สปสช.รณรงค์กลุ่มเด็กและเยาวชน สร้างการรับรู้ “สิทธิบัตรทอง”
สปสช.จัดกิจกรรม “รณรงค์สร้างการรับรู้ช่องทางสื่อสารสิทธิบัตรทองในกลุ่มเด็กและเยาวชน” กุญแจสู่การคุ้มครองเข้าถึงบริการสาธารณสุข สิทธิพื้นฐานคนไทย ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อป เดินรณรงค์ร่วมเป็นกระบอกเสียงสื่อสารคนในชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างในสังคม พร้อมร่วมรณรงค์ป้องกันโควิค-19 ชวนคนรอบข้างสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในชุมชน รถโดยสารสาธารณะ เน้นอย่าตระหนก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ช่องทางการสื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชน จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นายธีระพันธ์ ลิมป์พูน ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารสังคม สปสช. เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จำนวน 124 คน เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การรณรงค์สร้างการรับรู้ช่องทางการสื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกิจกรรมที่ สปสช.ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเด็กและเยาวชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เป็นสิทธิด้านสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน ครอบคลุมประชากรกว่า 48 ล้านคน รวมถึงเด็กและเยาวชนที่แม้ว่าจะมีเด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งใช้สิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการของพ่อและแม่ที่เป็นข้าราชการก็ตาม แต่เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ต้องโอนย้ายมายังสิทธิบัตรทอง การมีความรู้และเข้าใจต่อช่องทางการสื่อสารในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้ว่าระบบบัตรทองจะดำเนินมาถึง 17 ปีแล้ว แต่จากเวทีรับฟังความเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช.จัดต่อเนื่องทุกปี พบว่ายังมีคนไทยไม่น้อยที่ไม่เข้าใจและไม่รู้วิธีการเข้าถึงสิทธิ โดยเฉพาะช่องทางการสื่อสารที่เป็นกุญแจประตูสำคัญสู่การคุ้มครองสิทธิบัตรทองเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขใน 4 มิติ คือ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับตนเอง แต่ยังเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงช่องทางการสื่อสารของสิทธิบัตรทองไปยังคนรอบข้างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ การตรวจสอบสิทธิ การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ การย้ายหน่วยบริการ และสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เป็นต้น
“ผมรู้สึกยินดีที่เห็นเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ต่างตื่นตัวในเรื่องสิทธิที่เป็นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่นอกจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักมนุษยชนและรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในสังคมได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาโรคค่าใช้จ่ายสูง ไม่ต้องประสบภาวะล้มละลาย ดังนั้นเชื่อมั่นว่าทุกคนจะช่วยสื่อสารช่องทางการเข้าถึงสิทธิบัตรทองได้ อาทิ สายด่วน สปสช. 1330 แอปพลิเคชัน สปสช. และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50 (5) เป็นต้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ในครั้งนี้ยังได้ให้เด็กและเยาวชนร่วมรณรงค์ป้องกันการระบาดของไวรัสโควิค-19 โดยการล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อขึ้นรถโดยสารสาธารณะ ใช้หลัก “ทานร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยอยูในสถานที่แออัด
ด้าน นายธีระพันธ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้ สปสช.ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเป็นหนึ่งใน 4 กิจกรรม ภายใต้ “โครงการการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์หลักประกันสุขภาพเด็กและเยาวชน” เพื่อขยายการรับรู้สิทธิบัตรทอง ประกอบด้วย 1.กิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ช่องทางการสื่อสารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชน 2.จัดอบรมแกนนำพลเมืองใหม่หลักประกันสุขภาพ Senior UHC Young 3.กิจกรรมสร้างพลเมืองใหม่หลักประกันสุขภาพ UC Young camp และ 4.การให้ความรู้เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในพื้นที่ สปสช. ทั้ง 13 เขต
ส่วนกิจกรรมในวันนี้ นอกจากการให้ความรู้ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ ได้จัดเวิร์คช็อปเพิ่มทักษะการเรียนรู้ ด้านการสื่อสารช่องทางการสื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพ มีการเดินรณรงค์สร้างการรับรู้ช่องทางสื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพ บริเวณตลาดปากเกร็ด ซอยวัดกู้ และเทสโก้โลตัสตลาดปากเกร็ด และการรณรงค์ช่องทางการสื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้กับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรีโดยผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ Line Facebook และเสียงตามสาย เป็นต้น