สธ.เผยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 8 จว.ใต้ รักษาฟรีทุก รพ.ไม่เลือกต้นสังกัด
ก.สาธารณสุข แจงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถูกน้ำท่วม 76 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เปิดบริการผู้เดือดร้อนได้ ผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ประสบภัย 8 จังหวัด เข้ารับบริการฟรีได้ที่สถานบริการทุกแห่ง เตือนเฝ้าระวังไข้หวัด ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สัตว์มีพิษ ระวังแผลติดเชื้อ
วันที่ 31 มี.ค. 54 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรี ธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พังงา ชุมพร และสงขลา ที่จังหวัดตรังฝนเริ่มหยุดแล้ว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย คือที่นครศรีธรรมราช 11 ราย สุราษฎร์ธานี 4 ราย กระบี่ 4 ราย และพัทลุง 1 ราย
สถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วม 77 แห่ง เป็นโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่งคือที่ รพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่เหลืออีก 76 แห่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่วนใหญ่น้ำท่วมชั้นล่าง ยังเปิดให้บริการได้ ยกเว้น 3 แห่งต้องปิดให้บริการ คือที่ รพ.สต.พ้อแดง อ.หลังสวน จ.ชุมพร น้ำท่วมสูง 2 เมตร และอ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี คือที่รพ.สต.ไทรทอง น้ำท่วมหลังคา รพ.สต.สองแพรก น้ำท่วมถึงชั้น 2
สำหรับที่ รพ.ท่าศาลาซึ่งน้ำลดแล้วเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา แต่น้ำท่วมรอบที่ 2 อีกวานนี้ โดยท่วมที่ตึกผู้ป่วยนอกและเครื่องปั่นไฟ ขณะนี้กำลังกู้เครื่องปั่นไฟ ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ใช้วิธีบริการที่ รพ.สต.ใกล้เคียง 3 แห่ง คือที่ รพ.สต.บ้านโรงเหล็ก อ.นบพิตำ รพ.สต.บ้านดอนไคร ต.กราย และ รพ.สต.ต้นเลียบ อ.ท่าศาลา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 26-30 มี.ค. 54 ทั้งหมด 87 ครั้ง มีผู้รับบริการ 7,237 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดเมื่อย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาช่วยเหลือน้ำท่วมไปแล้ว 1 แสนชุด ส่งไป จ.นครศรีธรรมราช 30,000 ชุด สุราษฎร์ธานี 30,000 ชุด ตรัง 10,000 ชุด ชุมพร 10,000 ชุด และกระบี่ 20,000 ชุด ขณะนี้ยังผลิตสำรองไว้อีก 150,000 ชุด โดยเช้าวันนี้จะปล่อยคาราวานยา พร้อมสิ่งของช่วยเหลืออื่นๆไปให้ จ.นครศรีธรรมราช 10,000 ชุด และกระบี่ 20,000 ชุด
สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุใดๆก็ตาม ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม 8 จังหวัดภาคใต้ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมด สามารถใช้บริการได้ทุกโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ 8 จังหวัด ไม่จำเป็นต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลต้นทาง
รมว.สธ. กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่ รพ.เขาพนม จ.กระบี่ หลังจากเกิดอุบัติภัยโคลนถล่มวานนี้ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เป็นชาย 1 ราย หญิง 3 ราย และมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 44 ราย เป็นชาย 14 ราย หญิง 15 ราย เด็ก 12 ราย ขณะนี้ยังนอนรักษาที่ รพ.เขาพนม 17 ราย ส่งรักษาต่อที่ รพ.กระบี่ 2 ราย สำหรับปัญหาบุคลากร รพ.เขาพนมที่ไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้แก้ไขปัญหาแล้ว โดยทีม รพ.วชิระภูเก็ตได้ส่งรถและอุปกรณ์การแพทย์ช่วยล่วงหน้าตั้งแต่วานนี้ และส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วรวม 8 คน พร้อมสั่งการให้แพทย์จาก รพ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 2 คน ออกไปช่วยที่รพ.เขาพนมด้วย คาดว่าจะเพียงพอในการดูแลสถานการณ์ที่ อ.เขาพนม
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงน้ำท่วม คือ ไข้หวัด ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง การบาดเจ็บ รวมทั้งสัตว์มีพิษกัดต่อย ขอแนะนำว่าผู้ที่มีบาดแผลแม้จะเล็กน้อยแค่รอยถลอก ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อทำให้แผลอักเสบได้ .