทรัพย์สินนี้ ระยะเวลา 50 มูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 5,083 ล้านบาท โดยได้เปรียบเทียบผลตอนแทนสำหรับระยะเวลา 25 ปี ที่มีมูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 3,844 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนตามสัญญาเติมสำหรับระะเวลา 25 ปี เช่นเดียวกันที่มีมูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 3,130 ล้านบาท จึงแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับสำหรับการประเมินมูลค่าผลตอบแทน 50 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน เท่ากับ 5,083 ล้านบาท ไม่น้อยกว่าสัญญาเดิม
ขณะที่ บริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ทางการเงินของโครงการฯ เห็นว่า ผลตอบแทนสำหรับระยะวลาเช่า 50 ปี มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 5,100.55 ล้านบาท (มูลค่าในอนาคต 18,998.60 ล้านบาท) มีความเหมาะสมและโครงการฯ มีความเป็นไปได้ในการลงทุน
4. คณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 44 (5) และมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 เห็นชอบให้แก้ไขสัญญา โดยให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้รับสิทธิ์ในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในสัญญาระยะที่ 3 เป็นระยะเวลา 50 ปี โดยมีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 5,100.55 ล้านบาท (มูลค่าในอนาคต 18,998.60 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาเรียบร้อยแล้ว
จากนั้น ครม. เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ได้มีการอนุมัติให้แก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังกล่าวเป็นทางการ
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลที่มาที่ไปของกรณีการดำเนินการอนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีจุดเริ่มต้น มาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนที่จะมาสิ้นสุดลงในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน
บทบาทหน้าที่ในแต่ละยุครัฐบาล เป็นอย่างไร มีลักษณะเข้าข่ายเอื้อหรือไม่เอื้อ เอื้อไม่สำเร็จหรือไม่อย่างไร ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุไว้หรือไม่
ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ความจริงกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/